'คีรี' นำทีมผู้บริหาร BTS แถลงจี้ กทม.-กรุงเทพธนาคม รีบจ่ายหนี้เดินรถส่วนต่อขยาย 1-2 วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อ 26 ก.ค.ทีผ่านมา ชี้จ่ายช้า ดอกเพิ่มทุกวัน ก่อนกางหนี้เดินรถส่วน 1-2 ยังมีอีก 2 ก้อน รวมวงเงินทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ อีสติน พญาไท นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC แถลงข่าวเรื่องหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา
นายคีรีเริ่มต้นว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (หนี้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (หนี้ช่วงเดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท นั้น นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ BTSC ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ซึ่งได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบมาโดยตลอด
วันนี้ เป็นการยืนยันคำพูดของที่ว่า BTSC ทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพราะบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นตนต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร ที่ยืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน ที่สำคัญคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป เพราะสัญญาไม่มีอะไรผิด การจัดซื้อจัดจ้างไม่ผิด
“ผมได้รับทราบข่าวจากสื่อว่า เบื้องต้นทางกทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่ก็อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ยอดหนี้รวมทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากกทม.และ KT ยังไม่รีบดำเนินการ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน ที่ผ่านมาเราต้องกู้เงินมาจ่ายค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เราเป็นเอกชน คงไม่มีเอกชนไหนที่จะเป็นไฟแนนซ์ให้รัฐบาลได้เหมือนเราอีกแล้ว ภาระดอกเบี้ยปีละ 2,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ย วันละ 7 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งรายได้ ซึ่งเทียบกับ MLR + 1 หรือ คิดเป็นประมาณ 8% ขณะที่โครงการนี้ มี IRR ประมาณ 9-12% เราได้ 8% ไม่ใช่เรื่องนี้ จริงๆ เพราะเราต้องการเงินไปลงทุนมากกว่า รอดอกเบี้ยหนี้ค้างชำระแบบนี้" นายคีรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม บีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ตามคำสั่งศาลภายใน 180 วัน ทั้งนี้ หนี้ที่ได้รับมาบริษัทจะนำไปลงทุนพัฒนาในธุรกิจของบริษัทต่อไป
@หนี้เดินรถ 3 ก้อน เหยียบ 4 หมื่นล้าน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ไทม์ไลน์ของคดีนี้ ต้องทำความเข้าใจสัญญาที่กำกับก่อนคือ
โดยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวน 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท
2.ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับ BTSC ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลา คม 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
3.ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท
ซึ่งไม่รวมค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585
อย่างไรก็ตาม บีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่น ๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอสก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
"รู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว" นายคีรีกล่าว
@ชี้ศาลปค.วินิจฉัย สัญญาจ้างปี 85 ไม่ผิด
นายคีรี กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลชี้ชัดว่า สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 1 และ2 ที่สิ้นสุดปี 2585 นั้นถูกต้อง ซึ่งสัญญานี้จะครอบคลุมไปถึงส่วนของการเดินรถเส้นทางหลัก ที่สัมปทานจะหมดในปี 2572 ว่า กทม.และ KT จะต้องจ้างบริษัท เดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนเส้นทางหลักนี้ ไปจนถึงปี 2585 รวมไปด้วยเป็นตลอดสาย เส้นทางหลัก ส่วนต่อขยาย 1 และ ส่วนต่อขยาย 2 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60 กม. เพราะกทม.ต้องการให้ สายสีเขียวทั้งเส้นทางเป็นระบบเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณีที่ กทม. จะศึกษา PPP หาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนของเส้นทางหลัก หลังสัมปทานสิ้นสุดปี 2572 นั้นย่อมทำได้ แต่ตามเงื่อนไขนี้ ไม่ว่าใครจะเข้ามารับสัมปทานส่วนหลัก จะต้องจ้างบีทีเอสเดินรถและซ่อมบำรุงต่อไปอีก 13 ปี หรือจนถึงปี 2585 ซึ่งต้องรอดู ว่ากทม.จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งวันนี้ ทางกทม.ได้เริ่มจ้างที่ปรึกษามาคิดแล้วว่า หลังสัมปทานหมดปี 2572 จะทำอย่างไรต่อไป
ขณะที่สัมปทานเส้นทางหลัก เขียนไว้ว่า ก่อนสัญญาหมด 3-5 ปี บริษัทสามารถยื่นร้องขอกทม.ในการต่อสัมปทานได้ ส่วนจะยื่นหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนภายใต้ความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจ และภาวะการเดินทางของผู้คนที่ไม่เหมือนเดิมไม่อยากออกจากบ้าน เหมือนเดิม แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าระบบราง ยังเป็นการเดินทางที่แก้ปัญหาจราจรดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ตนมองว่าไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ รับจ้างเดินรถทั้งสายไปถึงปี 2585 หรือ ยื่นสัมปทาน หลังปี 2572
อ่านประกอบ
- พลิกคดี‘หนี้สายสีเขียว’หมื่นล.!‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้สัญญา‘ส่วนต่อขยาย’ไม่เข้าข่าย กม.ร่วมทุนฯ
- ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่ง‘กทม.’จ่ายค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง‘สายสีเขียว’ 1.2 หมื่นล้าน ให้ BTSC
- กทม.แจงกมธ.หนี้สายสีเขียวค้าง 87,147 ล้าน ใช้ช่อง PPP ต่อสัมปทานใหม่
- กทม.จ่ายหนี้ E&M 2.3 หมื่นล้าน ‘สายสีเขียว’ ชง ‘มหาดไทย’ เลิกคำสั่งม.44
- เม.ย.67 กทม.จ่ายหนี้ให้ BTS 2.3 หมื่นล้าน หลังราชกิจจาฯ แพร่ประกาศ
- ราชกิจจาฯ ประกาศ กทม.จ่ายหนี้ บีทีเอส 2.3 หมื่นล้าน มีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 67
- สภากทม.ผ่านข้อบัญญัติ งบเพิ่มปี 67 จ่ายงานระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้าน
- สภากทม.เห็นชอบ ข้อบัญญัติควักงบ 2.3 หมื่นล้านจ่าย BTS ‘ชัชชาติ’ จ่อรายงาน ‘มหาดไทย’
- กทม.เตรียมดันข้อบัญญัติควักเงินเก็บ 2.34 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ BTS ก.พ.67 นี้
- สภากทม.เคาะจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท
- สายสีเขียวเหนือ-ใต้ ผู้โดยสารขยับลงไม่มาก มั่นใจ ‘BTS’ ไม่ฟ้องทวงหนี้เพิ่ม
- 'ชัชชาติ' ลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท มีผล 2 ม.ค. 67
- ลุ้น ไม่เกิน15 ธ.ค.66 ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับ กทม.เก็บ 15 บ.สายสีเขียว
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55