‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/66 เติบโต 2.7% เร่งตัวจากไตรมาสก่อน ประเมินทั้งปี 66 จีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% พร้อมเตือนรักษาบรรยากาศการเมืองหลังเลือกตั้ง แนะรัฐบาลใหม่รักษา ‘วินัยการเงินการคลัง’ เคร่งครัด
.......................................
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ (ไตรมาส 4/2565) ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 1.4% โดยในไตรมาสนี้เครื่องชี้หลายตัวยังขยายตัวได้ แต่มีเครื่องชี้วัดบางตัวที่หดตัวลง
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนรวมขยายตัว 3.1% การส่งออกบริการขยายตัว 87.8% สาขาพักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 34.3% สาขาขนส่งขยายตัว 12.4% ภาคเกษตรขยายตัว 7.2% สาขาก่อสร้างขยายตัว 3.9% และสาขาการค้าขยายตัว 3.3% ในขณะที่การส่งออกหดตัว 6.4% การอุปโภคภาครัฐหดตัว 6.2% และสาขาอุตสาหกรรมหดตัว 3.1%
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นั้น สศช.คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7-3.7% เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การอุปโภคภาครัฐบาลหดตัว 2.6% การลงทุนเอกชนขยายตัว 1.9% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.7% มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% เงินเฟ้อขยายตัว 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ 1.4% ต่อ GDP
ขณะที่ สศช.ได้ปรับสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เล็กน้อย โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.7% ดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.6% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.8-33.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อน ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเท่าเดิม ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เป็น -1% ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกไทยจะอยู่ที่ -1.5% ถึง -0.5%
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 28 ล้านคนเท่าเดิม แต่สร้างรายได้เข้าประเทศลดลงเหลือ 1.27 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.31 ล้านล้านบาท
นายดนุชา ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ปัจจัยแรก เป็นเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่มีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกเข้ามาเพียง 5 แสนคน ปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีของการบริโภคในประเทศ และปัจจัยที่สาม เป็นเรื่องการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวจากยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ยังเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้น การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง
3.การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาปริมาณน้ำค่อนข้างมากและผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดค่อนข้างสูง แต่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ (El Nino) รวมทั้งอาจมีน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ 3-4 และ4.เงื่อนไขและบรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งเรื่องแนวโน้มความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณปี 2567 และความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง
“ปัจจัยสำคัญที่ควรจะต้องบริหารจัดการ คือ บรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากเรามีการเลือกตั้งในช่วงนี้ งบปี 2567 คงจะล่าช้าออกไป ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หรือไตรมาสที่ 1 ของปีงบ 2567 จึงต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย อีกทั้งต้องรักษาบรรยากาศในช่วงหลังการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่อได้ และรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศและภาคเอกชนไทย” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า 2.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 3.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 4.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และ 5.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง
“คงต้องดูว่ารัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีนโยบายอะไรบ้าง แต่ปัญหาหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การส่งออกสินค้า ซึ่งต้องเร่งทำการตลาดส่งออก เพราะจะพันกับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ส่วนเรื่องปากท้องประชาชน ถ้าดูระดับการบริโภคพบว่ายังขยายตัวได้ดี แต่มีเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งราคาน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงถัดไป หลังจากราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องมาดูว่าเรื่องพวกนี้ว่าจะมีมาตรการอย่างไร” นายดนุชา
นายดนุชา กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่น่าจะปัญหา เศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศช.ประเมินว่า พ.ร.บ. งบปี 2567 จะออกได้ในช่วงไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.2567) ซึ่งเป็นประเมินกรณีเลวร้ายที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลจะล่าช้าหรือไม่นั้น ตนเป็นนักวิชาการ คงไปช่วยใครจับขั้วไม่ได้ จึงขึ้นอยู่กับฝั่งการเมืองต้องพูดคุยกัน
“คงต้องให้การเปลี่ยนผ่านมีลักษณะ Smooth (ราบรื่น) ราบเรียบ และไม่เกิดปัญหา เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้ เพราะขณะนี้ในเรื่องการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ มีนักลงทุนที่รอความชัดเจน ถ้ามีความชัดเจนเร็วเท่าไหร่ ก็น่านำเขาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักๆที่เราต้องการให้มาเป็นตัวปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ เช่น เรื่อง EV แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมชิป” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ในช่วงผ่านมาไทยเจอวิกฤตโควิด-19 มา 2 ปี ในช่วงนั้นมีการใช้มาตรการการเงินการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตและขยายตัวได้ แต่ ณ ขณะนี้เราผ่านวิกฤตนั้นมาได้แล้ว ดังนั้น นโยบายการเงินการคลังในช่วงถัดไป ต้องกลับเข้ามาสู่ระดับปกติ คือ การมุ่งไปสู่การรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ฉะนั้น ในการดำเนินนโยบายต่างๆนั้น ขอให้พิจารณาเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด
“ตัวนี้จะเป็นตัวสำคัญที่ต่างประเทศจะเข้ามาประเมินเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไป ฉะนั้น นโยบายการคลังในช่วงถัดไป คงต้องเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” นายดนุชา ระบุ
อ่านประกอบ :
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน