‘สศช.’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% เร่งตัวจากไตรมาสก่อน คาดจีดีพีทั้งปี 65 เติบโต 3.2% มองปี 66 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในกรอบ 3-4% นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 23 ล้านคน ขณะที่การส่งออกโตได้แค่ 1%
..............................
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565-2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/2565 ขยายตัวได้ที่ระดับ 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวการของปีก่อน และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 1/2565 ที่ขยายตัวได้ 2.3% และไตรมาส 2/2565 ที่ขยายตัว 2.5%
“เครื่องชี้ต่างๆส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 9% การลงทุนรวมที่ยังคงขยายตัว 5.2% โดยการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ 11% แม้ว่าการลงทุนภาครัฐหดตัว -7.3% ก็ตาม การอุปโภคบริโภครัฐบาลหดตัว -0.6% เนื่องจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ลดลงมาก เพราะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น สำหรับปริมาณการการส่งออกยังขยายตัวได้ 2.7%
ขณะที่ปริมาณการส่งออกบริการขยายตัวสูงถึง 87% ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 53.6% ส่วนภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ที่ 6.3% ภาคการขนส่งขยายตัวที่ 9.9% ภาคการค้าขยายตัว 3.5% อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างหดตัว -2.8% ซึ่งเป็นผลจากรายจ่ายลงทุนของภาครัฐที่ลดลง และภาคเกษตรหดตัว -2.3% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง” นายดนุชา กล่าว
สศช.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.2% เร่งตัวจากปี 2564 ที่ขยายตัว 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัว 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6% ของ GDP ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 10.2 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ 5.7 แสนล้านบาท
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในระยะถัดไป เช่น เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวค่อนข้างช้าจากนโยบาย zero covid รวมทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน เป็นต้น
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในช่วง 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ,การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการอนุมัติการลงทุนในช่วงปี 2563-64 ที่ค่อนข้างสูง หากมีการเร่งรัดการลงทุนจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี ,การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
ทั้งนี้ สศช.คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.6% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.4% ,จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 23.5 ล้านคน และสร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าจีนเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ,มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 1% ,อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ของ GDP เป็นต้น
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสำคัญๆ ,ความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเท่านั้น แต่อาจมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมา
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวค่อนข้างช้าจากนโยบาย zero covid และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่ต้องดูแลแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าหนี้เสีย (NPL) จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ของครัวเรือน และหนี้ของ SMEs ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่อง คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 สศช.เห็นว่า ควรให้ความสำคัญใน 8 ประเด็น ได้แก่
1.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566/2567
3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ ,การติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ,การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ ,การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน ,การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการดูแลด้านสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ,การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ,การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย ,การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ,การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง
6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
8.การติดตาม เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.