‘สภาพัฒน์’ เปิดฐานข้อมูล ‘เครดิตบูโร’ พบหนี้เสียแตะ 1.09 ล้านล้าน อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสีย ‘สินเชื่อส่วนบุคคล’ บัญชีละ 7.7 หมื่น ส่วนอายุต่ำกว่า 30 ปี หนี้เสีย ‘บัตรเครดิต’ โต 2.5% เผยไตรมาส 4/65 ผู้ว่างงานลดเหลือ 4.6 แสนคน
......................................
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2565 และภาพรวมปี 2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 4/2565 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 3.9% ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรอยู่ที่ 12.2 ล้านคน ลดลง 3.4%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 4/2565 พบว่า ชั่วโมงการทำงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่เฉลี่ย 42.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่เฉลี่ย 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายดนุชา ระบุว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 4/2565 แรงงานในภาพรวมได้ค่าจ้างเฉลี่ย 13,964 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และแรงงานในภาคเอกชนได้ค่าจ้างเฉลี่ย 15,416 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 4.3%
สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4/2565 ลดลงมาอยู่ที่ 1.15% โดยมีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน ขณะที่การว่างงานในระบบปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.68% หรือคิดเป็นผู้ว่างงานในระบบ 1.96 แสนคน ทั้งนี้ การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงต่อเนื่องในทุกระดับการศึกษา และผู้ว่างงานระยะยาวลดลงมาอยู่ที่ 1.1 แสนคน หรือลดลง 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่มีผู้ว่างงานระยะยาว 1.03 แสนคน
ส่วนผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2.1 ล้านคน ลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้ว่างงานแฝงอยู่ที่ 1.5 แสนคน ลดลง 28%
นายดนุชา กล่าวว่า ปัจจัยด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากภาคการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานเด็กจบใหม่ 2.การดูแลค่าครองชีพให้กับแรงงานจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.2566 ขยายตัวถึง 5.02% และ 3.การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนล่าสุดนั้น จากข้อมูลในช่วงไตรมาส 3/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ 86.8% ลดลงจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2/2565) ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 88.1% โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2565
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน พบว่าในช่วงไตรมาส 3/2565 สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับมีการขยายตัว 21.4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า 20% ต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัว 11.8% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมรายวัตถุประสงค์ทรงตัวที่ระดับ 2.62% แต่สินเชื่อยานยนต์ มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายดนุชา ระบุด้วยว่า จากฐานข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) พบว่าในช่วงไตรมาส 3/2565 มีหนี้คงค้างที่เป็น NPL อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ 7.8 แสนล้านบาท และเมื่อไปดูหนี้เสียรายวัตถุประสงค์พบว่าหนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตในกลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนหนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลพบว่า ลูกหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีมูลค่า NPL ขยายตัวค่อนข้างสูง และมีหนี้เสียต่อบัญชีสูงถึง 77,942 บาท
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุ 30-49 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้สูงสุด หรือมูลค่าหนี้เสียคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 59.2% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิดยังคงมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว โดยในช่วงไตรมาส 3/2565 มีมูลค่าหนี้เสีย 4 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 2.2 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/2565 ซึ่งบัญชีหนี้เสียเกือบ 60% มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ โดยสถาบันการเงินต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ หากพบว่ามีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ และการมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้จากผลกระทบของโควิด เช่น การกำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน