“…การแจ้งมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ไปยังผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยนั้น ย่อมมีผลเป็นการแจ้ง เสนอแนะ หรือบอกกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่ามีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดทางวินัย ผู้บังคับบัญชา จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่ใช้บังคับ แก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไป...”
....................................
กรณีการดำเนินการลงโทษทาง ‘วินัย’ กับ ‘ข้าราชการ’ หรือ ‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ ที่ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ‘วินัย-อาญา’ ในกรณีต่างๆ นั้น เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่หน่วยงานของรัฐได้หยิบยกขึ้นมาหารือกับ ‘สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา’ ในหลายกรณี
โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการทางวินัยแก่อดีตพนักงานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (เรื่องเสร็จที่ 1395/2567) มีรายละเอียด ดังนี้
@‘ป.ป.ช.’จี้‘แบงก์อิสลาม’ลงโทษวินัย‘พนักงาน’ถูกชี้มูลฯ
ที่มา
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้มีหนังสือ ลับ ที่ ธอท.ทบ.(พิเศษ ว.) 243/2567 ลงวันที่ ๖ ส.ค.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
1.สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธนาคารฯ) แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดแก่ ‘อดีตพนักงาน’ ของธนาคารฯ จำนวน 3 ราย ได้แก่ นาง ส. นาย อ. และนาย ฐ. กรณีอนุมัติสินเชื่อ โดยมีการเรียกรับเงินเป็นค่าดำเนินการจากลูกค้าธนาคารฯ โดยทุจริต และทุจริตในการเบิกเงินสินเชื่อจนครบถ้วนทั้งที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ดังนี้
(1) กรณีการเรียกรับเงินเป็นค่าดำเนินการจากลูกค้าธนาคารฯ การกระทำของ นาย อ. มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัท หรือหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามมาตรา 172 และมาตรา 173 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และประพฤติตนอยู่ในความสุจริต กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อย่างใด อันอาจเป็นทางให้เสียความเที่ยงธรรม หรือความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่
ฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงานของธนาคาร และต้องสนใจในระเบียบปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการในหน้าที่ของตน ฐานเรียกร้อง หรือรับสินบน สิ่งล่อใจ สิ่งตอบแทนในรูปแบบใดๆ เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษที่อาจทำให้เกิดความไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ฐานกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมาย
และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามข้อ 49.3.8 ข้อ 49.3.11 ข้อ 49.6.4 ข้อ 49.7.7 และข้อ 49.7.8 แห่งข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร พ.ศ.2551
(2) กรณีเบิกเงินสินเชื่อครบถ้วนทั้งที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า นาง ส. นาย อ. และนาย ฐ. ได้กระทำความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของนาง ส. นาย อ. และนาย ฐ. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และประพฤติตนอยู่ในความสุจริต กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อย่างใด อันอาจเป็นทางให้เสียความเที่ยงธรรมหรือความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่
ฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงานของธนาคาร และต้องสนใจในระเบียบปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการในหน้าที่ของตน ฐานกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมาย และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามข้อ 49.3.8 ข้อ 49.3.11 ข้อ 49.7.7 และข้อ 49.7.8 แห่งข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8 ฯ
ดังนั้น จึงขอให้ธนาคารฯ พิจารณาโทษทางวินัยแก่พนักงานของธนาคารฯ จำนวน 3 ราย ตามมาตรา 91 (2) และมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และขอให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
2.ธนาคารฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่พนักงานของธนาคารฯ จำนวน 3 ราย ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้วนั้น จะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่สำคัญ 3 ประการ
(1) ต้องมีข้อบังคับของธนาคารฯ ที่กำหนดให้ธนาคารฯ พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีพนักงานรายนาย อ. ซึ่งธนาคารฯ ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2561 ในมูลเหตุอื่น และในขณะที่นาย อ. พ้นจากตำแหน่งนั้น ธนาคารฯ ยังไม่มีข้อบังคับที่กำหนดให้ธนาคารฯ ลงโทษพนักงานซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ กรณีจึงไม่อาจลงโทษไล่ออกช้ำอีกได้
ส่วนพนักงานอีก 2 ราย ได้แก่ นาง ส. ได้พ้นจากตำแหน่งโดยเหตุเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 และนาย ฐ. ได้พ้นจากตำแหน่งโดยลาออกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 ซึ่งในขณะนั้นธนาคารฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างธนาคาร พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 โดยเพิ่มข้อ 56/3 เพื่อกำหนดให้สามารถลงโทษทางวินัยพนักงาน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้
(2) ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ข้อ 56/3 แห่งข้อบังคับธนาคารฯ ฉบับที่ 8ฯ กำหนดไว้ คือ อดีตพนักงานจะต้องถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้ก่อนพ้นจากตำแหน่ง และจะต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง และต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตพนักงานว่า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 49.3.8 ข้อ 49.3.11 ข้อ 49.7.7 และข้อ 49.7.8 แห่งข้อบังคับธนาคารฯ ฉบับที่ 8ฯ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวกำหนดเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง กรณีจึงเป็นประเด็นปัญหาว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจชี้มูลการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้หรือไม่
(3) กรณีที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการสอบสวนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีมติชี้มูลความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ จึงจะถือเอารายงานและความเห็นที่มีมติชี้มูลเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยได้ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน อีกตามมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
โดยธนาคารฯ เห็นว่า ความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า พนักงานของธนาคารฯ ทั้ง 3 ราย ไม่มีความผิดทางอาญา ธนาคารฯ จึงไม่อาจถือเอารายงานและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่อดีตพนักงานทั้ง 3 รายดังกล่าวได้
ธนาคารฯ จึงพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับธนาคารฯ พร้อมแจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ อันเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.1037/2558 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 1403/2565
3.ต่อมา สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือถึงธนาคารฯ ยืนยันมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ธนาคารฯ พิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยอดีตพนักงานทั้ง 3 ราย โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก หากไม่ดำเนินการให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
@หารือ‘กฤษฎีกา’ปมลงโทษวินัย‘อดีตพนักงาน’ 3 ประเด็น
4.ธนาคารฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า เรื่องนี้ยังมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย และเพื่อให้การปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
(1) การชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่อดีตพนักงานของธนาคารฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นาง ส. และนาย ฐ. อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งธนาคารฯ ต้องถือเอารายงานและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่พนักงานของธนาคารฯ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวบวินัยอีก หรือไม่
เนื่องจากธนาคารฯ เห็นว่าความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลนั้น มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าพนักงานของธนาคารฯ ทั้ง 2 ราย ไม่มีความผิดทางอาญา
(2) กรณีอดีตพนักงานของธนาคารฯ รายนาย อ. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และความผิดอื่นตามมาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ซึ่งธนาคารฯ ได้ลงโทษไล่ออกนาย อ. ไปก่อนแล้ว นั้น ธนาคารฯ จะมีคำสั่งลงโทษตามมติที่ชี้มูลความผิดทางวินัยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ต่างกันได้อีกหรือไม่
(3) การที่ธนาคารฯ เห็นว่า การชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงของพนักงาน แม้จะระบุข้อที่เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง จึงดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับธนาคารฯ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้วหรือไม่
@ชี้‘ป.ป.ช.’มีอำนาจชี้มูลความผิด‘ทางวินัย’ 4 ฐานความผิดเท่านั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาข้อหารือของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า โดยที่มาตรา 28 (2) และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
บัญญัติขอบเขตแห่งหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัย ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน
โดยในส่วนความผิดที่เกี่ยวข้องกันนั้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานใดฐานหนึ่งตามความผิดสามฐานหลัก อันได้แก่ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมแล้ว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจที่จะชี้มูลความผิดทางวินัยที่เกี่ยวข้องกับความผิดหลักทางวินัยนั้น อันเป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องหรือกระทำขึ้น เนื่องจากการกระทำความผิดสามฐานหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลแล้ว ไปในคราวเดียวกันได้
โดยหากเป็นกรณีที่มีมูลความผิดทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป
ประกอบกับ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก
โดยให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น
ดังนั้น การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะผูกพันผู้บังคับบัญชา จึงต้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามขอบหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ในเรื่องเสร็จที่ 34/2563 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 1320/2563 เรื่องเสร็จที่ 1403/2564 และเรื่องเสร็จที่ 503/2567
สำหรับกรณีตามข้อหารือนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีเบิกเงินสินเชื่อครบถ้วน ทั้งที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านาง ส. และนาย ฐ. ได้กระทำความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหา ในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของนาง ส. และนาย ฐ. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และประพฤติตนอยู่ในความสุจริต กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อย่างใด อันอาจเป็นทางให้เสียความเที่ยงธรรมหรือความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่
ฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงานของธนาคาร และต้องสนใจในระเบียบปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการในหน้าที่ของตน ฐานกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมาย
และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามข้อ 49.3.8 ข้อ 49.3.11 ข้อ 49.7.7 และข้อ 49.7.8 แห่งข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร พ.ศ.2551
แต่โดยที่การชี้มูลความผิดทางวินัยทั้ง 4 ฐานความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้ ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งเป็นความผิดสามฐานหลัก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่อาจชี้มูลว่า มีการกระทำความผิดทางวินัยในความผิดที่เกี่ยวข้องกันตามข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8ฯ ดังกล่าวได้
ดังนั้น การชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้ จึงเป็นการชี้มูลความผิดทางวินัยที่มิได้อยู่ในขอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีผลผูกพันผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนาง ส. และนาย ฐ. ผู้ถูกกล่าวหา ที่จะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ
@ยังต้องดำเนินการวินัย‘ผู้ใต้บังคับบัญชา’ หลัง‘ป.ป.ช.’แจ้งมติชี้มูลฯ
ประเด็นที่สอง เห็นว่า ในความผิดกรณีเบิกเงินสินเชื่อครบถ้วน ทั้งที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งธนาคารฯ ยังมีได้ดำเนินการทางวินัย แต่ธนาคารฯ ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกนาย อ. ไปแล้ว ในฐานความผิดที่แตกต่างกัน โดยมีคำสั่งไล่ออกมีผลเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561
ก่อนวันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8ฯ ในปี พ.ศ.2566 ที่กำหนดให้ธนาคารฯ สามารถดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้วได้
กรณีจึงเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป คือ จะต้องพิจารณาตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด เว้นแต่จะปรากฏว่า กฎหมายที่ไข้บังคับในภายหลังจะมีผลเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหามากกว่า ทั้งนี้ ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 1590/2565
และเมื่อพิจารณาข้อบังคับของธนาคารฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่นาย อ. ยังไม่พ้นจากตำแหน่งพนักงานของธนาคารแล้ว ไม่ปรากฏว่า มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ธนาคารฯ สามารถดำเนินการทางวินัยหรือสั่งลงโทษทางวินัยแก่พนักงานธนาคารฯ ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้วได้
ดังนั้น ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. แก่นาย อ. อดีตพนักงานซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้วได้
ประเด็นที่สาม เห็นว่า แม้การชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในกรณีนี้ มิได้อยู่ในขอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีผลผูกพันผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่จะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ
แต่การแจ้งมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ไปยังผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยนั้น ย่อมมีผลเป็นการแจ้ง เสนอแนะ หรือบอกกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่ามีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดทางวินัย ผู้บังคับบัญชา จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่ใช้บังคับ แก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไป
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ที่ตีความว่า 'คณะกรรมการ ป.ป.ช.' มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัย ในฐานความผิด 4 กรณี คือ 1.ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ 2.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 3.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และ 4.ความผิดที่เกี่ยวข้องกัน
โดยหาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย ในฐานความผิดกรณีใดกรณีหนึ่งใน 4 กรณีดังกล่าวแล้ว ‘ผู้บังคับบัญชา’ ของ ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ จะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ 'คณะกรรมการ ป.ป.ช.' ได้มีมติ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการชี้มูลความผิดทางวินัยฯ ที่มิได้อยู่ใน ‘ขอบหน้าที่และอำนาจ’ ของ 'คณะกรรมการ ป.ป.ช.' นั้น จะไม่มีผลผูกพันต่อ 'ผู้บังคับบัญชา' ของ 'ผู้ถูกกล่าวหา' แต่หากมีการแจ้ง ‘มติชี้มูลความผิด’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานต่างๆแล้ว 'ผู้บังคับบัญชา' มีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ใช้บังคับ แก่ ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ ต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กฤษฎีกา’ชี้แนวลงโทษวินัย‘ขรก.’ถูก‘ป.ป.ช.’ชี้มูลฯ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผล‘คดีอาญา’
ป.ป.ช.สะท้อนปมปัญหาบังคับใช้‘พ.ร.บ.ปราบทุจริตฯ’-เผย 6 ปี ชี้มูลความผิดฯ 6.2 พันเรื่อง