สศช.เผยไตรมาส 1/66 การจ้างงานยังโตต่อเนื่อง-อัตราว่างงานลดเหลือ 1.05% ไม่เห็นด้วยปรับขึ้น ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ เท่ากันทั้งประเทศ เหตุค่าครองชีพต่างกัน ห่วงระเบิดเวลา ‘หนี้ครัวเรือน’
........................................
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2566 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 1/2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการจ้างงานในภาคเกษตรกรอยู่ที่ 11.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.6% และการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม 28 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.7%
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 1/2566 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยแรงงานในภาพรวมมีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 41.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่แรงงานในภาพรวมมีชั่วโมงการทำงาน 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่มีชั่วโมงการทำงานลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (4/2565) ที่แรงงานในภาพรวมมีชั่วโมงการทำงาน 42.6 ชั่วโมง/สัปดาห์
ส่วนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคน และมีจำนวนผู้เสมือนว่างงานอยู่ที่ 3.4 ล้านคน ลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 3.8 ล้านคน อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไตรมาสก่อน (4/2565) ที่มีจำนวนผู้เสมือนล่วงเวลา 2.1 ล้านคน พบว่าจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 61.9%
สำหรับค่าจ้างแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,118 บาท/คน/เดือน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 13,722 บาท/คน/เดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างที่แท้จริง พบว่า ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และค่าจ้างที่แท้จริงในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.8% สะท้อนความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องการว่างงาน พบว่าในช่วงไตรมาส 1/2566 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน แต่เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานในระบบพบว่าอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.94% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน (4/2565) ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานทั้งที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน รวมถึงผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งการว่างงานตามระดับการศึกษายังลดลงต่อเนื่องในทุกระดับ
ทั้งนี้ ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที 2.รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรมในช่วงถัดไป ที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง และ3.พฤติกรรมการเลือกงานโดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการจ้างงานเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้กับองค์กร
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 4/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือ 86.9% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการขยายตัวของหนี้บ้านและหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ เช่น บัตรกดเงินสด ที่ขยายตัวสูงถึง 20.8%
ด้าน คุณภาพสินเชื่อโดยรวมในช่วงไตรมาส 4/2566 ทรงตัว โดยหนี้เสีย (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.62% ทั้งนี้ ในขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนหนี้เสียลดลง แต่พบว่าสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน พบว่า สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ เพิ่มขึ้นเป็น 13.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2565
“เรื่องหนี้สินครัวเรือนที่ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงแบบนี้ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้น ในเรื่องนี้ทุกๆฝ่าย เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ในกำกับ ผู้ให้บริการด้านการเงินฯ และภาครัฐ ต้องเข้ามากำกับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนธนาคารของรัฐเองก็ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ย้ำว่า สศช.ยังคงมีความกังวลในเรื่องหนี้สินครัวเรือน และเป็นระเบิดเวลา แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องก็ตาม เพราะในเรื่องหนี้ครัวเรือนนั้น หากพุ่งขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะทำให้ลดลงมาในระยะเวลาอันสั้น ต้องอาศัยเวลา ประกอบกับที่ผ่านมาไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ซึ่งทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จึงต้องมีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในระดับบุคคลเองก็ต้องเข้าใจถึงกำลังการใช้จ่ายของตนเอง
“เรื่องหนี้ครัวเรือน เป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ส่วนโอกาสจะระเบิดจริง เท่าที่ดู หากเรื่องการจ้างงานยังไปได้แบบนี้ เศรษฐกิจยังเติบโตได้ ระเบิดก็คงจะไม่ระเบิด แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโต เพราะไปพันในเรื่องใช้จ่าย การปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ รวมทั้งต้องมีการสร้างวินัยทางการเงินทั้งในระดับบุคคลและระดับธุรกิจ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวถึงนโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว ว่า การเพิ่มค่าแรงตามที่ได้มีการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมานั้น มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งในเชิงบวก แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในเชิงลบ ธุรกิจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบางธุรกิจอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก และจะมีการส่งผ่านต้นทุนเหล่านี้ไปยังราคาสินค้า จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าสถานการณ์โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นอย่างไร เพราะจะไปพันไปถึงการตัดสินใจของนักลงทุนต่างประเทศด้วย
“ที่ผ่านมาเราใช้เรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้มีรายได้จากทักษะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องดูสถานการณ์ของประเทศให้ดี หากจะทำเรื่องนี้ และต้องดูภาระที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนด้วย ที่สำคัญหากมีการปรับเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี ทั้งฝั่งรัฐและเอกชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะฝั่งรัฐต้องมาปรับโครงสร้างกระบอกเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และเป็นงบประจำ อันนี้คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงในแต่ละพื้นที่ไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งจะมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา
นายดนุชา ยังกล่าวถึงความเป็นไปในการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ว่า ในต่างประเทศที่มีการจัดรัฐสวัสดิการนั้น เงินที่นำมาใช้จัดทำสวัสดิการฯ จะมีจากฐานรายได้ที่มาจากภาษีค่อนข้างสูงมาก เช่น ฝรั่งเศส หรือสแกนดิเนเวีย ที่มีการเก็บภาษีสูง แต่ในเคสของประเทศไทยนั้น ฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้ว่าจะมีผู้ยื่นแบบ 10-11 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีจริงไม่เกิน 4 ล้านคนเท่านั้น
ดังนั้น ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐในช่วงถัดไป จึงต้องพุ่งเป้า และต้องชัดเจนว่าทำให้กลุ่มไหน กลุ่มเหล่านี้มีปัญหาอย่างไร และต้องให้ความช่วยเหลือแบบใด เพราะการช่วยเหลือแบบถ้วนหน้านั้น จะทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องฐานะการเงินการคลังในระยะยาว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดสวัสดิการฯและการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ
อ่านประกอบ :
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน