‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/66 เติบโต 1.7% หลัง ‘ลงทุนภาครัฐ’ หดตัว 20.1% ขณะที่ ‘สาขาอุตสาหกรรม’ ติดลบ 2.4% ส่งผลให้ทั้งปี 66 ขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอตัวจากปีก่อนที่เติบโต 2.5% หั่นเป้าจีดีพีปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
....................................
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 7.4% และปริมาณการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ 3.4% ซึ่งขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส
ขณะที่ปริมาณการส่งออกบริการขยายตัว 14.7% ,สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 10% ,สาขาการค้าขยายตัว 5.1% ,สาขาขนส่งขยายตัว 6.7% และสาขาการเงินขยายตัว 4.8%
อย่างไรก็ดี การบริโภคภาครัฐบาลหดตัว -0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในโอนสวัสดิการลดลง เพราะไม่มีเงินโอนสวัสดิการเกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว ,การลงทุนรวมหดตัว -0.4% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หดตัว -20.1% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ 5% โดยขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ,สาขาอุตสาหกรรมหดตัว -2.4% ,ภาคเกษตรหดตัว -0.8% และสาขาก่อสร้างหดตัว -8.8% จากเงินลงทุนภาครัฐที่ยังไม่ออกมา
ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 หดตัว -0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566
สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 2.5% โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.1% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -1.7% ,การอุปโภคภาครัฐบาลหดตัว -4.6% และการลงทุนภาครัฐหดตัว -4.6% ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 1.2% อัตราว่างงานอยู่ที่ 1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.3% ต่อจีดีพี
นายดนุชา ระบุว่า แม้ว่าการส่งออกมีสัญญาณการฟื้นตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยการส่งออกสินค้าประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยขยายตัวไม่ทันภาคส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต
นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ว่า สศช. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.2-3.2% โดยมีค่ากลาง 2.7% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% ทั้งนี้ สศช.คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3% ,การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 1.5% ,การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.5% ,การลงทุนภาครัฐหดตัว 1.8% ,มูลค่าการส่งออกขยายตัว 2.9% ,เงินเฟ้อขยายตัว 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ต่อจีดีพี
ขณะเดียวกัน สศช.ได้ตั้งสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.7% ,ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 3% ,อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.3-35.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ,ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 35 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.22 ล้านล้านบาท เทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 35 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศที่ 1.3 ล้านล้านบาท
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้แก่ 1.การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน จากการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะการอุปโภคในภาคครัวเรือน และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยให้การจับจ่ายยังคงอยู่ในระดับที่ดี
และ 4.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยมาตรการต่างๆที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวีซ่าฟรี และมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านการจัดทำอีเว้นท์ต่างๆ จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2567 รวมทั้งนโยบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรองจะมีส่วนช่วยกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ 1.การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง จากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปี 2567 ซึ่งจะต้องเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามกำหนดเวลา รวมทั้งต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบ 2567 และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เพื่อลดข้อจำกัดและเพิ่มพื้นที่การคลัง 2.เรื่องหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยอยู่
3.ปัญหาผลกระทบภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร และ 4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค เช่น รัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้ค่าระวางเรือและค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายใน จากปัญหาการลงทุนและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
@แนะให้ความสำคัญบริหารเศรษฐกิจ 7 ประเด็น
นายดนุชา ระบุด้วยว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 7 เรื่อง ได้แก่
1.การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ควบคู่ไปกับการทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสม และการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความรัดกุมมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
2.การยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกลไกหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ควรสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกทาง
3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า
ขณะเดียวกัน ควรเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวสู่ภาคการผลิตในอนาคต
4.การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 - 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่
นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
5.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว นอกจากนี้ ควรเร่งรัดการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ
รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐาน ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน
6.การดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง
ขณะเดียวกัน ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพในการผลิต การกระจายความเสี่ยงในการผลิตอย่างเหมาะสมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในภาคเกษตร
7.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ (2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของโครงการให้มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็วหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลใช้บังคับ
และ (3) การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้งบประมาณประจำปี 2567 สามารถเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.4 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด โดยแบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 97.0 และงบประมาณรายจ่ายลงทุนร้อยละ 65.0 ตามลำดับ
อ่านประกอบ :
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน