‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% จากการเร่งตัวของ ‘การบริโภคเอกชน-ภาคบริการ’ มองทั้งปีจีดีพีเติบโต 2.7-3.2% เงินเฟ้อเฉลี่ย 6.3-6.8%
...............................
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (QGDP) ไตรมาสที่ 2/2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวของการอุปโภคบริโภคเอกชนที่ขยายตัวที่ 6.9% การส่งออกบริการที่ขยายตัว 54.3% สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่ขยายตัว 44.9% และการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ 4.6% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนรวมหดตัว -1.0% โดยเป็นการหดตัวของการลงทุนภาครัฐที่หดตัว 9% แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ที่ 2.3% ขณะที่สาขาก่อสร้างหดตัว -4.5% และสาขาอุตสาหกรรมหดตัว -0.5%
“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 2.4% และถ้าดูอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาส จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2564 โดยในไตรมาสที่ 2/2565 เรายังขยายตัวได้ 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2565 จึงค่อนข้างจะชัดเจนว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การส่งออกบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น แม้ว่าการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงบ้าง” นายดนุชา กล่าว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.7-3.2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และ 3.1% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3-6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุล 1.6% ของจีดีพี
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ 8 ประเด็น ได้แก่
1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า
2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต ,การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และการเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย
3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ
4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ ,การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน
5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ,การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ ,การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562-2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ,การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ,การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค ,การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง
7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
อ่านประกอบ :
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.