‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 เติบโต 2.3% จาก ‘บริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมปรับเป้าเศรษฐกิจทั้งปี 67 โต 2.3-2.8% หนุน ‘รัฐบาลใหม่’ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
...............................................
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น เช่น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 4% การอุปโภครัฐบาลขยายตัว 0.3% การส่งออกสินค้าขยายตัว 1.9% และการส่งออกบริการขยายตัว 19.8% เป็นต้น
“การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ 1.9% ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนแนวโน้มในอนาคต จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ น่าจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วงถัดไป สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง” นายดนุชา กล่าว
อย่างไรก็ดี มีเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ 3 ตัว ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การลงทุนรวมที่หดตัว 6.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 6.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัว 4.3% ขณะที่ภาคการเกษตรหดตัว 1.1% และสาขาก่อสร้างหดตัว 5.5% ซึ่งเป็นผลจากงบลงทุนที่เป็นก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนที่หดตัวลง
“ในไตรมาสที่ 2/2567 เมื่อเปรียบเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส (ปรับฤดูกาลแล้ว) จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ 0.8% และครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% โดยมีส่วนสำคัญจากการส่งออก และการอุปโภคภาครัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น” นายดนุชา กล่าวและว่า “เมื่อพิจารณารายละเอียดเศรษฐกิจไตรมาส 2/2567 พบว่า การบริโภคภาคเอกชน แม้ว่าจะขยายตัวได้ 4% แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1/2567) ที่ขยายตัวได้ 6.9%”
นายดนุชา ระบุด้วยว่า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2/2567 ที่ขยายตัว 4% นั้น พบว่า การใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ไม่คงทนขยายตัว 3.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1/2567) ที่ขยายตัวได้ 4.7% โดยเป็นการชะลอลงของการใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวลดลง 6.5% ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1/2567) โดยเฉพาะการชะลอการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าประเภทยานพาหนะ จากราคารถยนต์ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ลง รวมทั้งความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนยังขยายตัวได้ที่ 4.3% ตามการขยายตัวของสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและรองเท้า
นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.3-2.8% โดยมีค่ากลาง 2.5% เทียบกับการประมาณการครั้งก่อนที่ สศช.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2-3% โดยมีปัจจัยหลักจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 4.5% การอุปโภคภาครัฐบาลที่ขยายตัว 1.7% การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัว 0.3% การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 0.4-0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ต่อ GDP
ทั้งนี้ สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.9% โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ยูโรโซนขยายตัว 0.6% ญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% และจีนขยายตัว 4.7% ,ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 2.8% ,อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.5-36.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ,ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ,จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36.5 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.48 ล้านล้านบาท
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2567 ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะรายรับต่อหัวต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริบริโภคภายในประเทศ โดยมีแรงสนับสนุนจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และตลาดแรงงานที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจากอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ
3.การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบก่อสร้างของภาครัฐ และ 4.การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออก สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศสำคัญๆ รวมถึงวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยอดคำสั่งซื้อใหม่ของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2567 ได้แก่ 1.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ประกอบการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่หนี้เสีย (NPLs) ของ SMEs อยู่ในระดับสูง รวมถึง NPLs ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตภาคการเกษตร
และ 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าระวางเรือขนส่งสินค้าไปทางตะวันตก การเริ่มปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐที่ยังคงไม่แน่นอน
ขณะที่ประเด็นท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการผลิตและการปรับโครงสร้างการผลิต ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยยังมีสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในสัดส่วนที่ต่ำ จึงต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีน
นายดนุชา ระบุว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณเพื่อให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน 2.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน
3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 4.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 5.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 6.การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
7.การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐาน และ8.การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเลตจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไร นายดนุชา กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจะไม่ดำเนินการเรื่องดิจิทัลวอลเลต ผมคิดว่าต้องดูมาตรการอื่นมาเติม ในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน และคงต้องดูว่าท่านนายกฯและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีความเห็นอย่างไร ผมคิดว่า อย่างไรคงต้องมีมาตรการออกมาซักอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนในช่วงนี้”
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาทรัพยากร เครื่องมือหรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ว่า จะใช้มาตรการในลักษณะใด ที่จะทำให้เกิดการทำงานได้เร็วขึ้น
“การกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องดูช่วงเวลา และดูเรื่องทรัพยากรที่มีด้วย ส่วนหนึ่งแน่นอนว่า อาจต้องมีมาตรการออกมาในช่วงแรก ด้วยปริมาณซักปริมาณหนึ่ง และต้องดูต่อในช่วงถัดไปว่า จะมีผลกระทบจากภายนอกอย่างไรบ้าง และเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้น การดำเนินการในกระตุ้นพวกนี้อาจต้องทำในช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการหารือกัน โดยเฉพาะกับหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ คงต้องมีการพูดคุยกันว่า จะใช้มาตรการต่างๆในช่วงเวลาไหน อย่างไร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่คงต้องมีการพูดคุยกับรัฐบาลด้วย” นายดนุชา กล่าว
เมื่อถามว่า เศรษฐกิจปี 2567 ที่ สศช.คาดว่าจะขยายตัวที่ค่ากลาง 2.5% นั้น ยังจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากภาคการเงิน โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า “เรื่องนี้ ต้องให้แบงก์ชาติ เป็นคนตอบ ผมคงไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เวลาพูดเรื่องนี้ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบค่อนข้างกว้าง จึงขอให้ทางแบงก์ชาติ เป็นผู้พิจารณาจะดีกว่า แต่ถ้าดูแนวโน้มระดับโลก ขณะนี้ดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่วนแนวโน้มจะเป็นอย่างไร หลายๆท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว ก็อยู่ที่แบงก์ชาติว่า ท่านจะมองอย่างไร”
อ่านประกอบ :
‘สศช.’ห่วงNPLสินเชื่อบ้านโต 12.4%-เผย'หนี้เสีย' 3 ใน 4 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%