‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 เติบโตแค่ 1.8% ต่ำคาด หลังส่งออกติดลบหนัก 5.7% หั่นเป้าเศรษฐกิจทั้งปี 66 เหลือ 2.5-3% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-เบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า
........................................
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2566 ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.7% การอุปโภคภาครัฐที่หดตัว 4.3% และสาขาอุตสาหกรรมที่หดตัว 3.3%
“หลักๆที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 เติบโต 1.8% มาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.7% ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 แล้วก็พันมาที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหดตัว 3.3% ขณะที่การอุปโภคภาครัฐหดตัว 4.3% อันเป็นผลมาจากเงินโอนในลักษณะสวัสดิการที่เป็นตัวเงินเรื่องโควิด-19 ซึ่งไม่มีแล้วในปีนี้ แต่การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำภาครัฐยังขยายตัวได้ 24.7% สูงกว่าไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 2/2565” นายดนุชา กล่าว
สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2566 ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 7.8% ,การลงทุนรวมขยายตัวได้ 0.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1% ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 1/2566) ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัว 1.1% ,การส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวได้ 54.6% ,สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 15% และสาขาก่อสร้างขยายตัว 0.4% เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงส่งสำคัญจากการเร่งตัวของการบริโภคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาครัฐบาลปรับตัวลดลง
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.5-3% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% ,การบริโภคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.7% ,การบริโภคภาครัฐหดตัว 3.1% หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 2.6% ,การลงทุนเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 1.5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.9%
การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ,การส่งออกหดตัว 1.8% จากหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 1.6% ,อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัว 1.7-2.2% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 1.2% ต่อ GDP จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 1.4% ต่อ GDP
ขณะที่สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.8% โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.2% , ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 2.1% ,อัตราแลกเปลี่ยน 33.5-34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ,ราคาน้ำมันดิบดูไบ 77-87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ,การส่งออกขยายตัว -0.5% ถึง 0.5% ,จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีรายรับฯ 1.27 ล้านล้านบาท
“ตัวเลข (จีดีพี) ที่ลดลง เรามองถึง 2 เรื่องหลักๆ คือ เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออไทย อีกส่วนหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายลงทุนของภาครัฐที่จะได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 4/2566 เพราะงบประมาณปี 2567 ยังไม่ออกมา เรามองในส่วนนั้น และปรับลดลงเหลือ 2.5-3%”นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2566 ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี,การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย ,การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนของภาครัฐ และฐานการขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดปี 2566 ได้แก่ เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายลงทุนปีงบ 2567 ที่ล่าช้า ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ ,การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป เพราะแม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/2566 เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักจะดีขึ้น แต่ในระยะถัดไปยังมีปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังค่อนข้างมาก เช่น ดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อ GDP ซึ่งจะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ SME และหนี้ครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงต้องมีเตรียมมาตรการรองรับเพื่อให้มีน้ำเพียงพอในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
“เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และต้องเร่งทำการตลาดการส่งออก เพราะแม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปี 2562 หรือช่วงก่อนโควิด จะมีมูลค่าใกล้เคียงกัน แต่จะต้องเร่งทำตลาดการส่งออกมากขึ้น และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายการลงทุน จึงต้องใช้กลไกกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้เกิดการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด”นายดนุชา ระบุ
นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 รัฐบาลควรให้ความสำคัญใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศรวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก 2.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
3.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 4.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 5.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
นายดนุชา กล่าวถึงปัจจัยสถานการณ์การเมืองที่จะมีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองมีเรื่องเดียว คือ การจัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัญหาความขัดแย้งนั้น แม้ว่าจะมีการประท้วงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีความรุนแรง และไม่ได้ขยายตัวในวงกว้าง หากทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความสงบเรียบร้อยมากที่สุด จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่กำลังรอดูสถานการณ์อยู่ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
“ตอนนี้นักลงทุนต่างประเทศ เขารอดูสถานการณ์อยู่ว่า สถานการณ์ทางเมืองในประเทศไทยเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องพยายามช่วยกันในการรักษาบรรยากาศในช่วงการเปลี่ยนผ่านให้เกิดความเรียบร้อย เพื่อไม่ให้กระทบบรรยากาศในด้านการลงทุน” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน