สศช.เผยไตรมาส 2/66 การจ้างงานเติบโต 1.7% ส่วน ‘ค่าจ้าง’ เพิ่ม 5.7% ห่วงคนอายุน้อยกว่า 30 ปี เป็น ‘หนี้เสีย’ เพิ่มขึ้นในช่วงหลังโควิด แนะปรับโครงสร้างหนี้ ‘รถยนต์’ หลังสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนทะยานแตะ 13.9%
..........................................
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2566 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 2/2566 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาก่อสร้าง
ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2566 ปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน โดยไตรมาส 2/2566 ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมอยู่ที่ 15,212 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2/2566 มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 2.2 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อน (1/2566) ที่มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 3.4 ล้านคน และผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวน 2 แสนคน ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 1.06% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการว่างงาน 1.37% แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน (1/2566) ที่มีอัตราการว่างงาน 1.06% ทั้งนี้ จำนวนผู้ว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา อีกทั้งยังลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยและไม่เคยทำงานก่อน รวมถึงผู้ว่างงานระยะยาว แต่กลุ่มแรงงานที่มีอายุน้อยมีอัตราการว่างงานสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเด็กจบใหม่อยู่ระหว่างหางาน
นายดนุชา ระบุว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานที่มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ 2.การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยในช่วงไตรมาส 2/2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุประมาณ 1.3 ล้านคน และ 3.ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
@หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 โต 3.6%-สินเชื่อ SM รถยนต์แตะ 13.9%
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 1/2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่อสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี ลดลงจากระดับ 91.5% ต่อจีดีพีในช่วงไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/2565)
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2566 พบว่า อยู่ในระดับทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อยานยนต์
“ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ คือ หนี้ที่อยู่อาศัยและหนี้รถยนต์ โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ เพราะถ้าไปดูจะเห็นว่าหนี้ที่เป็นสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2566 มีหนี้รถยนต์ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นสัดส่วน 13.9% ของสินเชื่อรถยนต์ จึงต้องมีการดูแลหนี้ส่วนนี้ โดยเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจังในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ยังระบุว่า ในประเด็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ปัญหาการติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์หลักการกู้ยืมเงินแล้ว พบว่ามูลค่าเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกสหกรณ์ในปี 2565 ที่มีวงเงินสินเชื่อ 9.4 แสนล้านบาทนั้น มีหนี้เกือบ 50% เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ประกอบด้วย หนี้ 26.1% เป็นหนี้เพื่อใช้สอยส่วนตัว และหนี้อีก 23.1% เป็นหนี้เพื่อการชำระหนี้สินเดิม ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมติดกับดักหนี้
นอกจากนี้ จากผลสำรวจความรู้ของคนไทยใน 3 ด้าน พบว่า ในปี 2565 ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบปี 2563 โดยเฉพาะทัศนคติในการวางแผนทางการเงินสำหรับอนาคต จึงต้องเร่งส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง
นายดนุชา กล่าวด้วยว่า จากข่าวที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่แล้วว่า สศช.เสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จาก 7% เป็น 10% แล้วนำ Vat ที่ขึ้น 3% มาจัดสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงแค่แนวคิด และมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม แต่ในรายละเอียดแล้วมีเรื่องที่ต้องทำอีกค่อนข้างมาก
“ข่าวที่ออกมา เกิดจากการที่สำนักงานฯมีการจัดสัมมนาในแง่สังคมข้ามรุ่น เรื่องสังคมผู้สูงอายุ เมื่อวันอังคารที่แล้วช่วงบ่าย ซึ่งประเด็นนี้มีการยกขึ้นมาพูดคุยกัน โดยเป็นเพียงแค่แนวคิดหนึ่งที่น่าจะลองมาพิจารณากันดู เพราะแนวคิดนี้อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้งบประมาณแผ่นดินในการรองรับสวัสดิการสังคมสูงวัย
จึงต้องเรียนว่าเป็นเพียงแค่แนวคิด สำนักงานฯยังไม่ได้คิดจะเสนอเรื่องนี้กับใคร เป็นไอเดียหนึ่งที่นำมาพูดคุยกันว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ซึ่งอาจจะมีทางเลือกอื่นๆในอนาคต จึงขอให้เข้าใจตรงกันว่า ทางสำนักงานฯไม่ได้มีแนวคิดที่จะเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด” นายดนุชา กล่าว
@อายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหา‘หนี้เสีย’เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด
ในการแถลงรายงานภาวะสังคมไทยฯ ครั้งนี้ สศช.ได้นำเสนอบทความเรื่อง “หนี้สินคนไทย : ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร” โดยระบุว่า การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และกระทบต่อการจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่องและมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2564 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนซึ่งสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่าในไตรมาส 1/2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี
โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้และการชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
ขณะที่พฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังช่วง COVID-19 โดยมีมูลค่า NPL ในปี 2565 สูงกว่าปี 2562 ทั้งที่ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เนื่องจากมีสัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น รวมทั้งกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย
สำหรับพฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วง COVID-19 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ โดยหนี้ประเภทนี้กลุ่มอายุ 50 – 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ยังพบว่า หลัง COVID-19 กลุ่มอายุ 50 - 59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 2562
@ชี้นโยบายพักหนี้ ‘เกษตรกร’สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า 1.ยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้
2.การแก้ไขปัญหาหนี้เสียต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของ NCB ในปี 2565 สูงถึง 7.6% แต่หากพิจารณาหนี้เสียที่เกิดจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พบว่ามีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 2.6% ซึ่งน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์
3.กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้น และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นหรือกลุ่มเจนวายมีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละช่วงวัยและหนี้แต่ละประเภทต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน
และ 4.หนี้ครัวเรือนอื่นๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปี 2565 หนี้อื่นๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่าร้อยละ 18.8 อีกทั้ง ยังมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย
ดังนั้น การแก้ปัญหาอาจควรมีแนวทาง ดังนี้ 1.ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง
2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย 3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้
4.ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้
และ 5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สะสมเป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกร เนื่องจากจะสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม อาทิ การไม่ชำระหนี้ เพราะรอนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐ หรือการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเงินในมือมากขึ้น
อ่านประกอบ :
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน