"...เครื่องบินรุ่น A340 ที่บริษัทฯ ซื้อข้ามาในช่วงปี 2004-2005 (2547-2548) ในราคาที่แพงมาก มีการใช้งานไปประมาณ 10 ปี จึงได้ยกเลิกทำการบินในช่วงปี 2014-2015 (2557-2558) ซึ่งเมื่อทำการปลดระวาง ได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการ ด้อยค่าไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นเครื่องบินที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ได้เป็นเครื่องที่ต้องการของตลาด ราคาเครื่องบินจึงลดลงมาเรื่อยๆ ทุกปี..."
หากไม่อะไรพลิกผัน ศาลล้มละลายน่าจะมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผน ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ จากนั้นคณะผู้ทำแผนจะใช้เวลาจัดทำแผนฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 3-6 เดือน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตว่า จะ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย
อย่างไรก็ดี จากแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ที่คณะผู้ทำแผนฯกำหนดไว้ในเบื้องต้นนั้น การลดขนาด ‘ฝูงบิน’ เป็นหนึ่งเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อทำให้บริษัท การบินไทย กลับมาเดินได้อีกครั้ง
“ตามหลักการต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อให้การบินไทยกลับมาเดินได้ ซึ่งเครื่องบินที่มีอยู่ปัจจุบัน (103 ลำ) จะต้องทิ้งครึ่งหนึ่ง” จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 บริษัท การบินไทย และ 1 ใน 7 คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ระบุ (อ่านประกอบ : ไม่เกิน 2 ปีมีกำไร! ‘จักรกฤศฏิ์’ มั่นใจศาลฯสั่งฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-สภาพคล่องใช้ได้ถึงสิ้นปี)
แต่ทว่าแผนการลดขนาดฝูงบินนั้น คงจะสร้างความหนักใจให้กับคณะผู้ทำแผนฯพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่จัดหามาโดยวิธีการ ‘ซื้อ’ หรือจัดหาด้วยวิธีทำ ‘สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease)’ และ ‘สัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease)’ เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่ ‘มีค่าใช้จ่าย’ ทั้งสิ้น
เช่นล่าสุดในปี 2556 บริษัท การบินไทย ได้ทำการคืน 'เครื่องบินเช่า' แอร์บัส รุ่น A330-300 จำนวน 2 เครื่อง ให้แก่บริษัท AerCap Dutch Aircraft Leasing IV B.V. (AerCap) ผู้ให้เช่า ก่อนเวลาสิ้นสุดสัญญาเช่าเครื่องบิน
ผลปรากฏว่าการคืนเครื่องบินเช่าทั้ง 2 ลำดังกล่าว บริษัท การบินไทย ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับ AerCap เช่น ค่าชดเชยการคืนเครื่องก่อนครบสัญญา และค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการคืนเครื่อง รวมแล้วเป็นเงิน 36.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินบาท 1,236.33 ล้านบาท
เช่นเดียวกัน การขายเครื่องบินที่เป็นสินทรัพย์ของบริษัท การบินไทยเอง พบว่าการขายเครื่องบินแต่ละรุ่น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี และในระหว่างนั้น บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและค่าจอดเครื่องบินรอการขาย เป็นเงินปีละหลายสิบล้านบาท ส่วนราคาเครื่องบินที่ขายต้องเรียกได้อยู่ในระดับ ‘ต่ำ’
อย่างกรณีการขายเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B777-400 จำนวน 2 ลำ ซึ่งบริษัทฯทำการปลดระวางในเดือนก.ค.2555 จากนั้นมีการเสนอขายเครื่องบิน 5 ครั้ง ตั้งแต่ 18 ต.ค.2556-16 ก.ย.2560 ต่อมาบริษัทฯ อนุมัติขายเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ให้บริษัท RPS System Co., Ltd. โดยขายได้เพียง 1.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 42 ล้านบาท
ขณะที่เกือบ 4 ปี ที่เครื่องบินทั้ง 2 ลำ จอดรอการขายนั้น บริษัท การบินไทย มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าจอดเครื่องอยู่ที่ 267,438 บาทต่อเดือน หรือปีละ 3.2 ล้านบาท หรือตลอดระยะเวลาที่จอดรอการขายกว่า 10 ล้านบาท
หรือกรณีการขายเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330-300 จำนวน 4 ลำ ซึ่งปลดระวางในเดือนมี.ค.2558 พบว่ามีการเสนอขาย 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเม.ย.2558-ส.ค.2560 ต่อมาบริษัทฯ อนุมัติขายเครื่องบินทั้ง 4 ลำ ให้กับบริษัท Four Corners Aviation ในราคารวม 24.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 784 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เครื่องดังกล่าวจอดรอการขายในช่วง 2 ปี 4 เดือนนั้น บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายปีละ 11.74 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสภาพเครื่องปีละ 9.71 ล้านบาท และค่าจอดปีละ 2.03 ล้านบาท หรือเท่ากับว่าในช่วง 2 ปีเศษ บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-500 และรุ่น A340-600 จำนวน 10 ลำ ซึ่งจัดซื้อในช่วงปี 2546-2547 และมีมูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043 ล้านบาทนั้น หลังจากมีการปลดระวางเครื่องทั้งหมดในปี 2557-2558 ทั้งๆที่ยังเหลือเวลาใช้งานอีก 5-6 ปี
พบว่าบริษัทฯ ได้ขายเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-500 จำนวน 1 ลำ ให้กับกองทัพอากาศไทย ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำ ได้แก่ รุ่น A340-500 จำนวน 3 ลำ และรุ่น A340-600 จำนวน 6 ลำ มีการประกาศขายเครื่องบินมาแล้ว 8 ครั้ง แต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ยังขายเครื่องบินดังกล่าวไม่ได้
โดยเครื่องบินทั้งหมดจอดรอการขายอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภามาแล้ว 5 ปี ที่สำคัญตั้งแต่ปี 2556-2560 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบิน A340 ทั้ง 9 ลำ ที่จอดรอการขาย ไม่ต่ำกว่าปีละ 27 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซ่อมบำรุงปีละ 520,568 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจอดเครื่องบินปีละ 314,270 ดอลลาร์สหรัฐ (อ่านประกอบ : จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน)
นอกจากนี้ มีการรายงานกรณีการขายเครื่องบิน A340 ทั้ง 9 ลำ ให้คณะกรรมการบริษัท การบินไทย ทราบเป็นระยะๆ
เนื่องจากมีความกังวลว่า ‘การด้อยค่า’ ของเครื่องบินดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องระบุว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวซื้อมาในราคาแพงมาก และขายยาก เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
“การด้อยค่าเครื่องบินที่ปลดระวาง มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า การด้อยค่าได้ส่งผลกระทบกับผลประกอบการบริษัทฯ สูงมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การด้อยค่าเครื่องบินที่ส่งผลกระทบกับผลประกอบการบริษัทฯ มาจากเครื่องบินรุ่น A340 เพียงรุ่นเดียว ส่วนเครื่องบินรุ่นอื่นที่ปลดระวางแล้ว การคิดด้อยค่าเครื่องบินไม่ได้มีผลกระทบอย่างรุนแรงเท่าใดนัก
ซึ่งเครื่องบินรุ่น A340 ที่บริษัทฯ ซื้อข้ามาในช่วงปี 2004-2005 (2547-2548) ในราคาที่แพงมาก มีการใช้งานไปประมาณ 10 ปี จึงได้ยกเลิกทำการบินในช่วงปี 2014-2015 (2557-2558) ซึ่งเมื่อทำการปลดระวาง ได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการ ด้อยค่าไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท
แต่เนื่องจากเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นเครื่องบินที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ได้เป็นเครื่องที่ต้องการของตลาด ราคาเครื่องบินจึงลดลงมาเรื่อยๆ ทุกปี” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (DE) ชี้แจงต่อที่ประชุมบอร์ดการบินไทย ครั้งที่ 11/2561 เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2561
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย มีแนวคิดว่า จะนำเครื่องบินที่จออดทิ้งไว้แล้วขายไม่ได้ ไปชำแหละและขายอะไหล่ ส่วนโครงเครื่องบินจะนำไปทำภัตตาคาร (อ่านประกอบ : ลุ้นศาลสั่งฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ วอน พนง.อย่าขัดแย้ง-ปิ๊งไอเดียภัตตาคารเครื่องบิน)
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เครื่องบินแอร์บัสรุ่น A340 ซึ่งเป็น 'มรดกเก่า' ที่รอการสะสางนั้น นอกจากจะถูกระบุว่าทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน และหนี้สินเพิ่มขึ้นแล้ว
เครื่องบินแอร์บัสรุ่นดังกล่าวทั้ง 9 ลำ ที่ปัจจุบันยังจอดรอการขาย ทำให้บริษัท การบินไทย มีภาระขาดทุนจากการ ‘ด้อยค่า’ แล้วไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีค่าซ่อมบำรุงและค่าจอดสูงถึงปีละ 27 ล้านบาทด้วย
ภาพประกอบปก : เครื่องบินของบริษัท การบินไทย ที่จอดไว้ที่สนามบินอู่ตะเภา เมื่อเดือนก.พ.2560 โดยกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น
อ่านประกอบ :
ส่อเอื้อพวกพ้อง! เปิดหลักเกณฑ์-สัญญาจ้าง ‘EVP สรรหา’ ทำ ‘การบินไทย’ เสียหาย?
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
ใช้ไปซ่อมไป! การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์รอยซ์’ 9.7 พันล.ปมเครื่องยนต์บกพร่อง
ซื้อเครื่องบิน-สินบนโรลส์รอยซ์!หอบหลักฐานยื่น นายกฯ-ป.ป.ช.-ก.คลังสอบ‘การบินไทย’ขาดทุน
จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน
ย้อนปม 'บินไทย' ซื้อเก้าอี้ บ.Koito เสียหาย 3 พันล. ไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ?
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
กลุ่มธรรมาภิบาลฯโชว์ภาพเครื่องบิน14ลำ'อู่ตะเภา'หลัง'บินไทย'สั่งห้ามสื่อฯเข้า!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage