“…เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบสวนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก อันไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งตาม พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496…”
...................................
เป็นอีกคดีที่น่าสนใจ
เมื่อ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.714/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1278/2567 ลงวันที่ 20 พ.ย.2567 ซึ่งเป็นคดีที่ นายปัณยา สำเภารัตน์ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2) ต่อศาลปกครอง
โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ที่มีมติวินิจฉัยว่า นายปัณยา (ผู้ฟ้องคดี) ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ไม่ดำเนินการกับ นาย ส. ซึ่งบุกรุกทางสาธารณประโยชน์บริเวณบ้านชุมเพาะ ม.9 ต.ป่าคลอก
จึงมีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ (ประมวลกฎหมายอาญา ม.157) และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ฯ (ม.73 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2567 ลงวันที่ 25 พ.ค.2565 ที่ให้นายปัณยา พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2567 และให้นายปัณยาสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอกต่อไปได้
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2567 ที่ให้นายปัณยา พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ไม่มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ เพื่อทำการสอบสวนฯ ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของนายปัณยา (ผู้ฟ้องคดี) เสียก่อน
จึงเป็นกรณีการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่งให้ นายปัณยา (ผู้ฟ้องคดี) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘คำวินิจฉัย’ ของศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ออกมา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
@‘ป.ป.ช.’ชี้มูลผิดอาญา‘นายกเทศฯป่าคลอก’ส่ง‘มท.’ดำเนินการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) จะมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี หรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก มีกรณีถูกกล่าวหาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีไม่ดำเนินการกับ นาย ส. ที่บุกรุกทางสาธารณประโยชน์บริเวณบ้านชุมเพาะ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
หลังจากทำการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) มีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 01.01 (ภก)/0661 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ส่งรายงานและเอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ มท 0804.3/5720 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 98 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน จึงมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ภก 0023.4/257 ลงวันที่ 20 เมษายน 2565 มอบหมายให้นายอำเภอถลาง ปฏิบัติการแทนตามมาตรา 71 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 โดยให้ดำเนินการกับผู้ฟ้องคดีตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ต่อมานายอำเภอถลางได้มีหนังสือ ลับ ที่ ภก 0023.9/0032 ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 รายงานผลการพิจารณา โดยเห็นพ้องตามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ควรมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) ได้มีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป้าคลอก ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565
@การพิจารณา‘โทษวินัย’เท่านั้น ให้เป็นไปสำนวนสอบสวน‘ป.ป.ช.’
จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อเท็จจริงข้างต้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) แล้วส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
และปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปนั้น เป็นไปตามมาตรา 98 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ซึ่งมิใช่กรณีการพิจารณาโทษทางวินัยที่มาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่บัญญัติว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น พิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก
โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี แต่อย่างใด
ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 98 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติยกเว้นไว้เฉพาะการพิจารณาโทษทางวินัยเท่านั้น ที่ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย หาได้บัญญัติให้รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นและรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยด้วย
เมื่อฐานความผิดของผู้ฟ้องคดี กรณีกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูล
และประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ซึ่งตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา 71 วรรคสอง ว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาลผู้ใดจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอที่สั่งการตามมาตรา 72 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบ (60) วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงและมาตรา 73/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผลการสอบสวนตามมาตรา 73 ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวน ถ้าเป็นการดำเนินการสอบสวนของนายอำเภอให้นายอำเภอรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง
ถ้าเป็นการดำเนินการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสอง (2) ปี โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้
และให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่ง แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีคำสั่งนั้น
ถ้าในขณะที่มีคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น อันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และให้ถือว่าวันที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการภายในสามสิบ (30) วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน
@เพิกถอนคำสั่งเด้ง‘นายกเทศฯป่าคลอก’เหตุไม่ตั้ง‘คกก.สอบสวน’
ในกรณีนี้นายอำเภอถลาง ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) จึงต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496
ประกอบข้อ 1 และข้อ 3 ของกฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในเทศบาล พ.ศ.2563 ก่อนที่จะรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
เช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบสวนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา)
ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) จะมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก อันไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งตาม พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์อื่นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก สมัยที่สอง
ตามมติวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ ส่วนคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นั้น ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน โดยให้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก สิ้นผลลงนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษานี้
@ศาลฯชี้‘มติ ป.ป.ช.’ไม่ชอบ แต่ไม่เพิกถอนเหตุไม่ใช่‘คำสั่งทางปค.’
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับคดีนี้ ในการต่อสู้คดีในศาลปกครองชั้นต้นนั้น ศาลปกครองชั้นต้น ได้วินิจฉัยและมีความเห็นว่า มติ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่เนื่องจาก มติ ป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นเพียง ‘การพิจารณาทางปกครอง’ มิใช่ ‘คำสั่งทางปกครอง’ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.3539 ที่ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) จะมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนได้ ศาลจึงไม่จำต้องเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว
“การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติวินิจฉัยตามที่คณะไต่สวนเบื้องต้นมีความเห็นว่า การรังวัดสอบเขตทางสาธารณประโยชน์ที่พิพาท เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 เป็นการรังวัดถูกต้องแล้วนั้น
ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
อีกทั้งในเวลาต่อมาผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) ใช้ดุลพินิจในการระงับข้อพิพาท โดยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งเทศบาลตำบลป่าคลอก ที่ 1107/2557 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ให้มีการสอบสวนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและให้โอกาสแก่นาย ส. ได้โต้แย้งแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินระหว่างรัฐกับเอกชน
ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะได้มีหนังสือเทศบาลตำบลป้าคลอก ที่ ภก 53101/3200 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 มอบอำนาจให้นาย ว. ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรถลาง เพื่อดำเนินการติดตามนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในข้อ 6 (1) ก. ค. (2) (3) (4) (5) (6) และข้อ 8 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ.2539
ตลอดจนผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือเทศบาลตำบลป่าคลอก ที่ ภก 53101/3981 และที่ ภก 53101/3982 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 แจ้งให้นาย ส. และนาง อ. รื้อถอนต้นยางพาราและสิ่งปลูกปักใดๆ ให้พ้นจากที่ดิน อันเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน
และได้มีหนังสือเทศบาลตำบลป่าคลอก ที่ ภก 53101/4381 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2561 แจ้งให้ นาย ส. ดำเนินการรื้อถอนต้นยางพาราและสิ่งปลูกปักใดๆ ให้พ้นจากที่ดินอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน อีกครั้งหนึ่ง
ในเวลาต่อมา นาย ส. ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ยินยอมยกที่ดินตามแนวเขตที่เทศบาลตำบลป่าคลอก ปักหลักเสาปูนเป็นแนวไว้แล้ว โดยนาย ส. ได้ทำการรื้อถอนโค่นต้นยางพาราออกจากแนวเขตทางสาธารณประโยชน์ที่พิพาทเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561
กรณีเช่นว่านี้ ย่อมทำให้ข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาที่สำคัญเพียงประการเดียวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) หมดสิ้นไป ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ 108/2565 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564
หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาก่อนมีมติวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ฟ้องคดี ย่อมทำให้การไต่สวนถูกต้องตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ประกอบกับเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) ระงับข้อพิพาท โดยให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน และไม่ต้องฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกออกจากบริเวณพิพาทให้เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับข้อ 4 และข้อ 5 ของคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 158/2501 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติในการรังวัดทำแผนที่และการระวังแนวเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งเกิดขึ้นโดยสภาพ ลงวันที่ 3 มีนาคม 2501
ดังนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดี ละเลยต่อหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่หรือทางสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551
ประกอบกับข้อ 6 วรรคสอง และวรรคสาม ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ.2553 แต่อย่างใด
และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดี (นายปัณยา) มีเจตนาประวิงเวลาโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีพฤติการณ์ประวิงเวลาร้องทุกข์กล่าวโทษโดยทุจริตเพื่อช่วยเหลือผู้บุกรก
จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก สมัยที่สอง ตามมติวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564
จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) ที่จะถือว่าสำนวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก
เนื่องจากไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องเสนอความเห็น พร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546
ส่วนมติวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการประชุมครั้งที่ 108/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นั้น เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3477/2565 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต
แม้ศาลเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นเพียงการพิจารณาทางปกครอง มิใช่คำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ผู้ฟ้องคดีจะมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนได้ ศาลจึงไม่จำต้องเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นระบุ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยระบุถึงพฤติการณ์ของนายปัณยา (ผู้ฟ้องคดี) และยืนยันว่านายปัณยา มีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ (ม.73 พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496)
และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งการไต่สวนและมีคำวินิจฉัยความผิดของนายปัณยา นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับฟังทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล รวมทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายปัณยา หาได้รับฟังเฉพาะพยานซึ่งเป็นหนังสือสำนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ตเท่านั้น
แต่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้แต่อย่างใด
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ก่อนมีคำสั่งให้ ‘เพิกถอน’ คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่สั่งให้ ‘นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก’ พ้นจากตำแหน่ง กรณีไม่ดำเนินการกับ ‘ผู้บุกรุก’ พื้นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจากไม่มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ เพื่อสอบสวนในกรณีนี้ก่อน หลังจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฯ และส่งเรื่องให้ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ดำเนินการ!
อ่านประกอบ :
เมื่อคดีอาญายกฟ้อง...จะขอให้ยกเลิกโทษทางวินัยได้หรือไม่?
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ตีความอำนาจ‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิดวินัย หลัง'ไอแบงก์'ขอหารือลงโทษ'พนง.'
‘กฤษฎีกา’ชี้แนวลงโทษวินัย‘ขรก.’ถูก‘ป.ป.ช.’ชี้มูลฯ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผล‘คดีอาญา’