‘สศช.’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% แม้เผชิญข้อจำกัดจากความขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ พร้อมหั่นคาดการณ์จีดีพีปี 65 ลงเหลือ 2.5-3.5% จากปัจจัย ‘เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สงครามที่ยืดเยื้อ-เงินเฟ้อพุ่ง-ราคาพลังงานแพง’
.......................................
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2565 ขยายตัวที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะเผชิญกับข้อจำกัด จากภาวะความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน การแซงชั่น ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ” นายดนุชา ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2565 การส่งออกสินค้าไทยขยายตัว 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ,การส่งออกบริการขยายตัว 30.7% ,สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 34.1% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 0.8% แต่จะพบว่าการลงทุนภาครัฐหดตัว -4.7% ในขณะที่การลงทุนเอกชนขยายตัว 2.9% ส่วนสาขาก่อสร้างหดตัว -5.5% และพบว่าในสาขาการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว
นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เหลือ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดย สศช.ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 เหลือ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 95-105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 72-82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
โดย สศช.คาดว่า การส่งออกไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 7.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ,การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ,การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.8% ,การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.6% ,อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 4.2-5.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 1.5% ของจีดีพี
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2565 มี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น 2.ฐานรายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ขยายตัว จากการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่อัตราการว่างงานปรับลดลงเหลือเพียง 1.53%
3.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากภาครัฐมีการผ่อนปรนการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดย สศช.คาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวน 7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 5.7 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 4.7 แสนล้านบาท 4.การส่งออกสินค้าไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2565 มี 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป 2.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการดำเนินนโยบาย Zero COVID ของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะชิปเซ็ต
3.ภาระหนี้สินของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และแม้ว่าสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) จะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ปัญหาภาระหนี้ดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยเปราะบางสำหรับเศรษฐกิจไทย 4.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าเรื่องโควิด-19 จะมีน้ำหนักน้อยลง แต่ก็ต้องติดตามและเฝ้าระวังเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่อีกครั้งได้
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2565 สศช.เห็นว่ามี 7 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.รักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน 2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยต้องปรับมาตรการต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น 3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า 4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 92.5% เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่ต่ำกว่า 70% และเบิกจ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ให้เป็นไปตามแผน 6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะการดูแลเรื่องปุ๋ย และ7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่คาดการณ์ผลในอนาคตได้ยาก
“เครื่องยนต์หลักๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องการส่งออก ซึ่งต้องมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องปรับมาตรการเพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น และเรื่องการบริโภคในประเทศ ที่ต้องมีการดูแลเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะที่ในช่วงถัดไป เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพราะจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้วัตถุดิบบางตัวและราคาพลังงานสูงขึ้น” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวถึงเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้เหลือวงเงินกู้อยู่ 7.4 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีการกันวงเงินกู้สำหรับผูกพันไว้ใน 2 เรื่อง คือ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโควิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีก 1.6 หมื่นล้านบาท จึงเหลือวงเงินกู้ที่ใช้ได้อีก 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวต้องอนุมัติภายในวันที่ 30 ก.ย. และใช้จ่ายให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี
ส่วนรัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องการกู้เงินเพิ่ม จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการดำเนินการโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ระยะที่ 5 นั้น แม้ว่าโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการบริโภคและลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ แต่คงต้องมีการหารือกันให้รอบคอบก่อน
นายดนุชา ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาท ว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอจากฝั่งแรงงาน ส่วนจะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้มากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐ และหากจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูจากเงินเฟ้อบวกด้วยค่าพรีเมี่ยมด้วย
“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ปกติ คาดการณ์ยาก และส่งผลกระทบกับทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยนั้น อยากให้ทุกคนช่วยให้กันให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า เพราะทรัพยากรของเรามีจำกัด รวมทั้งอยากขอให้คนไทยช่วยกันใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และหากจะเดินทางไปท่องเที่ยว ก็ขอให้ท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อน” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'