"...การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จึงทำให้เห็นถึงแนวการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐของผู้ถูกร้องทั้งสาม แม้จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยหลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ ก็เป็นเพียงการกระทำที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยทั่วไปเท่านั้น ซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ..."
ตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีมีผู้ยื่นคำร้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 1 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกร้องที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตหรือเห็นชอบรวมทั้งรับทราบการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยได้บังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอาการป่วยรุนแรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2) อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร ให้ได้สิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เป็นการกระทำที่ล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ ทำให้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสามกระทำการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ผู้ที่ได้อ่านข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือรับทราบข่าวจากการนำเสนอของสื่อมวลชน อาจเข้าใจว่าคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณาเป็นประเด็นเดียวกับที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะกำลังไต่สวนข้อเท็จจริงเองอยู่ในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เกิดประโยชน์เพราะศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงได้พยายามสืบเสาะหาคำร้องที่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ มาแสดงให้เห็นว่าเป็นคนละประเด็นกับที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังไต่ส่วน และเพื่อให้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าเหตุการณ์ชั้น 14 ถึงขั้นเป็นการล้มล้างการปกครองที่จะต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ คือการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ ซึ่งได้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จะต้องนำมาบังคับใช้ จำนวน 2 ฉบับคือ กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 264 แต่ผู้ถูกร้องทั้งสามได้บังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวเพียงฉบับเดียว โดยไม่ได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 ต่อเนื่องไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องครบถ้วนทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงอำนาจของศาล และเมื่อพิจารณาถึงความเป็นมาของการออกกฎกระทรวงดังกล่าวทำให้เห็นถึงการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2563 ที่ออกกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีการกระทำหลายอย่างที่มีเป้าหมายให้มีผลเป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายบริหารจากการแทรกแซงของบุคคลและพรรคการเมือง ทำให้อำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการได้รับการกระทบกระเทือน และยังจะมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปอีก
ผู้ร้องเห็นว่าการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการเช่นนี้เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามทำให้ไม่เกิดการถ่วงดุลกันของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ และหากปล่อยให้กระทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำที่เป็นการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่มีเป้าหมายล้มล้างอำนาจตุลาการ โดยให้ผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนรูญ มาตรา 53
ผู้ร้องบรรยายฟ้องว่า เรื่องนี้ควรจะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลให้สิ้นกระแสความ เนื่องจากปัจจุบันเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจและประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่า อำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการและอำนาจอธิปไตยฝ่ายบริหารได้ถูกกระทำให้เบี่ยงเบนไปจากหลักการพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กรณีมีผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิพิเศษในกระบวนการยุติธรรมเหนือประชาชนทั่วไป โดยองค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการถูกสกัดกั้นไม่ให้ใช้อำนาจในการอำนวยความยุติธรรม ที่มีผลมาจากกระบวนการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายบริหาร โดยบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในทางการเมืองและเคยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายบริหาร อาจจะก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงทำให้เรื่องที่ควรจะได้รับการพิจารณาโดยองค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ ไม่ถูกส่งไปยังศาล ส่งผลให้บุคคลที่มีสถานะเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ต้องถูกจำคุกและทำกิจกรรมของผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหมายจำคุกของศาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า หลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามอำนาจได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน อำนาจอธิปไตยทั้งสามยังคงดำรงความเป็นหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะองค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการยังคงสามารถใช้อำนาจได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากอาจถูกบั่นทอนทำลายทำให้การใช้อำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการไม่อาจเข้าถึงผู้มีอิทธิพลบารมีทางการเมืองบางคนได้ ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาจมีความผิดทางอาญา การที่รัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถูกละเมิด ประชาชนจึงเห็นว่าการปกครองระบอบดังกล่าวได้ถูกล้มล้างไปแล้วบางส่วน และหากยังคงมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ระบอบการปกครองของประเทศอาจจะถูกล้มล้างหรือถูกครอบงำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปทั้งหมด
โดยผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกระทำในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายคือผู้ถูกร้องทั้งสาม ซึ่งได้กระทำการสำเร็จมาแล้วและอาจจะมีการกระทำขึ้นอีก โดยก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าว ได้มีพฤติการณ์ของบุคคล พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ได้กระทำอย่างเป็นขั้นตอนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคล ในลักษณะเป็นการกระทำที่เชื่อมโยงกันและมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นการล้มล้างอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ โดยได้มีการวางแผนการกลับสู่ประเทศไทยของบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพื่อที่จะไม่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เมื่อถูกส่งเข้าไปจำคุกในเรือนจำแล้วให้สามารถส่งตัวออกไปอยู่นอกเรือนจำได้โดยเร็ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในอดีตได้ออกกฎกระทรวงจำนวนหลายฉบับเพื่อให้มีการส่งผู้ต้องขังออกไปอยู่นอกเรือนจำได้
หนึ่งในนั้นคือกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในลักษณะที่ทำให้เมื่อนำไปใช้ปฏิบัติแล้วจะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องโทษจำคุกที่เป็นบุคคลสำคัญได้
ต่อมาเมื่อผู้ต้องโทษดังกล่าวเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกร้องที่ 3 ได้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำไม่ครบถ้วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ โดยนำเอาเฉพาะกฎกระทรวงที่กำหนดให้เป็นอำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายบริหารเพียงฉบับเดียวมาบังคับใช้ แต่ไม่ได้นำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายตุลาการมาบังคับใช้ร่วมด้วย อันเป็นกรณีที่ผู้ใช้อำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายบริหาร กระทำการเพื่อล้มล้างอำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายตุลาการ ทำให้องค์กรฯ ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งในระหว่างที่การกระทำนี้ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งได้รับทราบการกระทำจากการรายงานตามสายบังคับบัญชา แต่ไม่ได้ระงับยับยั้งหรือสั่งให้เปลี่ยนแปลงการกระทำ
การวางแผนดำเนินการที่เป็นขั้นตอนมาตั้งแต่ก่อนปี 2563 หรือก่อนการออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จนสามารถกระทำได้สำเร็จตามความประสงค์ในปี 2566-2567 โดยผู้ต้องโทษจำคุกที่เป็นบุคคลสำคัญไม่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ และยังมีเหตุที่จะกระทำการเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากบุคคลดังกล่าว อาจจะต้องถูกจำคุกในคดีอาญาซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งกรณีน้องสาวของบุคคลดังกล่าวซึ่งเคยมีตำแหน่งสำคัญ แต่ได้กระทำความผิดจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 5 ปี และหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวย่อมต้องการให้น้องสาวเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยไม่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำในลักษณะเดียวกับตน ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยในช่วงวันสงกรานต์ ปี 2568 จึงอาจจะมีการกระทำที่เป็นการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะล้มล้างอำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายตุลาการเช่นเดียวกันเกิดขึ้นอีก
ในคำร้องที่มีความยาวประมาณ 25 หน้า ได้บรรยายให้เห็นถึงความเป็นมาของกฎกระทรวงที่ทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะล้มล้างอำนาจขององค์กรฯ ฝ่ายตุลาการ และได้ยกเอารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว รวมทั้งผู้ร้องได้บรรยายไว้ในคำร้องโดยละเอียดให้เห็นถึงเหตุที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายสองฉบับต่อเนื่องไปพร้อมกัน คือกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และสรุปว่าหากบังคับใช้เพียงกฎกระทรวงฉบับเดียวจะเป็นการหลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ และเป็นการนำเอากฎกระทรวงที่ออกโดยสามัญชนมาบังคับใช้แทนประมวลกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองของประเทศและนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ทักษิณ ชินวัตร
ผู้ร้องต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการที่เป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่ก่อนการออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกกฎกระทรวงในปี 2563 และได้นำมาบังคับใช้กับบุคคลสำคัญในปี 2566-2567 แทนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 264 จนเกิดผลสำเร็จ โดยผู้ถูกร้องทั้งสามสามารถที่จะอ้างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่ร้องขอต่อศาล ทั้งที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตราดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับอยู่และบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาล ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องการบังคับใช้กฎกระทรวงเพียงฉบับเดียวปรากฏชัดตามรายงานการตรวจสอบของ กสม.จึงต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพื่อที่จะสั่งให้เลิกการกระทำ เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่เชื่อได้ว่าจะมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ผู้เขียนเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จึงทำให้เห็นถึงแนวการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐของผู้ถูกร้องทั้งสาม แม้จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยหลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ ก็เป็นเพียงการกระทำที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยทั่วไปเท่านั้น ซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงทำให้เห็นได้ว่าเรื่องนี้ควรจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
แต่ประชาชนทั่วไปไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงที่จะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำที่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครบถ้วนโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ หรือเพิกถอนกฎกระทรวงฉบับนี้เสียเลย อันเป็นการเสนอเรื่องต่อศาลปกครองของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตาม พรป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 23 (2)
ดังนั้น ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายการส่งผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำโดยไม่ได้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อน จึงน่าจะมีการดำเนินการต่อไปเพื่อให้องค์กรที่มีอำนาจที่แท้จริงได้วินิจฉัย
เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เป็นประเด็นที่ผู้ร้องเห็นว่ามีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะล้มล้างอำนาจตุลาการ และหากมีการกระทำขึ้นอีกเรื่อย ๆ จะเป็นการล้มล้างการปกครองในที่สุด จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำนั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณา จึงเป็นคนละประเด็นกับที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังวินิจฉัยในเรื่องการกระทำผิดอาญาของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผู้ที่กำลังลุ้นผลการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะได้สบายใจกัน
อ่านเรื่องประกอบ
- INFO :สรุปมติ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน ขรก.-จนท.รัฐ 12 ราย คดีเอื้อ'ทักษิณ' ชั้น 14
- มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน อธิบดี-หมอ-ผบ.คุก-จนท.12ราย เอื้อ 'ทักษิณ' ชั้น 14
- ใครทำอะไรบ้าง? เปิดครบบทบาทหน้าที่ 12 ขรก.-จนท. ป.ป.ช.ไต่สวนคดีเอื้อ 'ทักษิณ' ชั้น 14
คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ
- ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่รับคำร้อง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างการปกครองฯ
- ‘ทักษิณ’ จ่อ ให้ถ้อยคำ อสส. ‘คดีล้มล้าง ฯ’ – ‘ธีรยุทธ’ ขยี้ ปม ‘MOU44-เกาะกูด’
- 7 โมงเช้า 10 ตุลา ไพบูลย์ เฉลย คำร้อง ธีรยุทธ ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
- เปิดคำร้องศาลรัฐธรรมนูญฉบับย่อ สั่ง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ เลิกล้มล้างการปกครองฯ
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม (1)
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ฯ ฉบับเต็ม (2)
- เปิดคำร้องทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ฯ ฉบับเต็ม (จบ)