‘สศช.’ เผยไตรมาส 3/65 จ้างงานเพิ่มขึ้น-อัตราว่างงานลดลง แต่ ‘ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริง’ หดตัว 3.1% จากปัจจัยเงินเฟ้อ ขณะที่ 'หนี้สินครัวเรือน' ไตรมาส 2/65 ขยายตัว 3.5% ห่วงกลุ่มคนอายุ 41 ปีขึ้นไป ‘หนี้เสีย’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
......................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3/2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัว 4.3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงหดตัวที่ -2.4% เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ที่ผ่านมา
สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2565 พบว่า แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงาน 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงไตรมาส 3/2562 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.8 ล้านคน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 1.9 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหรือไตรมาส 2/2565 ที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ด้านชั่วโมงการทำงานของแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ เมื่อพิจารณาในด้านค่าจ้างแรงงาน พบว่าค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาพรวม ในช่วงไตรมาส 3/2565 หดตัว -3.1% จากปัญหาเงินเฟ้อ
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 1.23% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้จบการศึกษาใหม่ 2.6 แสนคน และเมื่อแยกตามระดับการศึกษา ยังคงพบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 1.85 แสนคน ซึ่งกว่า 60% เป็นผู้จบการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจ
สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลภาระครองชีพของแรงงาน เพราะแม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานในระบบไปแล้ว แต่แรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ของแรงงานทั้งหมด ยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ซึ่งมีสัดส่วน 84.2% และเป็นกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย 2.การเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะเกษตรกรยากจน
และ3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่ 88.2% ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาก่อนก่อน แต่พบว่าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ มีการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“แม้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงแทบทุกสินเชื่อ แต่สินเชื่อบัตรเครดิตและและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับฯ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราการการขยายตัวเร่งตัวขึ้นมาก โดยขยายตัว 8.8% ในช่วงไตรมาส 2/2565 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.5% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการใช้เงินล่วงหน้า เพื่อทำให้การใช้เงินในอนาคตลดลง” นายดนุชา กล่าว
ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่า สัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.62% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.69% อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ต้องติดตามเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.สัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน
2.กลุ่มลูกหนี้อายุ 41 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ 3.ลูกหนี้ที่หนี้กลายเป็น NPLs จากผลกระทบของโควิด-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 2/2565 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 4.3 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 3.96 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 2.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.2 แสนล้านบาท
4.ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
5.ในช่วงถัดไปครัวเรือนที่ประสบปัญหาอุทกภัย มีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ 6.อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“เรื่องหนี้ครัวเรือน คงต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่างๆ โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาจากผลพวงของโควิด-19 และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุ การมีมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม และครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโควิด รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน” นายดนุชา ระบุ
นายดนุชา ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคส่งออก ว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะภาคส่งออก แต่คงต้องมาดูด้วยว่า อุตสาหกรรมส่งออกใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่แรงงานเองต้องมีการเตรียมตัว ต้องพัฒนาทักษะ และระมัดระวังการก่อหนี้
อ่านประกอบ :
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.