‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หลังได้รับแรงส่ง ‘การบริโภคภาคเอกชน-ภาคการท่องเที่ยว’ พร้อมปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 67 เหลือ 2-3% จากผลกระทบ ‘สหรัฐ’ กีดกันสินค้า ‘จีน’ ประเมิน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ กระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้โตเพิ่มอีก 0.25%
........................................
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้สูง คือ ขยายตัวได้ที่ 6.9% และการส่งออกบริการหรือภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 24.8%
ขณะเดียวกัน สาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการยังคงขยายตัวได้ทั้งหมด โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวได้ 22.8% ,สาขาขนส่งขยายตัวได้ 9.4% ,สาขาการค้าขยายตัว 4.3% และสาขาการเงินขยายตัวที่ 2.9%
อย่างไรก็ตาม สาขาก่อสร้างหดตัวสูงถึง 17.3% ซึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินก่อสร้างของภาครัฐที่หดตัวจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ทำให้ในช่วงไตรมาส 1/2567 ต้องใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน ,การบริโภคภาครัฐบาลหดตัว 2.1% ซึ่งเป็นผลจากการใช้งบประมาณไปพลางก่อนเช่นกัน ,การลงทุนรวมหดตัว 4.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ 4.6% แต่การลงทุนภาครัฐหดตัวสูงถึง 27.7%
ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัว 2% โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1/2567 การส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่พอถึงเดือน มี.ค.2567 การส่งออกกลับหดตัวถึง 10% ,ภาคการเกษตรหดตัว 3.5% จากสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตลดลง และสาขาอุตสาหกรรมหดตัว 3%
“ถ้าเทียบไตรมาส 1/2567 กับไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจไทยในแง่ไตรมาสต่อไตรมาส ขยายตัว 1.1% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ในช่วงไตรมาส 4/2566 เทียบกับไตรมาส 3/2566 เราหดตัวไป 0.4% ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เศรษฐกิจไทยในเชิงไตรมาสต่อไตรมาสสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ จากแรงส่งของภาคการบริโภคและภาคบริการเป็นหลัก” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2-3% โดยมีค่ากลาง 2.5% ซึ่งปรับลดลงจากประมาณครั้งก่อนที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.2-2.7% โดยมีค่ากลาง 2.5% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันทางการค้าที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น และเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ รวมทั้งความผันผวนด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก
ทั้งนี้ สศช.ประเมินว่า ในปี 2567 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ,การอุปโภคภาครัฐบาลน่าจะขยายตัวที่ 1.7% ,การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีที่ 3.2% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐจะหดตัว 1.8% ส่วนมูลค่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ที่ 2% ,อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลที่ 1.2% ต่อจีดีพี
นายดนุชา กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเลตเข้าไป แต่ถ้าดูไทม์ไลน์ของโครงการฯ ซึ่งกำหนดให้ใช้จ่ายเงินได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 และมีระยะเวลาใช้จ่ายได้ 6 เดือน นั้น สศช.คาดว่า การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง คงไม่ได้ใช้จ่ายทีเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาท ภายในช่วงไตรมาส 4/2567 และคาดว่าการใช้จ่ายเงินจากโครงการฯที่ออกมาในช่วงไตรมาส 4/2567 จะเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.25%
“0.25% เป็นตัวที่บวกเพิ่มจากค่ากลางที่ประมาณการไว้ 2.5% แต่ตัวเลข 0.25% นี้ ผมไม่ได้คาดว่า จะเบิกจ่ายออกมาได้ 5 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/2567 ทั้งหมด เพราะมีปัจจัยหลายตัวที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้านค้า กระบวนการรับ-จ่าย ตัวระบบ โดยเราคาดว่า เงินจะออกมาบางส่วนก่อน เช่น เงินที่มีแหล่งเงินที่ชัดเจนแล้วอย่างงบประมาณ ในขณะที่แหล่งเงินอื่นๆอยู่ระหว่างดำเนินการ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ 1.แรงส่งที่เกิดจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ และการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการเพิ่มวงเงินงบประมาณฯ ปี 2568 2.การอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องมีการทำตลาดเพิ่มขึ้นในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่น และ4.การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆของการส่งออก ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ได้แก่ 1.ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มรถยนต์และเริ่มมีปัญหาสินเชื่อในภาคที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้ประกอบการ SME มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเป็นสภาพคล่องในการบริหารกิจการ ซึ่งธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงินจะต้องพิจารณาในมาตรการฯที่จะทำให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น
2.ความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตภาคการเกษตร โดยอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง และในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีปัญหาอุทกภัยจากภาวะลานีญา
และ 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ,ความเสี่ยงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักที่มีนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง ,การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจจะเกิดขึ้น และความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายๆประเทศในช่วงถัดไป โดยเฉพาะการที่สหรัฐใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งไทยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทุ่มตลาด
“ถ้าดูในแง่มาตรการที่ (สหรัฐ) ออกมาในช่วงนี้ จะพุ่งเป้าไปที่สินค้าจีนเป็นหลัก ซึ่งในคราวที่แล้ว ตัวที่มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เราเองก็ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่อันนี้คงต้องไปดูในรายละเอียดว่า แต่ละเรื่องที่ออกมา มีผลกระทบต่อสินค้าไทยมากน้อยแค่ไหน แต่โดยรวมแล้ว
สิ่งที่เราต้องเฝ้าระวัง คือ การทุ่มตลาด เพราะถ้าคู่ค้าส่งสินค้าเข้าไปสหรัฐไม่ได้ มีการกีดกัน สินค้าเหล่านั้นก็ต้องหาที่ไป ซึ่งก็ตลาดในภูมิภาคนี้ และจะผลกระทบต่อผู้ผลิตเราด้วย อย่างในช่วงปี 2562 จะเห็นได้ว่ามีสินค้าที่ทะลักเข้ามา เช่น เหล็ก “นายดนุชา กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกไทย
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 2.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง 3.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
4.การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ และ5.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
เมื่อถามว่า สศช.ยังคงสนับสนุนเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า “ผมคิดว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องไปคู่กัน ซึ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณากันในหลายๆมุม อันนี้อยู่ที่ข้อมูล ถ้าชั่งน้ำหนักก็ต้องดูทั้งเรื่องในประเทศและเรื่องในประเทศด้วย ถ้าเรามีการปรับไป ก็ต้องดูให้รอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการไหลลงของอัตราแลกเปลี่ยน
ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนไหลลง แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีต่อการส่งออก แต่ต้นทุนภายในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนราคาพลังงาน จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี แต่ส่วนที่น่าจะมีการดำเนินการ คือ การลดภาระให้ SME และภาคครัวเรือน โดยน่าจะต้องมีการพูดคุยกัน โดยเฉพาะเรื่อง net interest margin (อัตราดอกเบี้ยสุทธิ) ที่ยังมีการพูดกันอยู่ แต่ก็ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์ที่ลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางลง 0.25% แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง”
นายดนุชา ย้ำว่า “เรื่องนโยบายในเรื่องตัวอัตราดอกเบี้ย ผมคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ ถ้าเราผ่อนคลายมาตรการในด้านสินเชื่อลงบ้าง เพียงแต่ว่าจะต้องดูข้อมูลผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายให้ชัดเจน ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องของทั้งครัวเรือนและ SME ดีขึ้น”
อ่านประกอบ :
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%