‘สภาพัฒน์’ เผยจำนวน ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน จากระดับ 6.07 แสนคน ในช่วงไตรมาสก่อน ขณะที่ ‘หนี้สินครัวเรือน’ อยู่ที่ 14.65 ล้านล้าน คิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี จับตาหนี้เสีย ‘สินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต’
..................................
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 2/2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เช่น สาขาการผลิต ,สาขาค้าส่ง-ค้าปลีก และสาขาขนส่งและเก็บสินค้า
ทั้งนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 27.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8%
สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่า แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงาน 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ และในภาพรวมแรงงานมีชั่วโมงการทำงาน 42.3% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1/2565) ที่มีผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2.2 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 3.8 ล้านคน
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 1.3% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 5.5 แสนคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1/2565) ที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.53% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.07 แสนคน สอดคล้องกับผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมที่มีจำนวน 2.45 แสนคน หรือคิดเป็น 2.17% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีผู้ว่างงานในระบบฯอยู่ 3.05 แสนคน หรือคิดเป็น 2.72% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ
“สถานการณ์การว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มไม่เคยทำงานมาก่อนปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ที่ว่างงานเกิน 1 ปี ปรับตัวลดลงด้วย และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่าอัตราการว่างงานทุกระดับการศึกษาปรับตัวลดลงทั้งหมด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวเรื่อยๆ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านแรงงานที่ สศช.เห็นว่าภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1.ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานหดตัว โดยเฉพาะแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำ 2.การขาดแคลนแรงงานในภาคภาคการผลิตและการก่อสร้าง และ3.ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน โดยเฉพาะปัญหาการหมดไฟในการทำงานของพนักงานเอกชน
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 1/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่ 89.2% อย่างไรก็ดี หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลฯที่ขยายตัวสูงถึง 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัว 2.5% สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2565 พบว่ายังคงทรงตัว โดยสัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง NPLs ของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต เพราะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 12.5%
“ด้วยภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงถัดไป คงจะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งอยากขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐช่วยตรึงดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่ง เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแรงมากขึ้นกว่านี้” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.