‘สศช.’ เผยไตรมาส 3/67 มีผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน คิดเป็น 1.02% ขณะที่ ‘หนี้เสีย’ ไตรมาส 2/67 แตะ 1.16 ล้านบาท โต 12.2% พบ NPLs ‘บ้าน-รถ’ ขยายตัว 23.2-29.7%
.............................................
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 ว่า ในช่วงไตรมาส 3/2567 มีผู้มีงานทำ 40 ล้านคน ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.4%
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำในช่วงไตรมาส 3/2567 และไตรมาส 2/2567 ที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 39.5 ล้านคน พบว่าจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 5 แสนคน
“แรงงานที่เคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรมาสู่นอกภาคเกษตรนั้น จะเข้าไปสู่ภาคโรงแรม/ภัตตาคาร และภาคการขนส่ง/เก็บสินค้า มากที่สุด โดยในภาคโรงแรมฯ มีแรงงานเพิ่มขึ้น 6.1% และภาคการขนส่งฯ มีแรงงานเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งถ้าไปดูข้อมูลย้อนหลัง จะเห็นว่าแรงงานที่เคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรไปสู่นอกภาคเกษตร มีการเคลื่อนย้ายออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา” นายดนุชา กล่าว
สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2567 โดยรวมเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 43.3 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 47.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2.8% ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 1.6 ล้านคน ลดลง 32.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วงไตรมาส 3/2567 ปรับเพิ่มขึ้นทั้งภาครวมและภาคเอกชน โดยค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,522 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าจ้างแรงงานในภาพรวม (จัดเก็บข้อมูลแบบเดิม) เฉลี่ยอยู่ที่ 15,718 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 1.8% และค่าจ้างแรงงานในภาพรวมทั้งหมด (รวมกลุ่มแรงงานอิสระ) เฉลี่ยอยู่ที่ 16,007 บาท/คน/เดือน
ส่วนการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2567 มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.02% โดยกลุ่มอุดมศึกษายังคงเป็นกลุ่มที่มีการว่างงานที่สูง โดยกลุ่มนี้มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.5 แสนคน ขณะที่ผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีจำนวน 8.1 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 16.2% โดย 65% มีสาเหตุจาก ‘หางานไม่ได้’ และ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 2.การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจมีการจ้างงานใหม่ 1.7 แสนคน และ3.ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น
@หนี้เสีย‘บ้าน-รถ-บัตรเครดิต’ ขยายตัว 21-29%
ส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2/2567 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 89.6% ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน (1/2567) ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.7% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อยานยนต์
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2567 จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า คุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องและในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีจำนวน 9.6 ล้านบัญชี มูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้น จาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ หนี้ NPLs ที่เกิดขึ้นของครัวเรือนส่วนใหญ่ (71%) อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)
เมื่อพิจารณาภาพรวมการขยายตัวของหนี้ NPLs ที่เพิ่มขึ้น 12.2% พบว่า มีสาเหตุการขยายตัว (Contribution to growth) มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก โดย NPLs สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัว 29.7% ,NPLs สินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัว 23.2% ,NPLs สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 21.5% , NPLs สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ ขยายตัว 9.7% และ NPLs สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 7.7% ขณะที่ NPLs สินเชื่อเพื่อการเกษตร หดตัว 33.9%
นอกจากนี้ หากพิจารณาสินเชื่อที่ค้างชำระระหว่าง 30-90 วัน (SMLs) พบว่า มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.66% ปรับลดลงจาก 4.72% ของไตรมาสก่อน (1/2567) แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น และปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายไตรมาสแล้ว
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2/2567 สัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 27.9% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 2.ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน โดยสถานการณ์หนี้นอกระบบปี 2566 มีมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และ 47.5% เป็นการก่อหนี้เพื่ออุปโภคฯ
3.การผิดนัดชำระหนี้บ้านมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น โดย ณ ไตรมาส 2/2567 มูลค่าหนี้เสียบ้าน ขยายตัว 23.2% และคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 4.34% จากไตรมาส 1/2567 ที่มูลค่าหนี้เสียบ้าน ขยายตัว 18.2% และคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.98% โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูง เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินอื่น และ4.ผลกระทบจากอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
“สินเชื่อที่มีการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความตึงตัวในเรื่องรายได้ และฐานะการเงินของครัวเรือนที่มีความตึงตัว ทำให้ต้องเลือกว่าจะผ่อนชำระอะไรก่อนหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกจ่ายสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนที่จะมาจ่ายสินเชื่อบ้าน จึงทำให้การผิดนัดฯสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มหนี้สินครัวเรือน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนหนี้สินครัวเรือนปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 กับไตรมาส 1/2567 จำนวนหนี้ครัวเรือนลดลง 0.1% และหากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 ขยายตัวดีขึ้น จะทำให้สถานการณ์สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงต่อเนื่อง แต่คงมีมาตรการต่างๆเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้ธุรกิจ
“ส่วนเรื่องการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) คงต้องรอการแถลงข่าวอีกทีหนึ่ง เพราะเรื่องนี้จะผูกพันกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การลดเงินนำส่งฯ แน่นอนว่าจะทำให้การชำระหนี้ FIDF ใช้เวลานานขึ้น แต่จะเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ โดยไม่ทำให้เกิดภาระงบประมาณ และตรงนี้ก็จะเอาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะถัดไป ส่วนมาตรการจะเป็นอย่างไร ยังอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบ” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
‘สภาพัฒน์’เผยจีดีพีไตรมาส 3/67 โต 3%-คาดทั้งปี 2.6% จับตาผลกระทบสหรัฐฯกีดกันทางการค้า
สศช.เผย‘ว่างงาน’ไตรมาส 2/67 แตะ1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังโควิด-NPLs หนี้ครัวเรือน 2.99%
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 โต 2.3% คาดทั้งปี 2.3-2.8%-หนุน‘รัฐบาลใหม่’กระตุ้นเศรษฐกิจ
‘สศช.’ห่วงNPLสินเชื่อบ้านโต 12.4%-เผย'หนี้เสีย' 3 ใน 4 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%