ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บ.การบินไทยฯ แล้ว พร้อมอนุญาตให้ บ.อีวายฯ ร่วมกับผู้จัดทำแผนที่การบินไทยเสนอเป็นผู้ดำเนินการ ชี้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่-มีเหตุสมควรยื่นฟื้นฟูกิจการ ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดพิสูจน์ความไม่สุจริต รายชื่อผู้จัดทำแผนน่าเชื่อถือ-ขั้นตอนต่อไปรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร้องขอ และมีกลุ่มเจ้าหนี้รวม 16 ราย เป็นผู้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูดังกล่าว
โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และอนุญาตให้แต่งตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำเสนอ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 16 ถอนคำคัดค้าน
@ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่-มีเหตุสมควรยื่นฟื้นฟูกิจการ
สาระสำคัญในคำพิพากษาดังกล่าว ศาลพิเคราะห์คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คำคัดค้าน และพยานหลักฐานในสำนวนคดีแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 และวันที่ 30 มิ.ย.2563 ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งงบแสดงฐานะทางการเงินได้ตรวจสอบและสอบทานตามมาตรฐานการบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว
ประกอบกับสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินของลูกหนี้บางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สามารถยึด หรือบังคับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ เป็นเพียงการบันทึกตามมาตรฐานทางบัญชีเท่านั้น นอกจากนี้ ปัจจุบนลูกหนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระ โดยลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ ซึ่งในเรื่องนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่น ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ โดยเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอน ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
ศาลวินิจฉัยถึงประเด็นว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเหตุสมควรต้องยื่นฟื้นฟูกิจการหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา มิใช่เกิดจากปัจจัยทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายประการ เช่น ธุรกิจสายการบินที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรุนแรง การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการบิน การเปิดน่านฟ้าเสรี และกรณีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจสายการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบ รวมถึงบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรง หากไม่ได้ฟื้นฟูกิจการจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม
ส่วนช่องทางการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อ โดยพักหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
อีกทั้งลูกหนี้ยังมีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและไม่ประสงค์คัดคานคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าและให้เช่าซื้อเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลกหนี้ ทำให้ขอกล่าวอ้างของลกหนี้มีน้ำหนัก
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับแผนการบริหารจัดการภายในองค์กร มีการปรับลดสาขาในต่างประเทศ ปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานใหม่ให้เหมาะสม จัดทำแผนธุรกิจสอดคล้องกับธุรกิจการบินทั่วโลก และมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าจะทำกำไรให้บริษัทได้ดีกว่าเดิม ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเหตุสมควรขอยื่นฟื้นฟูกิจการ
@ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดพิสูจน์ความไม่สุจริต
ศาลวินิจฉัยถึงประเด็นการยื่นคำขอฟื้นฟูเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ โดยศาลเห็นว่า ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ถึงพฤติการณ์การไม่สุจริตในการยื่นฟื้นฟูกิจการดังกล่าว และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และมีการจัดทำแผนฟื้นฟู ดังนั้นข้ออ้างว่าการขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริตฟังไม่ขึ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติครบถ้วนในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90 (3), (10)
@ชี้รายชื่อผู้จัดทำแผนน่าเชื่อถือ-ขั้นตอนต่อไปรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนประเด็นบริษัท อีวายฯ และรายชื่อผู้จัดทำแผนตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท อีวายฯ มีความเชี่ยวชาญ และมีคุณสมบัติในการดำเนินการ เพราะเคยเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีชื่อเสียงยอมรับทั่วโลก ส่วนรายชื่อผู้จัดทำแผนที่เหลือนั้น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การบริหาร มีเกียรติประวัติน่าเชื่อถือ เข้าใจสภาพปัญหา และสามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศาลจึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ,นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ,นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่งตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ก่อนหน้านี้ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอ และเจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้านไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 และวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ น.ส.ชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด หนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เข้าเบิกความ เป็นต้น (อ่านประกอบ : กระบวนการโปร่งใสชัดเจน! ‘ชาญศิลป์-ปิยะสวัสดิ์’แจงศาลล้มละลายคดีฟื้นฟู‘การบินไทย’)
สำหรับ เจ้าหนี้ที่คัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มี 16 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหนี้ที่ 1-10 คือเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น เจ้าหนี้กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด เป็นต้น เจ้าหนี้ที่ 11-15 คือเจ้าหนี้รายย่อย และสุดท้ายบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายที่ 17 ซึ่งมิได้ยื่นคัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟู แต่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมจัดทำแผนฟื้นฟูด้วย
ส่วนรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้เสนอให้ศาลล้มละลายกลาง ที่ถูกเจ้าหนี้คัดค้าน มี 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด 2.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 3.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ส.ว. 6.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ 7.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ
อ่านประกอบ :
ศาลล้มละลายนัดฟังคำสั่งอนุญาตให้‘การบินไทย’ยื่นฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 14 ก.ย.
กระบวนการโปร่งใสชัดเจน! ‘ชาญศิลป์-ปิยะสวัสดิ์’แจงศาลล้มละลายคดีฟื้นฟู‘การบินไทย’
เปิดคำร้องฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย' หาทุนใหม่-ลดพนง. ‘รักษาการดีดี’ หวัง ‘เจ้าหนี้-ศาล’ เชื่อมั่น
เปิดตัว 9 เจ้าหนี้!ทวงหมื่นล. ก่อน 'การบินไทย' ยื่นฟื้นฟูฯ-พบสัญญาเช่าโผล่ 9.7 หมื่นล.
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เริ่มแล้วตัดสวัสดิการพนง.! ยกแรกปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ จับตา ‘คลื่นใต้น้ำ’
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage