กมธ.คมนาคม เรียกกทม.-กรุงเทพธนาคม-BTSC แจงสายสีเขียว อัพเดทหนี้ล่าสุดอยู่ที่ 87,147 ล้านบาท ส่วนแนวทางหลังสัมปทานหมดปี 2572 ส่อไปในทางเปิดเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ก่อนจี้เข้าร่วมตั๋วร่วม อาจรอ ‘คมนาคม-สนข.’ พัฒนาระบบ ABT ดึงร่วมวง พร้อมดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมเข้าครม. พ.ค.นี้ ดันเข้าสภาฯต้นปี 68 บังคับใช้ปลายปีเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปัจจุบันมีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ มีบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้รับสัมปทาน รวมถึงมีหน่วยงานอย่าง บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ซึ่งกรรมาธิการได้เชิญทั้ง 3 หน่วยงานมาหรือ
@กางภาระหนี้สายสีเขียว 8.7 หมื่นล้านบาท
ประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยมีในส่วนของหนี้สิน ซึ่งทางกรรมาธิการต้องการทราบความคืบหน้า โดยทางกทม.รายงานว่า ปัจจุบันมูลหนี้ที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีจำนวน 3 ส่วน มูลค่ารวม 87,147 ล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้
1.หนี้งานโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างกทม.กับกระทรวงการคลัง เกี่ยวเนื่องกับการรับโอนภาระทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่ารวม 56,112 ล้านบาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้มีการชี้แจงว่า กทม.จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาได้หยุดจ่ายเนื่องจากมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน กทม.มีแนวคิดที่จะให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อปิดหนี้ในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับโอนภาระหนี้สินและทรัพย์สินในส่วนนี้ มีการออกข้อบัญญัติกู้เงินกับกระทรวงการคลังอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2561 ทางกรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเปลี่ยนไปเป็นการให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนแทนหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ไม่ได้สอบถามในประเด็นทีเ่กี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินเลย คุยกันแต่เรื่องหนี้ว่า การเสนอให้กระทรวงมาหดไทย เสนอต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเปลี่ยนแปลงในการเจรจาหรือไม่ ซึ่งวันนี้คุยกันแต่เรื่องตัวเลขอย่างเดียว โดยฝ่ายที่ชี้แจงยังบอกว่า ยังไม่เปลี่ยนแนวทางอะไร แค่ปรับตัวเลขบางส่วนเท่าไหร่
2.หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่า 23,112 ล้านบาท ระหว่างกทม., บจ.กรุงเทพธนาคม และ BTSC อย่างไรก็ตาม หนี้ส่วนนี้ได้มีการชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 และได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กทม.เรียบร้อยแล้ว ต่อมา กทม.ได้รายงานกระทรวงมหาดไทย รวมถึงได้แจ้งกรณีที่มีเงื่อนไขบางประการในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
3.หนี้ค่างานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M ) มูลค่า 31,035 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้าและช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง มูลค่า 5,999 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต มูลค่า 25,036 ล้านบาท โดยมูลหนี้ส่วนนี้นับถึงเดือน เม.ย. 2567 หน่วยงานเกี่ยวข้องกทม. กรุงเทพธนาคม และ BTSC ปัจจุบันหนี้ส่วนนี้เป็นประเด็นพิพาทในศาลปกครอง อยู่ระหว่างการพิพากษาในชั้นศาลปกครองสูงสุด
@กทม.ส่อต่อสัมปทานสายสีเขียวแบบ PPP
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ได้สอบถามหรือไม่ว่า ภายหลังระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดอายุสัมปทานในปี 2572 จะมีแนวคิดโอนให้กระทรวงคมนาคมไปบริหาร เพื่อให้การบริหารจัดการรถไฟฟ้ามีเจ้าภาพแค่คนเดียวหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า มีการพูดกันอยู่แต่เพียงเล็กน้อย โดยกทม.ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 แล้ว และเนื่องจากใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 จึงได้รายงานกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาทำโครงการตามแนวทาง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โดยได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 2568 เตรียมความพร้อมในการจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุน PPP
เมื่อถามว่า แต่ปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ยังไม่ถูกยกเลิก และแนวทางที่ผ่านมาก็ดำเนินไปบนคำสั่งนี้ มีการสอบถามหรือไม่ว่า กทม.จะเอาอย่างไรกันแน่ นายอนุชาตอบว่า กทม.ชี้แจงว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีจดหมายถึงหน่วยงานทั้งหมดว่า อะไรที่เป็นอุปสรรคในการทำงานสามารถเสนอปลดล็อกคำสั่งต่างๆได้ เพื่อให้เดินหน้าต่อ ดังนั้น กทม.อาจจะมีแนวทางพิจารณาต่อไป แต่คงต้องดูผลการศึกษาที่กำลังจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษา
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ถ้าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ ก็ยกเลิกได้ใช่ไหม นายอนุชาตอบว่า ถ้ากทม.มองว่าเป็นอุปสรรคก็สามารถดำเนินการเพื่อปลดล็อก เดินหน้าได้ ส่วนจะไปออกเป็น พ.ร.บ.ยกเลิก ไม่ได้คุยลึกขนาดนั้น เพียงแต่หารือถึงแนวทางก่อน
อนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
@ดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมเข้าครม.พ.ค.นี้/ผุดระบบ ABT ดึงสายสีเขียวร่วมวง
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นหนี้แล้ว ที่ประชุมยังได้สอบถามเกี่ยวกับการเข้าระบบตั๋วร่วม ซึ่งคุยกันใน 2 ประเด็น คือ การใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบรถไฟฟ้า และการลดการเก็บค่าแรกเข้า เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
เบื้องต้น เรื่องค่าแรกเข้าคงต้องกระทรวงคมนาคมผลักดันร่างพ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....ก่อน ซึ่งกรรมาธิการจะเชิญกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาหารือในสัปดาห์หน้า แต่คร่าวๆที่ได้รับทราบข้อมูลหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วมเห็นชองร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ตอนนี้อยู่ระหว่างการผลักดันเสนอ ครม.ให้ได้ภายในเดือน พ.ค. 2567 นี้ จากนั้นคาดว่าจะมีการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประมาณ 6 เดือน (มิ.ย.-พ.ย. 2567) ก่อนจะส่งกลับมาที่ ครม. พิจารณาช่วงปลายปี 2567 และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ในช่วงต้นปี 2568 และคาดว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2568 ต่อไป
ส่วนประกาศที่เกี่ยวข้องและการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะทำได้สำเร็จในปี 2568
ขณะที่การเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม ปัจจุบันรถไฟฟ้าในการกำกับของ รฟม. สามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยบัตรใบเดียวแล้ว แต่ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรรมาธิการเป็นห่วงว่า หากรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ร่วมด้วย ก็ถือว่ายังไม่มีตั๋วร่วมเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ทาง สนข.เคยชี้แจงว่าจะมีการใช้ระบบใช้เทคโนโลยีบัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing: ABT) โดยเป็นระบบที่รองรับบัตรเครดิตและเดรบิตที่ออกโดยสถาบันการเงินทั้ง Bank และ Non Bank โดยจะใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีนี้อีก 8 เดือน จึงจะสำเร็จ หลังจากนั้นน่าจะดึงทุกภาคส่วนมาร่วมกันได้ โดยทาง BTSC ไม่ได้มีท่าทีขัดข้องแต่อย่างใด และประเด็นนี้จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุมกรรมาธิการสัปดาห์หน้าด้วย
ส่วนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ประชุมไม่ได้หารือกัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยระหว่างผู้รับสัมปทาน รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกที คงไม่เกี่ยวกับภาพรวมภาพใหญ่ที่คุยกันอยู่ แต่ในการเชิญกระทรวงคมนาคมและ สนข. ในสัปดาห์หน้า จะมีการสอบถามแน่นอนว่า จะผลักดันได้จริงอย่างไรบ้าง?
อ่านประกอบ
- กทม.จ่ายหนี้ E&M 2.3 หมื่นล้าน ‘สายสีเขียว’ ชง ‘มหาดไทย’ เลิกคำสั่งม.44
- เม.ย.67 กทม.จ่ายหนี้ให้ BTS 2.3 หมื่นล้าน หลังราชกิจจาฯ แพร่ประกาศ
- ราชกิจจาฯ ประกาศ กทม.จ่ายหนี้ บีทีเอส 2.3 หมื่นล้าน มีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 67
- สภากทม.ผ่านข้อบัญญัติ งบเพิ่มปี 67 จ่ายงานระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้าน
- สภากทม.เห็นชอบ ข้อบัญญัติควักงบ 2.3 หมื่นล้านจ่าย BTS ‘ชัชชาติ’ จ่อรายงาน ‘มหาดไทย’
- กทม.เตรียมดันข้อบัญญัติควักเงินเก็บ 2.34 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ BTS ก.พ.67 นี้
- สภากทม.เคาะจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท
- สายสีเขียวเหนือ-ใต้ ผู้โดยสารขยับลงไม่มาก มั่นใจ ‘BTS’ ไม่ฟ้องทวงหนี้เพิ่ม
- 'ชัชชาติ' ลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท มีผล 2 ม.ค. 67
- ลุ้น ไม่เกิน15 ธ.ค.66 ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับ กทม.เก็บ 15 บ.สายสีเขียว
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55