‘สภาพัฒน์’ ห่วงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท/วัน กดดันภาคอุตสาหกรรมหันใช้ ‘หุ่นยนต์’ ก่อนปลดแรงงานตามมา ขณะที่ภาครัฐต้องปรับ ‘ฐานเงินเดือน’ ข้าราชการทั้งระบบ สร้างภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น
........................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรครณรงค์หาเสียง โดยมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน ภายในปี 2570 ว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว โดยการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปลดคนงานในเวลาต่อมา
“เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แน่นอนว่าถ้ามีการขยับขึ้น เรื่องการปรับ Skill set (ชุดทักษะ) แรงงานให้สอดคล้องกับค่าแรงที่เรากำลังทำอยู่ ก็ต้องถูกปรับไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่มีทักษะและคนที่ไม่มีทักษะ แต่นั่นก็จะทำให้ภาระตกอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูว่า รับไหวหรือเปล่า และถ้ามีการปรับขึ้นมาขนาดนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ภาคอุตสาหกรรมคงต้องปรับไปใช้หุ่นยนต์ก่อน ถ้าเขาสามารถทำได้ ซึ่งจะพันมาที่การปลดคนงานต่อ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา เห็นว่า สิ่งที่น่าจะต้องทำ คือ การเน้นไปที่การเพิ่มทักษะแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนรับได้ ขณะที่ตลอดหลายปีที่ผ่าน ภาครัฐได้พัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับรายได้ที่แรงงานได้รับ
ส่วนนโยบายให้ผู้จบปริญญาตรีได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท นั้น นายดนุชา กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น การปรับเพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นเป็นเดือนละ 15,000 บาทในคราวที่แล้ว ทำให้ภาครัฐต้องปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ ซึ่งสร้างภาระงบประมาณพอสมควร
“ถ้าไปดูเรื่องการเพิ่มเงินเดือนของเด็กจบใหม่ อันนี้จะกระทบทั้งส่วนของภาคเอกชน และส่วนภาครัฐด้วย เพราะเวลาภาครัฐจ้างงานเด็กจบใหม่นั้น อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็นเดือนละ 15,000 บาท รัฐบาลต้องปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการ เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างข้าราชการที่ทำงานอยู่แล้วกับน้องๆที่เข้ามาทำใหม่ ซึ่งการปรับฐานเงินเดือนขึ้นมาตรงนี้ เป็นกับภาระงบประมาณของภาครัฐพอสมควร
และแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมาแล้ว แต่ผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังคงทำให้ภาครัฐมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลังอยู่ และจำเป็นต้องดูในแง่วินัยการเงินคลังที่เคร่งครัดในช่วงถัดไป ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องพิจารณาให้ดี โดยสิ่งที่น่าจะทำมากกว่า คือ ทำให้แรงงานของเรามีคุณภาพ มีทักษะมากขึ้น และปรับขึ้นค่าแรงงานต้องสอดคล้องกับชุดทักษะของเขา จึงน่าจะไปเน้นตรงนั้นมากกว่า” นายดนุชา กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ อดีต ผอ.ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฯ TDRI กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน ภายในปี 2570 เป็นสิ่งที่ทำได้ และจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบริโภคให้กับแรงงาน หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ในช่วงที่ผ่านมาแรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า หากจะมีการปรับขึ้นเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะต้องปรับให้สอดคล้องกับโครงสร้างค่าจ้างของแต่ละอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งทุกอย่างมีสูตรคำนวณอยู่แล้ว ดังนั้น จะไปพูดรวมๆว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาททุกอุตสาหกรรมเลย คงไม่ใช่ เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าแรงงานไม่เท่ากัน
อ่านประกอบ :
ทำได้จริงหรือ? ส่องไอเดีย 4 พรรคการเมือง ประชันนโยบายหาเสียง หลัง Effects ค่าแรง 600 บ.
ข้อถกเถียงว่าด้วย ค่าแรงขั้นต่ำ : ไม่ว่าค่าแรงเท่าไร แรงงาน คือ ทุนมนุษย์ เหมือนกัน ???
723 บ./วันขึ้นไป! สหภาพคนทำงานแถลงค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมากกว่า 600
‘ทักษิณ’ ป้อง ‘เพื่อไทย’ ยันค่าแรง 600 บาท/วัน ทำได้จริง