‘สภาพัฒน์’ เผย ‘อัตราว่างงาน’ ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1.01% ขณะที่ ‘การจ้างงาน’ หดตัว 0.1% ห่วง ‘หนี้เสีย’ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ไตรมาส 4/66 โตพุ่ง 12.4% เผย 3 ใน 4 เป็นบ้านของ ‘ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย’
........................................
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2567 มีผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่การจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การจ้างงานที่ปรับลดลงในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการปรับตัวลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม โดยปรับตัวลดลง 5.7% เนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่นอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่ในสาขานอกภาคเกษตรนั้นยังขยายตัวได้ 2.2% โดยส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นการจ้างงานในสาขาก่อสร้างซึ่งขยายตัว 5% สาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัว 13.4% และสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 10.6% เป็นต้น” นายดนุชา กล่าว
ส่วนชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 1/2567 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ตามการทำงานล่วงเวลาที่ลดลง โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 41 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 44 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม
ด้านค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 1/2567 ค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนอยู่ที่เฉลี่ย 13,789 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และค่าจ้างแรงงานในภาพรวมอยู่ที่เฉลี่ย 15,052 บาท/คน/เดือน ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 1/2567 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.01% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2% โดยผู้ว่างงานลดลงทั้งในกลุ่มผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน และเมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้ว่างงานที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวน 1.3 แสนคน ปรับตัวลดลง 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การขาดทักษะของแรงงานที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจใยระยะยาว 2.ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากขณะนี้ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนฯกว้างขึ้น จึงต้องบริหารจัดการทั้งในด้านรายรับและรายจ่าย รวมถึงการบริหารจัดการในแง่การขยายฐานของคนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม และ3.การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล
@หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/66 โต 3%-NPL บ้านพุ่ง 12.4%
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 4/2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้การก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนปรับตัวลดลง ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.3%
“ถ้าไปดูการขยายตัวของมูลหนี้ สินเชื่อยานยนต์ปรับตัวลดลง 0.6% ในขณะที่สินเชื่อเกือบทุกประเภทชะลอตัวลง ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จากขยายตัว 1.3% ในช่วงไตรมาส 3/2566 เป็นขยายตัว 3.5% ในช่วงไตรมาส 4/2566” นายดนุชา กล่าว
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 4/2566 พบว่า คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภท เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ยังไม่ทั่วถึง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.88% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน (3/2566) ที่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.79% ซึ่งจะต้องมีการเร่งรัดดูแลในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าและการขยายตัวของหนี้เสีย (NPL) แยกรายวัตถุประสงค์ พบว่า ในช่วงไตรมาส 4/2566 จำนวนหนี้เสียรวมมีจำนวน 1.58 แสนล้าน ขยายตัว 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีจำนวนหนี้เสีย 9.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 17.5% และหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 12.7%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SML) ต่อสินเชื่อรวมรายวัตถุประสงค์ พบว่าสินเชื่อรถยนต์ มีสัดส่วน SML อยู่ที่ 14.29% ต่อสินเชื่อฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน SML อยู่ที่ 4.96% ต่อสินเชื่อรวมฯ เป็นต้น
นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.หนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง โดย ณ ไตรมาส 4/2566 ยอดคงค้างของหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน ขยายตัวสูงถึง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ 3 ใน 4 หรือ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท
“จริงๆ ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบ เพราะทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงขึ้น และไปกระทบต่อรายได้สุทธิของเขาที่จะมีการใช้จ่าย แต่คิดว่าการแก้ ต้องไปดูเป็นรายบุคคลจริงๆว่า เขามีวินัยการเงินขนาดไหน อย่างไร มีภาระอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องดูในแง่การปรับรูปแบบการชำระให้เหมาะกับรายได้ และสุดท้ายต้องให้เขามีรายได้สุทธิที่จะมาใช้จ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องก่อหนี้อะไรเพิ่มเติม” นายดนุชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อหนี้บ้านหรือไม่
เมื่อถามย้ำว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยอะไร นายดนุชา กล่าวว่า เป็นปัญหาผสมกันทั้งสภาพเศรษฐกิจและปัญหาส่วนตัวของลูกหนี้ เช่น รายได้ของลูกหนี้ และภาระหนี้ส่วนอื่นๆด้วย โดยกลุ่มที่มีปัญหาหนี้เสียสินเชื่อบ้านตรงนี้ เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นกลุ่มผู้ที่รายได้ประจำหรือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งทางธนาคารมีข้อมูลตรงนี้และรู้ว่าต้องจัดการปัญหาพวกนี้อย่างไร
“ผมคิดว่าความสำคัญในเรื่องนี้ คือ ต้องพยายามทำให้คนมีบ้านอยู่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นถ้าบ้านเขาหลุดมือไป ความมั่นคงในชีวิตเขาก็หายไป แล้วจะเกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาอีกหลายอย่าง…ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแบงก์ ถ้าต้องการช่วยให้คนมีบ้าน ก็ทำได้ในหลายวิธี” นายดนุชา กล่าว
และ 2.การเร่งรัดสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ควรเร่งประชาสัมพันธ์และดึงให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%