‘สศช.’ เผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/67 เติบโต 3% เร่งตัวจากไตรมาสก่อน จาก ‘การบริโภค-การลงทุน-ภาคท่องเที่ยว’ ที่ขยายตัวได้ดี คาดทั้งปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% ส่วนปีหน้าโต 2.3-3.3% พร้อมจับตาผลกระทบนโยบาย ‘กีดกันทางการค้า’ ของสหรัฐฯ แนะรัฐเร่งเบิกจ่าย ‘ลงทุน’ บรรเทาผลกระทบส่งออกส่อร่วง
...........................................
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 2/2567) ที่ขยายตัว 2.2% โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคการใช้จ่ายและภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นภาคเกษตรที่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3/2567 การบริโภคเอกชน ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ,การอุปโภคภาครัฐบาล ขยายตัว 6.3% ,การลงทุนรวม ขยายตัว 5.2% โดยการลงทุนภาคเอกชน หดตัว 2.5% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 25.9% ,ปริมาณการส่งออกสินค้า ขยายตัว 8.3% ,ปริมาณการส่งออกบริการหรือภาคการท่องเที่ยว ขยายตัว 21.9% ,สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.1%
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 8.4% ,สาขาการค้า ขยายตัว 3.5% , สาขาการขนส่ง ขยายตัว 9% ,สาขาก่อสร้าง ขยายตัว 15.5% ,สาขาการเงิน ขยายตัว 1.8% และภาคเกษตร หดตัว 0.5%
“ถ้าเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 (ปรับฤดูกาลแล้ว) ยังขยายตัวได้ 1.2% และถ้าคิดเป็น 9 เดือนของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.3%” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3-2.8% โดยการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.8% ,การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะหดตัว 0.5% ,การบริโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ,การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.4% ,มูลค่าการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 3.8% ,อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัว 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะเกินดุล 2.5% ต่อจีดีพี
“ถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ ก็ยังขยายตัวได้อยู่ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ ผมยังไม่ตอบตอนนี้ แต่ถามว่ายังขยายตัวไหม ผมคิดว่ายังขยายตัวอยู่ แต่ด้วยตัวเลขเท่าไหร่ คงไม่ตอบ” นายดนุชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/2567 หรือไม่
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% ค่ากลาง 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3% ,การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ,การบริโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 2.1% ,การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 6.5% ,มูลค่าการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ,อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัว 0.3-1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 2.6% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2568 เช่น เศรษฐกิจโลกปี 2567 ขยายตัว 3% และปี 2568 ขยายตัว 3% ,ปริมาณการค้าโลกปี 2567 ขยายตัว 4.7% และปี 2568 ขยายตัว 4.5% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2567 อยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และปี 2568 อยู่ที่ 75-85 อยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 จำนวน 36 ล้านคน (รายรับ 1.5 ล้านล้านบาท) และปี 2568 จำนวน 38 ล้านคน (รายรับ 1.63 ล้านล้านบาท)
“ในปี 2568 มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะและมีความผันผวนค่อนข้างมาก สศช.คาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัว 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางประมาณ 2.8% ซึ่งอันนี้เราได้รวมความเสี่ยงในแง่ความผันผวนเข้ามา เช่น เรื่องสงครามการค้าต่างๆ แล้ว” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ จากงบลงทุนรวมในปีงบ 2568 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2.การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ จากการลงทุนเอกชนแนวโน้มกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง
3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 4.การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางการค้าโลก รวมทั้งยอดคำสั่งซื้อใหม่ และแนวโน้มวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2568 ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันทางการค้า รวมถึงความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบที่ยังดำรงอยู่ เป็นต้น
“ในปีหน้า การลงทุนภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะต้องเข้าไปดูในเรื่องการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุน และการจัดทำแผนลงทุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ คงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ตอนนี้ว่า แนวโน้มของมาตรการ (กีดกันทางการค้า) จะออกมาอย่างไร มีความหนักเบาและช่วงเวลาอย่างไร
เพราะในสมัยที่ 2 (ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) อาจจะไม่เหมือนกับสมัยที่ 1 เนื่องจากเขาอาจมีข้อมูลต่างๆพร้อมแล้ว ซึ่งอาจจะออกมาตรการมาทีเดียว หรืออาจจะค่อยๆ ออกมาแล้วเจรจาต่อรองไปเรื่อยๆก็ได้ ซึ่งตรงส่วนนี้ต้องติดตามสถานการณ์ ส่วนผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยนั้น ในช่วงที่เหลือของปี 2567 และในช่วงต้นปี 2568 น่าจะยังไม่มี แต่เมื่อมีมาตรการออกมาแล้ว ก็ต้องมาดูว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้า” นายดนุชา ระบุ
2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ท่ามกลางระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และ3.ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตรทั้งภาคการผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตที่จะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า
“หนี้ครัวเรือนในปีหน้า ผมคิดว่ายังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ เพราะหนี้ครัวเรือน เวลาเกิดขึ้นแล้ว มันลดยาก ซึ่งต้องดูว่ามาตรการที่ออกมาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจะมีผลมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ทำกันตอนนี้ คาดว่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนตลาดการเงินที่มีแนวโน้มผันผวนนั้น คงเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ”
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568ควรให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็น ได้แก่
1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น 2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร 5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง
นายดนุชา กล่าวถึงผลกระทบการโอนเงิน 10,000 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ต่อเศรษฐกิจ ว่า การโอนเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย.2567 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2567 ส่วนการโอนเงินในรอบถัดไปนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะมีมติออกมาอย่างไร ซึ่งการพิจารณาในเรื่องนี้จะต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงแนวโน้มในช่วงถัดไปด้วย
“ในปีหน้า ความเสี่ยงต่างๆก็น่าจะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น การใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจคงต้องมีการพุ่งเป้าที่ตรงเป้ามากขึ้น อันนี้เดี๋ยวต้องมีการพูดคุยกันอีกที” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
สศช.เผย‘ว่างงาน’ไตรมาส 2/67 แตะ1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังโควิด-NPLs หนี้ครัวเรือน 2.99%
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 โต 2.3% คาดทั้งปี 2.3-2.8%-หนุน‘รัฐบาลใหม่’กระตุ้นเศรษฐกิจ
‘สศช.’ห่วงNPLสินเชื่อบ้านโต 12.4%-เผย'หนี้เสีย' 3 ใน 4 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%