‘สภาพัฒน์’ เผน ‘อัตราว่างงาน’ ไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรก หลังฟื้นตัวจาก ‘โควิด’ ขณะที่ไตรมาส 1/67 หนี้สินครัวเรือนโต 2.5% NPLs แตะ 2.99%
......................................
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 ว่า ในช่วงไตรมาส 2/2567 มีผู้มีงานทำ 39.5 ล้านคน ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 5% ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในขณะที่การจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.2% โดยขยายตัวได้ในทุกสาขา
“การจ้างงานนอกภาคเกษตรฯ ขยายตัวต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว แสดงให้เห็นว่าขณะนี้แรงงานในภาคเกษตรฯ ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่นอกภาคเกษตรฯมากขึ้น” นายดนุชา กล่าว
สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2567 ค่อนข้างทรงตัว โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.1% ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2 ล้านคน ลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านค่าจ้างแรงงานนั้น ในช่วงไตรมาส 2/2567 ค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,032 บาท/คน/เดือน ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 15,329 บาท/คน/เดือน อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2/2567 นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้านี้ มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมอยู่ที่ 1.92% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 2.13%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มอุดมศึกษายังคงเป็นกลุ่มที่มีการว่างงานที่สูง โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 1.58 แสนคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาพบว่า 63% เป็นผู้จบการศึกษาด้านสังคมศาสตร์
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้าน AI รวมถึงทักษะที่สำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ด้านเทคโนโลยี 2.ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มามากขึ้นต่อการจ้างงาน และ 3.ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของ SMEs และยังทำให้กำลังซื้อของคนลดลง ในขณะที่การเข้ามาของสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศ ทำให้ตัว SMEs ของเราประสบปัญหาค่อนข้างมาก มีรายได้และกำไรลดลง ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา” นายดนุชา กล่าว
@NPLs สินเชื่อครัวเรือนไตรมาส 1/67 แตะ 2.99%
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 1/2567 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.8% ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน (4/2567) ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.4%
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2567 พบว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.99% คิดเป็น 1.63 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (4/2566) ที่สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม 2.88% โดยตัวที่ยังมีปัญหามาก คือ หนี้บัตรเครดิต ที่มี NPLs ต่อสินเชื่อรวม 4.13% ด้านสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรายวัตถุประสงค์ พบว่า หนี้รถยนต์มีสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อฯ อยู่ที่ 14.29%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนผ่านข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า ณ ไตรมาส 2/2567 มีหนี้คงค้างในฐานข้อมูลเครดิตบูโร 13.63 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.5% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 และสูงกว่าช่วงก่อนโควิด (4/2562) ที่มี NPLs ที่ 8% โดยหนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นทั้งในแง่มูลค่าและตัวบัญชี ซึ่งรวมถึงหนี้เสียของสินเชื่อ Nano-Finance ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ หลังจากมีการปรับอัตราการจ่ายขั้นต่ำฯเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือน ม.ค.2567 ทำให้ลูกหนี้มียอดชำระในแต่ละงวดเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับตัวได้ ส่งผลให้มีปัญหาในการชำระคืนหนี้ และ 2.รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบหลากหลายอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการก่อหนี้สินง่ายขึ้น เช่น การให้กู้นอกระบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
นายดนุชา ยังกล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดต่อเศษฐกิจไทยในระยะต่อไป ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่จบ ซึ่งล่าสุดมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย แพร่ น่าน และภูเก็ต จึงต้องมาดูว่าสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกเท่าใด ก่อนจะประเมินว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงใด ในขณะที่ภาครัฐเองจะต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย
นายดนุชา กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) ลงเหลือ 0.23% จากปัจจุบัน 0.46% เพื่อนำมาแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ว่า เรื่องนี้ กระทรวงคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องหารือกันว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง แต่แน่นอนว่า หากลดเงินนำส่งลงครึ่งหนึ่ง การชำระหนี้ FIDF ให้เสร็จสิ้นจะต้องยืดเวลาออกไประยะหนึ่ง และต้องดูด้วยว่าเงินนำส่งฯที่ลดลงไปครึ่งหนึ่งนั้น จะนำไปใช้ทำอะไร
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 โต 2.3% คาดทั้งปี 2.3-2.8%-หนุน‘รัฐบาลใหม่’กระตุ้นเศรษฐกิจ
‘สศช.’ห่วงNPLสินเชื่อบ้านโต 12.4%-เผย'หนี้เสีย' 3 ใน 4 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%