“...ค่าใช้จ่ายตามสัญญาการซ่อมบำรุงของฝ่ายช่างที่เพิ่มขึ้นถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้เครื่องยนต์ที่มีหลากหลาย และเครื่องยนต์ไม่มีสิทธิ์ส่งไปซ่อมนอกศูนย์ซ่อมบำรุงของผู้ขายได้ จะต้องซ่อมในศูนย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ขายจะคิดราคาได้อย่างเต็มที่...”
กรณีการจ่าย ‘สินบน’ ของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 254 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2547-28 ก.พ.2558 เพื่อจูงใจให้จัดหาเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น RR Trent-500 และรุ่น RR Trent-800 นั้น
อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘โรลส์-รอยซ์’ มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ไทยก็เป็นได้
เพราะขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า การจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ 2 ช่วงก่อนหน้านี้ คือ ในช่วงแรกปี 2534-2535 และในช่วงที่สอง ปี 2538-2540 มีการจ่ายสินบนให้กับ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และอดีตผู้บริหารของบริษัท การบินไทย อีกหรือไม่
แต่ทว่าผลพวงของการจ่าย ‘สินบนโรลส์-รอยซ์’ กลับส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย ในช่วง 5-10 ปีต่อมา และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะในช่วงปี 2560-2562
“มีการจัดซื้อและทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่าย (TCA) ของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ (RR) มาโดยตลอด ซึ่งมีลักษณะผูกขาดและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก” รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานฯ ระบุ
คณะทำงานฯ ยังพบว่า การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในช่วงปี 2560-2562 ที่บริษัท การบินไทย ทำไปแล้ว การส่งซ่อม และการต่อสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย ทำให้บริษัทฯ เสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.ฟันทุจริต‘การบินไทย’! พบจ่ายสินบนนักการเมือง-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง-ร่ำรวยผิดปกติ)
หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน บริษัท การบินไทย จัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องยนต์จากผู้ผลิต 3 ราย คือ บริษัท General Electric (GE) , บริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) และบริษัท แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ (Pratt & Whitney Canada) โดยเครื่องยนต์ส่วนใหญ่เป็นของ GE และโรลส์-รอย ส่วนเครื่องยนต์ แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ มีเพียงไม่กี่รุ่น
แต่ปัจจุบันพบว่าเครื่องบินของบริษัท การบินไทย ส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์
“การบินไทย เริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในช่วงปี 2547-2548 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีกรณีจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์ แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการล็อบบี้และจ่ายสินบนเพื่อจูงใจให้มีการซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์อยู่แล้ว” แหล่งข่าวจากฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย ซึ่งทำงานกับบริษัทฯ มามากกว่า 20 ปี กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
พนักงานฝ่ายช่างรายนี้ กล่าวต่อว่า “เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะเขาใช้ระบบล็อบบี้ยิสต์ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย แต่เขาทำทั่วโลก และหลังจากเรา (การบินไทย) มีข้อผูกพันเครื่องยนต์กับโรลส์-รอยซ์แล้ว ภายใต้การชี้นำของฝ่ายการเมือง ทำให้วันนี้การบินไทยใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เกือบ 80% ของเครื่องบิน 83 ลำ ที่ทำการบินในช่วงก่อนโควิด
เพราะไม่ว่าบริษัท การบินไทย จะจัดซื้อหรือเช่าเครื่องบินรุ่นใดมาก็ตาม แต่เครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องบินส่วนใหญ่ของการบินไทย จะเป็นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แม้ว่าตามปกติแล้วเครื่องบินที่ซื้อมาจะใช้เครื่องยนต์จากค่ายไหนก็ได้
ส่วนเครื่องยนต์ GE แม้มีอยู่ แต่ไม่ถึง 20% เช่น เครื่องยนต์ GE ที่ติดตั้งกับเครื่องโบอิ้ง 747 จัมโบ และโบอิ้ง 777-300ER ขณะที่เครื่องยนต์ของแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้ว เพราะเดิมเครื่องบินแอร์บัส A330 ที่เคยใช้เครื่องยนต์แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ นั้น ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์หมดแล้ว รวมถึงเครื่องบินแอร์บัส A340 ทั้ง 9 ลำ ที่ไปจอดทิ้งไว้ที่สนามบินอู่ตะเภา นั่นก็ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอย รวม 36 หัว และเครื่องยนต์อะไหล่อีกจำนวนหนึ่ง”
(เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่มา : Rolls-Royce : How Engines Work)
แหล่งข่าวจากฝ่ายช่างรายเดิม ระบุว่า “แม้ว่าจุดเด่นของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่นแรกๆ คือ หากทำการบินในระยะไกลๆจะประหยัดน้ำมัน แต่สำหรับเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์รุ่นหลังๆ พบว่ามีปัญหาเกือบทั้งหมด เช่น เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่ติดตั้งกับเครื่องบินแอร์บัส A380 และเครื่องบินโบอิ้ง 787 เป็นต้น ทำให้ต้องจอดทิ้งไว้เพื่อรอเครื่องยนต์ (AOG)
ทั้งนี้ สำหรับปัญหาของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์รุ่นหลังๆ เกิดขึ้นหลังจากเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ทำการอัพเกรดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้แรงขึ้น เร็วขึ้น แต่ปรากฎว่าโครงสร้างเครื่องยนต์ยังเหมือนเดิมและใช้วัสดุแบบเดิม โดยเฉพาะชุดเทอร์ไบน์ ทำให้เมื่อทำการบินได้ไม่นานจะเกิดการ crack (แตกร้าว) ของใบพัดและอะไหล่”
นอกจากนี้ การลักษณะการใช้งานเครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่ไม่เป็นไปตามคู่มือ ยังทำให้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เสื่อมสภาพและต้องเข้าซ่อมบำรุงกว่ากำหนด ซึ่งปัญหาการใช้เครื่องบินไม่เป็นไปตามคู่มือดังกล่าว ไม่ได้เกิดเฉพาะในเครื่องยนต์โรลส์-รอยเท่านั้น แต่ยังเกิดกับเครื่องยนต์ GE ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ด้วย
“เครื่องยนต์บางรุ่นคู่มือกำหนดให้บินเส้นทางระยะไกล เพราะมีระบบ cooling ระหว่างบิน แต่ฝ่ายจัดการกลับนำเครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นนั้นๆ ไปใช้ทำการบินในเส้นทางระยะใกล้ๆ โดยเฉพาะเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ซึ่งประหยัดน้ำมัน ทำให้วัสดุในเครื่องยนต์ยืดและหดเกินศักยภาพ เพราะความร้อน ส่งผลให้เกิดการ crack (แตกร้าว) เร็วขึ้น จึงทำให้มีค่าซ่อมบำรุงสูงตามมา แม้ว่าจะประหยัดน้ำมันในช่วงแรก” แหล่งข่าวระบุ
พนักงานฝ่ายช่างรายดังกล่าว ยังสะท้อนปมปัญหาสำคัญของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ของ GE ว่า สำหรับเครื่องยนต์ GE นั้น บริษัท GE ได้ให้ลิขสิทธิ์การซ่อมกับบริษัท การบินไทย โดยพนักงานฝ่ายช่างของบริษัท การบินไทย ที่ได้รับการเทรนนิ่งและมีใบรับรองฯ สามารถทำการซ่อมบำรุงหรือซ่อมแซมเครื่องยนต์ GE ได้
แต่กับเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์แล้ว บริษัท การบินไทย ไม่ได้ลิขสิทธิ์ในการซ่อมบำรุงหรือซ่อมแซม และต้องซื้อบริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายตามจำนวนเวลาใช้งาน (Total Care) กับเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ทุกแบบ และต้องส่งเครื่องยนต์ไปซ่อมที่สิงคโปร์เท่านั้น
“กับเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แม้เราจะมี Shop มีช่าง แต่การบินไทยซ่อมไม่ได้ เพราะไม่มีลิขสิทธิ์ หากต้องซ่อมบำรุงหรือต้องซ่อมเครื่องยนต์ที่เสียหาย ต้องขนเครื่องไปซ่อมที่สิงคโปร์เท่านั้น เพราะสิงคโปร์เขาได้ลิขสิทธิ์ ส่วนรุ่นที่เรามีลิขสิทธิ์ เช่น รุ่น Trent-800 นั้น เราซ่อมได้เฉพาะโมดูลใหญ่ๆ แต่หากเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เราก็ซ่อมไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า การที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้ลิขสิทธิ์กับสิงคโปร์ ‘ผูกขาด’ การซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แต่เพียงเจ้าเดียว ทำให้สายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เมื่อต้องมีการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์หรือซ่อมแซมในกรณีต่างๆ สายการบิน ต้องส่งเครื่องยนต์ไปที่สิงคโปร์เท่านั้น ทำให้เครื่องยนต์ไปกระจุกตัวที่สิงคโปร์
“ไม่ได้มีแค่การบินไทย ที่ต้องส่งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ที่สิงคโปร์ แต่เป็นสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เมื่อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ทุกเครื่องต้องถูกส่งไปซ่อมที่นั่น เครื่องยนต์ที่บริษัท การบินไทย ส่งไปซ่อมนั้น กว่าจะได้รับเครื่องยนต์กลับมาต้องใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะเครื่องโบอิ้ง 787 ที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์” แหล่งข่าวกล่าว
พนักงานฝ่ายช่างรายนี้ยังบอกว่า “ถามว่าเรามีศักยภาพไหม ช่างการบินไทยซ่อมได้หมด เพราะพื้นฐานการทำงานของเครื่องยนต์เหมือนกัน แต่เรียกชื่อต่างกัน หากมีการเทรนนิ่ง ซึ่งใช้เวลาไม่มาก และช่างได้รับใบเซอร์ฯ (ใบรับรอง) เราก็ซ่อมเครื่องยนต์ได้ แต่ถ้าเขา (โรลส์-รอย) ไม่ให้ใบเซอร์ฯ ไม่ให้ลิขสิทธิ์การซ่อมกับเรา เราก็ซ่อมไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม กรณีการซ่อมบำรุงและซ่อมแซมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ฝ่ายบริหาร และกรรมการบริษัท การบินไทย ได้สะท้อนและหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาหารือกันใน ‘หลายวาระ’ และ ‘หลายโอกาส’ แต่ดูเหมือนว่าสุดท้ายจะไม่ได้นำไปสู่การ ‘ตัดสินใจ’ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
เช่น ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการฝ่ายบริหารงานนโยบาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18-19 ส.ค.2561 ผู้บริหารรายหนึ่งสะท้อนถึงปัญหาการซ่อมบำรุงเครื่องบิน และเครื่องยนต์ของบริษัท การบินไทย ซึ่งทำให้เครื่องบินต้องจอดซ่อมเป็นเวลานาน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยบอกว่า
“ในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อน บริษัทฯ จะทำการซ่อมบำรุงเครื่องบิน หรือเครื่องยนต์เองทั้งหมด โดยมีบุคลากรจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันการใช้บุคลากรยังเท่าเดิม แต่งานซ่อมน้อยลง เนื่องจากเครื่องยนต์จะถูกส่งไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อมของผู้ขายตามสัญญา”
พร้อมทั้งระบุว่า “ค่าใช้จ่ายตามสัญญาการซ่อมบำรุงของฝ่ายช่างที่เพิ่มขึ้นถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้เครื่องยนต์ที่มีหลากหลาย และเครื่องยนต์ไม่มีสิทธิ์ส่งไปซ่อมนอกศูนย์ซ่อมบำรุงของผู้ขายได้ จะต้องซ่อมในศูนย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ขายจะคิดราคาได้อย่างเต็มที่”
นอกจากนี้ มีข้อเสนอจากรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง (DT) เสนอให้ปรับลดแบบเครื่องยนต์ (Engine Type) ลง จากปัจจุบันที่มี 9 Type ให้เหลือ 4 Type เพื่อลดค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง
โดยเฉพาะเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์นั้น บริษัท การบินไทย ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ อย่างน้อย 6 รุ่น เช่น รุ่น Trent-500 ,Trent-700 ,Trent-800 ,Trent-900 ,Trent-1000 และ Trent XWB-84 ซึ่งเครื่องยนต์บางรุ่นมีปัญหาต้องซ่อมเป็นระยะๆ (อ่านประกอบ : ใช้ไปซ่อมไป! การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์รอยซ์’ 9.7 พันล.ปมเครื่องยนต์บกพร่อง)
ที่สำคัญการพึ่งพาเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ มากเกินไป และด้วยสัญญาการซ่อมแซมเครื่องยนต์ที่มีลักษณะ ‘ผูกขาด’ ยังทำให้บริษัท การบินไทย ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ และเป็นฝ่ายที่ต้องร้อง ‘ขอความเห็นใจ’ จากโรลส์-รอยซ์ เห็นได้จากการทำสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย (TCA) เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น Trent-700 ,Trent-800 ดังนี้
รายงานการประชุมคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 11/2562 วันพฤหัสบดีที่ 14 พ.ย.2562
“กรรมการบริษัทฯรายหนึ่ง มีข้อคิดเห็นและสอบถาม ดังนี้
1.กรณีซ่อมบำรุงแบบ Total Care Agreement (TCA) กับบริษัทโรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่อง Trent-800 ซึ่งตั้งเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายไว้จำนวน 3,014.54 ล้านบาท แต่เนื่องจากสัญญาได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2561 ดังนั้น เมื่อมีการซ่อมบำรุงเกิดขึ้นบริษัทฯ จึงต้องส่งเครื่องยนต์ไปซ่อมบำรุงแบบ Time and Material เสียค่าใช้จ่ายเป็นรายครั้ง ที่ผ่านมาได้มีการส่งช่อมเครื่องยนต์ Trent-800 จำนวน 4 เครื่องยนต์ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้บันทึกบัญชี
รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (DE) ชี้แจงดังนี้
1.การทำสัญญาซ่อมบำรุงแบบ TCA ของเครื่องยนต์ Trent 800 และ Trent 700 อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับบริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการตั้งค่าใช้จ่ายรองรับไว้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องนำเครื่องยนต์ Trent 800 เข้าซ่อมบำรุงก่อน เพื่อมิให้เครื่องบินต้อง AOG
ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ ขอนำคำใช้จ่ายแบบ Time and Material ที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเพื่อทำการ Reimburse (คืนเงิน) กลับเข้ามาในสัญญาซ่อมบำรุงแบบ TCA พร้อมกับการบันทึกค่าใช้จ่ายค้างจ่ายที่ได้ตั้งไว้จำนวน 3,014.54 ล้านบาท ให้รวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน
2.บริษัทฯ ได้ทำการติดต่อกับบริษัท โรลส์-รอยซ์ อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ซึ่งยังคงรอบริษัท โรลส์-รอยซ์ แจ้งยืนยันคำตอบกลับมา โดยคาคว่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากจำนวนเงินตามสัญญาที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับบริษัท โรลส์-รอยซ์ มีประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 3,014.54 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ต้องการได้รับจากบริษัทฯ อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงแบบ Time and Material ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินสัญญาทั้งหมด
จึงมีความหวังที่บริษัทฯ จะได้รับโอกาสตามที่ได้ยื่นข้อเสนอไป แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก พราะบริษัทโรลส์-รอยซ์ เป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจนี้…”
อาจสรุปได้ว่าการที่บริษัท การบินไทย พึ่งพาและผูกขาดการจัดซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ทั้งๆที่มีเงื่อนไขที่ทำให้บริษัทฯ เสียเปรียบหลายอย่าง จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ บริษัท การบินไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ เนื่องด้วยมีภาระ ‘หนี้สินล้นพ้นตัว’
แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น คือ จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถจัดการหรือลงโทษกับ ‘กลุ่มบุคคล’ ที่ทำให้บริษัทฯเสียหายนับแสนล้านบาท จนการบินไทยต้องร่วงลงจากท้องฟ้า ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดได้ โดยเฉพาะการจัดการกับบรรดานักการเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง
อ่านประกอบ :
มรดกเก่า ‘การบินไทย’! แอร์บัส A340 ‘ซื้อแพง-จอดทิ้งขายไม่ออก-ด้อยค่าแล้ว 1.5 หมื่นล.’
ส่อเอื้อพวกพ้อง! เปิดหลักเกณฑ์-สัญญาจ้าง ‘EVP สรรหา’ ทำ ‘การบินไทย’ เสียหาย?
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
ใช้ไปซ่อมไป! การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์รอยซ์’ 9.7 พันล.ปมเครื่องยนต์บกพร่อง
ซื้อเครื่องบิน-สินบนโรลส์รอยซ์!หอบหลักฐานยื่น นายกฯ-ป.ป.ช.-ก.คลังสอบ‘การบินไทย’ขาดทุน
จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน
ย้อนปม 'บินไทย' ซื้อเก้าอี้ บ.Koito เสียหาย 3 พันล. ไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ?
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
กลุ่มธรรมาภิบาลฯโชว์ภาพเครื่องบิน14ลำ'อู่ตะเภา'หลัง'บินไทย'สั่งห้ามสื่อฯเข้า!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage