กทม.จ่ายหนี้งานระบบสายสีเขียวส่วน 2 ‘หมอชิต-คูคต/แบริ่งเคหะฯ’ วงเงิน 2.3 หมื่นล้านแล้ว เผยเตรียมเสนอ ‘มหาดไทย’ เลิกคำสั่งม.44 หลังการจ่ายหนี้ส่อขัดผลการเจรจาตามคำสั่งดังกล่าว ‘เสี่ยหนู’ ยังไม่ได้รับรายงาน ‘คมนาคม’ สะกิด ‘กรุงเทพฯ’ สะสางภาระรับโอนทรัพย์สินหนี้สินงานโยธาอีก 6 หมื่นล้านด้วย ดักคอร้องรัฐบาลรับภาระแทนไม่ได้ จะเอาทรัพย์สินต้องเอาหนี้สินไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 เมษายน 2567 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชำระหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,312 ล้านบาทแล้ว โดยเป็นการชำระแก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ตามที่สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติการรับโอนงานระบบฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567
ต่อมา สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวงเงิน 23,488,692,200 บาท และกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 สำหรับการรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 เพื่อความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ นอกจากความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ยังเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครอีกด้วย ได้แก่
1. กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอย่างสมบูรณ์ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ป้องกันข้อพิพาทในอนาคต
2. อำนาจต่อรองในการบริหารจัดการการเดินรถกับคู่สัญญามากขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหัวใจสำคัญของการเดินรถ
3. กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดงบประมาณจากดอกเบี้ยในส่วนของค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลได้กว่าวันละ 3 ล้านบาท
“กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดถือประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ” โฆษกของ กทม. กล่าวตอนท้าย
@จ่ายหนี้ แต่ยังขัด ม.44 / หนี้เดินรถส่อลากพ้นยุค ‘ชัชชาติ’
ด้านแหล่งข่าวจากกทม.เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า แม้จะจ่ายหนี้จำนวนดังกล่าวไปแล้ว แต่เนื่องจากค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ถูกบรรจุลงในผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จะไม่จ่ายจนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบผลการเจรจาของคณะกรรมการนี้
ดังนั้น ในขั้นตอนต่อไป อาจจะต้องทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้มีการแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 เพื่อไม่ให้ กทม. ทำผิดกฎหมายดังกล่าว
ขณะเดียวกัน แม้ กทม.จะปลดภาระหนี้ค่างาน E&M แล้ว แต่ กทม.ยังมีภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งปัจจุบันมี 2 คดี รวม 22,823.56 ล้านบาท แบ่งเป็น
คดีแรกค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับ BTSC จำนวน 11,755.06 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และ2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
และคดีที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามที่ BTS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ่ายหนี้เพิ่มอีกประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
ซึ่งมีการประเมินว่า กว่าทั้ง 2 คดีจะถึงที่สุดน่าจะลากออกไปพ้นสมัยของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จะครบวาระในปี 2569 นี้ ยังพอมีเวลาเจรจากับเอกชนได้
@’อนุทิน’ ยังไม่ได้รับรายงาน กทม.จ่ายหนี้สายสีเขียว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ยังไม่ได้รับรายงานถึงการจ่ายเงินดังกล่าวของกทม. และจริงๆก็ได้มอบหมายนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแลกทม.แล้ว ไม่จำเป็นต้องรายงานมาถึงตน
เมื่อถามว่า การจ่ายเงินค่างานระบบดังกล่าว จะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวง่ายขึ้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การดำเนินการเรื่องสัญญาสัมปทานโครงการนี้เป็นภาระของกทม.ที่จะต้องหารือกับเอกชนคู่สัญญาคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่ใต้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ได้ทราบว่ามีสส.ของพรรคภูมิใจไทย เสนอยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.หลายฉบับ รวมถึงคำสั่งคสช.นี้ด้วย จะทำให้การพิจารณาสัมปทานง่ายขึ้นไหม นายอนุทินกล่าวว่า การพิจารณาเกี่ยวกับการต่อหรือไม่ต่อสัมปทาน ต้องทำตามระเบียบและกฎหมายทุกขั้นตอน ดังนั้น เรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แล้วถ้าคำสั่งหัวหน้าคสช.ถูกยกเลิก จะทำให้การพิจารณาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวง่ายขึ้นหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ไม่ทราบ เป็นสิ่งที่กทม.ต้องพิจารณา
@สายสีเขียว ยังค้างโอนค่างานโยธาต่อขยายกับ รฟม.
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบัน กทม.ยังดำเนินการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนของงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วง หมอชิต - สะพานใหม่ - คูตและช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ วงเงินรวม 65,307.08 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 20,967.48 ล้านบาท และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 44,339.60 ล้านบาทไม่เสร็จสิ้น ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน พ.ย. 2561ที่กำหนดให้ กทม.รับโอนทั้งหนี้สินและทรัพย์สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งหนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ทางบัญชี และเป็นหนี้ระหว่างรัฐกับรัฐ มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ
ส่วนที่ผู้ว่ากทม.จะให้รัฐบาลรับภาระหนี้ก้อนนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมมองว่า ปัจจุบันหนี้ก้อนนี้ยังอยู่กับ รฟม. และที่ผ่านมาภาระหนี้ก่อสร้างโครงการขชนาดใหญ่ ไม่เคยมีใครจ่ายหนี้ เพียงแต่มีการบันทึกในทางบัญชีเท่านั้นว่าเป็นหนี้ของหน่วยงานใด แต่ถ้าถามว่าต้องจ่ายหนี้หรือไม่ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครจ่ายอยู่แล้ว
“และการที่ผู้ว่ากทม.จะให้รัฐบาลกลางรับภาระหนี้ค่างานโยธา แล้วยกทรัพย์สินเป็นส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ให้ฟรีๆโดยไม่มีการบันทึกทางบัญชีเอาไว้ กทม.ก็เอาเปรียบหน่วยงานอื่นมากไปหรือเปล่า เพราะเงินที่เอามาก่อสร้างเป็นเงินจากกระทรวงการคลัง เป็นของส่วนกลาง ถ้า กทม.จะแสดงความเป็นเจ้าของส่วนต่อขยายสายนี้ ก็รบกวนบันทึกเอาหนี้สินไปด้วย” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าว