‘สภาพัฒน์’ เผยจ้างงานในไตรมาส 4/66 ขยายตัว 1.7% ‘อัตราว่างงาน’ ลดลงเหลือ 0.81% ระบุ ‘หนี้ครัวเรือน’ ไตรมาส 3/66 ขยายตัว 3.3% แต่ ‘หนี้เสีย’ พุ่งแตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 7.9% พบ ‘หนี้เสียรถยนต์’ เพิ่ม 27.3% ส่วนหนี้เสีย ‘บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล’ เพิ่มเกิน 10% ขณะที่ ‘หนี้เสียบ้าน’ เพิ่ม 2.4%
...........................................
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 ว่า การจ้างงานไตรมาส 4/2566 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 40.3 ล้านคน ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 1% และนอกภาคเกษตรกรรม ที่ขยายตัว 2% โดยเฉพาะการจ้างงานสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัว 8% ขณะที่การจ้างงานในสาขาผลิตหดตัว 2.3%
ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 4/2566 ยังคงปรับตัวดีขึ้นและจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับลดลง โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.9 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาอยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2 ล้านคน ลดลง 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวน 2 แสนคน ลดลง 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยไตรมาส 4/2566 ค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และค่าจ้างแรงงานในภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาท/คน/เดือน ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 0.81% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ว่างงานลดลงทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่การว่างงานในระยะยาวปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนผู้ว่างงานปรับตัวลดลงในทุกระดับการศึกษา
สำหรับภาพรวมการจ้างงานในปี 2566 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.9 ล้านคน ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยการจ้างงานในภาคเกษตรมีจำนวน 12 ล้านคน ขยายตัว 1.1% และการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีจำนวน 27.9 ล้านคน ขยายตัว 2.1% ส่วนชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.3 ชั่วโมง/สัปดาห์ และอัตราการว่างงานในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 0.98% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2562
นายดนุชา ระบุว่า ในส่วนประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต 2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยในช่วงไตรมาส 4/2566 มีตำแหน่งงานว่าง 1.79 แสนตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้น 19.2% แต่มีผู้สมัครงานใหม่เพียง 9,358 คน สะท้อนถึงการภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรง โดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. และ3.การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI
@หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/66 โต 3.3%- ‘หนี้เสีย’เพิ่ม 7.9%
นายดนุชา กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนว่า จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนถึงการชะลอการก่อหนี้ของครัวเรือนในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อยานยนต์มีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อน
“ในช่วงไตรมาส 3/2566 สินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงขยายตัวอยู่ในระดับค่อนข้างเยอะ โดยขยายตัว 15.6% จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการเข้าไปดูแลระบบที่จะลดการก่อหนี้ในส่วนนี้ลง” นายดนุชากล่าว
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3/2566 พบว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.79% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน (2/2566) ที่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.71%
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าและการขยายตัวของหนี้เสีย (NPL) แยกรายวัตถุประสงค์ พบว่า ในช่วงไตรมาส 3/2566 จำนวนหนี้เสียรวมอยู่ที่ 1.52 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อรถยนต์ มีหนี้เสียฯเพิ่มขึ้น 27.3% และสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 14.55% ,สินเชื่อส่วนบุคคล มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 10.2% ,สินเชื่อบัตรเครดิตมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 13.6% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีหนี้เสียเพิ่ม 2.4%
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การติดตามผลการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน 2.การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งสะท้อนถึงการขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และ3.การติดตามการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะการติดตามการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน