“…ที่ผ่านมาพบว่า กรณีพนักงานภายในที่ผ่านการสรรหา ก็จะขอเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือ 30 เดือนจากบริษัทฯ จากนั้นกลับเข้ามาเป็นพนักงานด้วยสัญญาจ้างและอัตราเงินเดือนใหม่…”
การบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานฯ ระบุว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-62)
คณะทำงานฯ ได้ยกตัวอย่างกรณีการแต่งตั้งผู้บริหารบริษัทฯรายหนึ่งทำหน้าที่ ‘รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ DD)’ ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท และเมื่อผ่านไป 9 เดือน ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มเป็นเดือนละ 600,000 บาท
โดยอ้างเหตุให้คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวตามที่เคยให้อดีตผู้รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยใหญ่ในอัตราเดือนละ 150,000 บาท ทั้งๆที่ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหนังสือจากกระทรวงการคลัง ที่ ห้ามไม่ให้พนักงานที่รักษาการได้รับ ‘ค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ’ จากที่ตนเคยได้รับ
อีกทั้งเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้บริหารรายนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ระดับ 13 และได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิมต่ออีก 6 เดือน (อ่านประกอบ : เปิดวาระลับ ‘การบินไทย’ เส้นทาง ‘รักษาการดีดี’ สู่ตำแหน่งตั้งใหม่ ‘ที่ปรึกษาอาวุโส’)
ในรายงานผลการตรวจสอบของคณะทำงานฯ ยังพบว่า การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ‘รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (Executive Vice President : EVP) แบบสัญญาจ้าง’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘EVP สรรหา’ จำนวน 2 ราย เป็นอีกประเด็นที่คณะทำงานฯเห็นว่า ‘เข้าข่ายเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และบุคคลใกล้ชิด’
เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การสรรหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับการสรรหา เช่น ผู้สมัครสามารถขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดได้ (Early Retirement) และไม่ต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน
คณะทำงานฯ ยังพบว่าทั้ง 2 ราย ก่อนได้รับการสรรหา ได้ทำหน่าที่รักษาการฯในตำแหน่งที่รับการสรรหาอยู่ด้วย อีกทั้ง 1 ใน 2 ราย ได้ขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (Early Retirement) ทำให้ได้รับค่าชดเชย 30 เดือน และเมื่อเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในวันถัดมา เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท จากเดิมที่ได้เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 250,000 บาท
ไม่เพียงเท่านั้น EVP สรรหา ทั้ง 2 ราย ได้รับค่าน้ำมัน ค่าพนักงานขับรถ อีก 75,000 บาท/เดือน และสิทธิประโยชน์เทียบเท่าในระดับเดียวกัน อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง 4 ปี ทั้ง 2 ราย จะได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนอีก 6 เดือนในวันสิ้นสุดสัญญา หรือจะได้รับเงินไม่ต่ำกว่ารายละ 2.4 ล้านบาท
“นับตั้งแต่บุคคลทั้ง 2 ราย เข้าดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวเลขการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท” รายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุ (อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.ฟันทุจริต‘การบินไทย’! พบจ่ายสินบนนักการเมือง-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง-ร่ำรวยผิดปกติ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า
หากย้อนกลับไปในปี 2558 ในการประชุมบอร์ดการบินไทย ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2558 ที่ประชุมได้พิจารณา วาระที่ 3 เรื่อง การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจ (MD) และผู้อำนวยการใหญ่ (VP) และมีมติตอนหนึ่งว่า
“อนุมัติให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ดำเนินกระบวนการสรรหาพนักงานระดับบริหารตามตำแหน่งในข้อ 1 ได้ โดยให้ความสำคัญกับบุคคลภายในเป็นลำดับแรกก่อน แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ตำแหน่งใดมีความสำคัญต่อบริษัทฯ เป็นอย่างมาก หากมีบุคคลภายนอกมาดำรงตำแหน่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯยิ่งขึ้น
ให้สามารถเปิดกว้างรับบุคคลภายนอก และดำเนินกระบวนการสรรหา โดยไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อขออนุมัติการสรรหาบุคคลภายนอกอีก” รายงานการประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2558 ระบุ
ต่อมาปรากฏข้อมูลว่า ในการประชุมบอร์ดการบินไทย ครั้งพิเศษที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2560 ที่ประชุมได้พิจารณา ‘วาระลับ’ วาระ 2.3.1 ขอหารือแนวทางส่วนแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การจ้างผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (Executive Vice President) เป็นสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา
โดยมีหารือที่สำคัญ คือ
“ระยะเวลาการว่าจ้างให้พิจารณาต่ออายุเป็นปีต่อปีจนถึงเกษียณอายุ หรือกำหนด 4 ปี แต่สามารถต่อสัญญาได้อีกคราวละ 4 ปี และให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตาม KPI อย่างเข้มข้นทุกปี และอาจสิ้นสุดสัญญาจ้าง หากไม่สามารถทำผลงานได้ตามที่คาดหวังขององค์กร
การเปลี่ยนสภาพการจ้าง ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น EVP จะต้องลาออกหรือขอเกษียณอายุก่อนกำหนด จึงค่อยดำรงตำแหน่ง โดยมีการทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดเวลา หรือให้จัดทำสัญญาขึ้นใหม่ โดยมีเงื่อนไขสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลานับอายุงานต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน”
ต่อมาในปี 2561 บริษัท การบินไทย เปิดสรรหา ‘รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่’ จำนวน 2 ตำแหน่ง
ได้แก่ 1.ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) มีผู้สมัคร 4 ราย เป็นคนใน 3 ราย (ระดับผู้ช่วยรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2 ราย โดย 1 ราย ทำหน้าที่รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) ในขณะนั้น และระดับผู้อำนวยการฝ่าย 1 ราย) และเป็นผู้สมัครคนนอก 1 ราย
และ2.ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยกรบุคคลและบริหารทั่วไป (DB) มีผู้สมัคร 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รายเป็นคนใน (ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งรักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยกรบุคคลและบริหารทั่วไป (DB) ในขณะนั้น 1 ราย และผู้บริการระดับสูงอีก 1 ราย)
ผลการสรรหาปรากฏว่า ผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) และผู้สมัครที่ดำรงรักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยกรบุคคลและบริหารทั่วไป (DB) ได้รับคะแนนสูงสุด และต่อมาบอร์ดการบินไทย มีมติแต่งตั้งทั้ง 2 ราย เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่สาย DN และรองผู้อำนวยการใหญ่สาย DB ตามลำดับ
สำหรับสัญญาว่าจ้างข้อสำคัญ ที่ EVP สรรหา ทั้ง 2 รายได้รับ เช่น
-ผู้รับจ้างตกลงปฏิบัติงาน หรือบริหารกิจการของผู้ว่าจ้างตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด มีระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ผู้รับจ้างมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา
-เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญานี้ และผู้รับจ้างมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ อาจได้รับการพิจารณาต่อสัญญาจ้างได้อีกคราวละ 4 ปี และให้อยู่ในวาระได้ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
-ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) โดยกำหนดวันจ่ายและวิธีจ่ายค่าตอบแทนตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
-ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาปรับค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยพิจารณาจากผลการประเมินการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีในอัตราที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
-ค่าตอบแทนพิเศษ ผู้ว่าจ้างอาจจะพิจารณากำหนดค่าตอบแทนพิเศษประจำปี (หากมี) ซึ่งพิจารณาจากผลการประเมินการปฏิบัติงานและผลประกอบการของผู้ว่าจางในแต่ละปี รวมทั้งหลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนพิเศษตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดขึ้นสำหรับผู้รับจ้าง โดยเงินรางวัลประจำปี (Bonus) และเงินเพิ่มพิเศษ (incentive) ในอัตราที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
-ผลของการสิ้นสุดสัญญา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญา ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนที่ผู้รับจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามสัญญา ณ เดือนสุดท้ายนั้น ให้กับผู้รับจ้างอีกเป็นจำนวน 6 เดือน และผู้รับจ้างตกลงที่จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือเงินอื่นใดจากผู้ว่าจ้าง
-ผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่ายานพาหนะ เป็นค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายเดือน ซึ่งเป็นค่าเช่ารถ/ค่าเช่าซื้อรถยนต์ ค่าพนักงานขับรถ ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าเสียภาษีรถยนต์ประจำ และค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 75,000 บาท (เจ็ดหมื่นห้าพันบาท) ต่อเดือนรวมภาษี โดยผู้รับจ้างเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากเงินดังกล่าวเอง
ทั้งนี้ ผู้รับจ้างมีสิทธิ์ใช้รถยนต์ส่วนกลาง พร้อมคนขับรถยนต์ของผู้ว่าจ้างในการไปปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายเป็นคราวๆ จากผู้ว่าจ้างได้อีกด้วย
-ผู้รับจ้าง รวมคู่สมรส และบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับจ้าง มีสิทธิได้รับบัตรโดยสารเครื่องบินของผู้ว่าจ้าง สำหรับเส้นทางต่างประเทศและเส้นทางภายในประเทศ โดยใช้ระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 และประกาศบริษัทฯ ที่ 03/2553 ประเภท N1 100% รวม 8 ใบต่อปี แยกเป็นเส้นทางต่างประเทศจำนวน 4 ใบต่อปี และเส้นทางภายในประเทศ จำนวน 4 ใบต่อปี ในชั้นธุรกิจและหากมีที่ว่างเฉพาะ ผู้รับจ้างและคู่สมรสเท่านั้น สามารถเลื่อนเดินทางในชั้นสูงสุดได้ (บุตรไม่ได้รับสิทธิ) และมีสิทธิขอส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ
(ที่มา : รายงานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน))
อย่างไรก็ตาม หลังมีการลงนามสัญญาจ้างรองผู้อำนวยการใหญ่สาย DB ซึ่งมีผลในวันที่ 16 พ.ค.2561 และลงนามสัญญาจ้างรองผู้อำนวยการใหญ่สาย DN ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มิ.ย.2561 ไปแล้ว
ในการประชุมบอร์ดการบินไทย ครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2561 กรรมการบริษัทฯรายหนึ่ง ได้มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้ง EVP สรรหาในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ที่ผ่านมาพบว่า กรณีพนักงานภายในที่ผ่านการสรรหา ก็จะขอเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือ 30 เดือนจากบริษัทฯ จากนั้นกลับเข้ามาเป็นพนักงานด้วยสัญญาจ้างและอัตราเงินเดือนใหม่”
เหล่านี้เป็นข้อมูลที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการบริษัท การบินไทยฯ ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เป็นประธานฯ ได้ตรวจสอบพบ ซึ่งหากบริษัท การบินไทย นำไปทบทวนแก้ไขก็จะส่งผลดีต่อบริษัท การบินไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอว่า ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งให้บริษัทฯฟื้นฟูกิจการในวันที่ 14 ก.ย.นี้ หรือไม่
อ่านประกอบ :
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
ใช้ไปซ่อมไป! การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์รอยซ์’ 9.7 พันล.ปมเครื่องยนต์บกพร่อง
จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน
ซื้อเครื่องบิน-สินบนโรลส์รอยซ์!หอบหลักฐานยื่น นายกฯ-ป.ป.ช.-ก.คลังสอบ‘การบินไทย’ขาดทุน
ย้อนปม 'บินไทย' ซื้อเก้าอี้ บ.Koito เสียหาย 3 พันล. ไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ?
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage