สศช.เผยการจ้างงานไตรมาส 3/66 ดีขึ้น ว่างงานลดเหลือ 0.99% ขณะที่ค่าจ้างเติบโต 9% ห่วงลูกหนี้เสียจากโควิด-19 เพิ่มเป็น 4.9 ล้านบัญชี จับตา ‘หนี้เสียรถ’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
.........................................
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 40.1 ล้านคน ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 2% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 8.3%
อย่างไรก็ดี ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.6 ล้านคน หรือลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 1.9 ล้านคน และผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวน 2 แสนคน ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ด้านค่าจ้างแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2566 ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมอยู่ที่ 15,367 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 0.99% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานจะลดลง ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และการว่างงานลดลงเกือบทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุน้อยยังคงมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง
นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมของไทยรองรับแรงงาน 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่มีสัดส่วน GDP เพียง 6.3% และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2.การหดตัวของการส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต และ3.ระดับราคาที่สินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
@หนี้ครัวเรือน 16.07 ล้านล้าน-หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้นมากสุด
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2/2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ในขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพีเท่ากับไตรมาส 1/2566 ที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี
“สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวได้อยู่ ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเร่งขึ้นมาก ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ สินเชื่อบัตรเครดิตไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนักและมีแนวโน้มลดลงด้วย” นายดนุชากล่าว
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2566 พบว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.71% จากไตรมาสก่อน (1/2566) ที่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% โดยสินเชื่อรถยนต์เป็นสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นของ NPL สูงสุด และมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SML) สูงถึง 14.39%
นายดนุชา ระบุว่า ในเรื่องหนี้สินครัวเรือน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ ดังนั้น นอกจากการมีมาตรการพักหนี้ฯแล้ว จำเป็นต้องมีการยกระดับรายได้ของเกษตรกรด้วย เช่น การปรับปรุงการผลิต และการสร้างตลาด 2.การเร่งปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2566 มีลูกหนี้เสียจากโควิด (รหัสบัญชี 21) 4.9 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท
“หนี้รหัส 21 ถ้าเป็นประเภทธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว น่าจะปรับตัวขึ้นมาได้บ้างแล้ว แต่ถ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวพันกับการส่งออกอาจต้องไปดูรายละเอียดอีกที แต่โดยรวมแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดมาต่อเนื่อง และมีมาตรการต่างๆออกไปมาก โดยเฉพาะมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลงไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังออกมาประมาณนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการ” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน