‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4% ต่ำกว่าคาด หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่ประเมิน ส่งผลให้ทั้งปี 65 เศรษฐกิจโตแค่ 2.6% พร้อมลดเป้าจีดีพีปี 66 เหลือเติบโต 2.7-3.7% กดเป้าหมายส่งออกเป็นติดลบ 1.6%
...........................................
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2565 ขยายตัวได้ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.5% โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 10.5% และการอุปโภคภาครัฐบาลที่หดตัว 8%
“โดยเฉลี่ยแล้วการส่งออกจะมีสัดส่วนคิดเป็น 50-60% ของจีดีพี เมื่อการส่งออกหดตัวถึง 10.5% จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2565 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2565 การส่งออกจะหดตัวสูงถึง 10.5% สาขาอุตสาหกรรมหดตัว 4.9% และการอุปโภคภาครัฐบาลหดตัว 8% จากเงินโอนในลักษณะสวัสดิการเพื่อรักษาพยาบาลในช่วงเกิดโควิด-19 สิ้นสุด หลังสถานการณ์คลี่คลาย แต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 5.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% ภาคบริการขยายตัวได้ 94.6% สาขาก่อสร้างขยายตัว 2.6% และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 30.5% เป็นต้น
นายดนุชา กล่าวต่อว่า จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2565 ที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 ขยายตัวเพียง 2.6% ต่ำกว่าตัวเลขที่ สศช.คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% โดยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงค่อนข้างเร็วกว่าที่ สศช.ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้การส่งออกไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 หดตัวค่อนข้างแรง
“เดิมเรามองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวปีนี้ แต่จากข้อมูลที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/2565 ก็ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่หดตัวค่อนข้างแรงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 และเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้การประมาณการของเราคาดเคลื่อนไปจากเดิมค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน และในหลายประเทศก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีค่ากลาง 3.2% ลดลงจากก่อนหน้าที่ สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3-4% ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะหดตัว 1.6% จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 1% ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาลจะหดตัว 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 0.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของจีดีพี
ทั้งนี้ สศช. ได้ตั้งสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.6% การค้าโลกขยายตัว 2% ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32.3-33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระหว่าง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล การส่งออกหดตัว 0.5-1.5% และการนำเข้าหดตัว 2-3% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะมีจำนวน 28 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 23.5 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.31 ล้านล้านบาท
ส่วนปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามา 91,080 คน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,110 คน ,การขยายตัวของการลงทุน ทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ ,การการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และภาคเกษตรที่มีการแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีมาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอ ราคาผลผลิตดี และราคาปุ๋ยลดลง
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ความยืดเยื้อของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ 2.ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย
3.การชะลอตัวของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาตารางเวลาการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2567 อาจมีความล่าช้า
นายดนุชา กล่าวว่า สศช.มีข้อเสนอในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 มี 8 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยต้องเร่งการปรับโครงสร้างหนี้และจัดการหนี้นอกระบบ 2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า
4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 7.การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และ 8.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ
อ่านประกอบ :
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%