สภากทม.เห็นชอบข้อบัญญัติงบประมาณปี 67 เพิ่มเติม ควักเงินเก็บ กทม. 2.3 หมื่นล้านจ่ายหนี้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต - คูคต ‘ชัชชาติ’ ไม่กังวลจ่ายหนี้บนโครงสร้างที่ยังรับโอนจาก รฟม. ไม่สำเร็จ ชี้คุย รฟม.ได้ เล็งทำหนังสือรายงาน ‘มหาดไทย’ สัปดาห์หน้า ก่อนยอมรับอาจจะต้องปรับแก้คำสั่งคสช.เรื่องสายสีเขียว เพราะมีการล้วงเอาหนี้บางส่วนมาจ่ายก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 มกราคม 2567 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ซึ่งมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ...
ในที่ประชุม ผู้ว่าฯกทม.รายงานสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว และเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 จำนวน 51,804.22 ล้านบาท
“ด้วยกรุงเทพมหานครต้องรับมอบทรัพย์สินระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และชำระค่างานระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล ตามโครงการดังกล่าว จึงเสนอสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 23,488,692,200 บาท” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
หลังจากที่นายชัชชาติกล่าวรายงาน สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง และนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน ซึ่งอภิปรายไปในทางเห็นด้วยกับการที่นายชัชชาติเสนอ
@จี้ฝ่ายบริหารเร่งชี้แจงประชาชน
จนกระทั่งนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ขึ้นอภิปราย โดยกล่าวว่า มีความห่วงใยอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ถึงแม้ความมั่นคงทางการคลังของ กทม.จะไม่สั่นคลอนจากการจ่ายหนี้ดังกล่าว แต่จำนวนเงิน 23,400 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่าสูง จึงอยากฝากฝ่ายบริหารให้เร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ดี เพราะประชาชนจะตั้งคำถามว่า เงินจำนวน 23,400 ล้านบาทนี้คุ้มค่ากับที่ต้องจ่ายออกไปหรือไม่ และ 2. เมื่อเป็นทรัพย์สินของ กทม.แล้ว ใครจะเข้ามาบริหาร ฝ่ายบริหารต้องหาทางออกไว้ว่า จะมอบหมายให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) บริหารตามเดิมหรือไม่ ขอให้หาคำตอบด้วย
ในที่สุด ที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ... จำนวน 23 ท่าน กำหนดเวลาแปรญัตติ 3 วันทำการ และกฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภากทม.ได้รับร่างข้อบัญญัติเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ที่ประชุมสภากทม.ยังได้ขยายสมัยการประชุมสามัญสภากทม.ออกไปอีก 15 วันด้วย โดยจากเดิมที่จะสิ้นสุดสมัยประชุมในวันที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ เปลี่ยนเป็นสิ้นสุดในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากมีเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก
@ไม่ชัวร์จ่ายใน เม.ย. 67 เลยไหม
ต่อมา ผู้ว่ากทม.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หลังจากสภากทม.เห็นชอบแล้ว และได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ก็คาดว่าทางสภากทม.คงเร่งรัดเรื่องนี้ เพราะสภากทม.แปรญัตติเพียง 3 วัน และการขยายระยะเวลาสมัยประชุม อาจจะมาจากกรณีที่หลังจากคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาแล้ว ส่งกลับมาที่สภากทม.ทันเพื่อพิจาณณาในวาระ 2-3 ต่อไป
หลังจาก กทม. จะต้องหารือกับ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) และเอกชนคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เพื่อสรุปตัวเลขและความรับผิดชอบที่มีต่อไป และต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า หากที่ประชุมสภากทม.พิจาณณาให้ผ่านแล้ว จะจ่ายให้ BTSC เป็นก้อนเดียวเลยหรือไม่ นายชัชชาติระบุว่า ต้องดูรายละเอียดและต้องดูเงินที่จะเอามาจ่ายอยู่ในบัญชีอะไรและจะเบิกมาจ่ายได้อย่างไร เพราะเงินที่มีอยู่ก็อยู่ในประเภทฝากประจำ จะให้ฝ่ายการคลังดูตัวเลขอีกที
ส่วนจะสามารถจ่ายได้ภายในเดือนเม.ย. 2567 นี้ใช่หรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องรอให้สภากทม.ผ่านทั้ง 3 วาระก่อน เขื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จากนั้นก็น่าจะพร้อมคุยในรายละเอียดต่อไป ยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรผลีผลาม แต่เป็นการทำให้เกิดความสบายใจขึ้น ซึ่งก็เริ่มมาตั้งแต่การเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท จนมาถึงการจ่ายหนี้ค่างาน และเหลือเรื่องการจ่ายหนี้เดินรถที่ประเด็นยังอยู่ที่ศาลปกครอง รวมถึงค่างาฯโครงสร้างพื้นฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการเสนอสภากทม.เพื่อจ่ายหนี้ค่างาน E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ดูไวกว่าปกติหรือไม่ เพราะเมื่อปีที่แล้ว (2566) ท่าทีสภากทม.ยังดูคัดค้านอยู่ ผู้ว่ากทม.กล่าวว่า น่าจะเกิดจากการที่ได้ทำความเข้าใจกัน เมื่อได้คำตอบจากกระทรวงมหาดไทยมา ทุกคนก็เริ่มเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงสภากทม.มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาประเด็นนี้ ก็เป็นจุดที่ได้ลงรายละเอียดกันมากขึ้น คิดว่าเป็นสิ่งที่มาถูกทาง
เมื่อถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ่ายหนี้โดยที่กระบวนการรับโอนทรัพย์สินหนี้สินในส่วนต่อขยายที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินกว่า 50,000 ล้านบาทยังไม่สมบูรณ์นั้น นายชัชชาติตอบว่า กทม.ไม่ได้กังวลอะไรมากนัก เพราะการรับโอนทรัพย์สินหนี้สินเป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ สุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว เพราะก็ไม่มีเอกชนมาเกี่ยวข้องในประเด็นนี้
แต่เรื่องงานระบบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าสุดท้ายงานระบบไม่ได้อยู่กับ กทม. ถ้าเกิดมีข้อขัดข้องในอนาคต จะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ซึ่งการจ่ายหนี้ส่วนนี้ก่อน ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาแล้วว่า ควรแยกออกมาก่อน ส่วนทรัพย์สินของรัฐกับรัฐไม่ได้มีปัญหาอะไร สามารถคุยกันได้
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@รายงาน ‘มหาดไทย’ สัปดาห์หน้า / รับต้องแก้คำสั่งหัวหน้าคสช.
ส่วนกระบวนการรับโอนทรัพย์สินหนี้สินจาก รฟม. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายชัชชาติระบุว่า คงต้องหารือกันต่อไป เพราะปัจจุบันก็ยังจ่ายดอกเบี้ยให้ รฟม.อยู่ และต้องทำหนังสือรายงานกระทรวงมหาดไทยด้วยว่า กำลังทำอะไรอยู่บ้าง คาดว่าจะรายงานกระทรวงมหาดไทยในสัปดาห์หน้า
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 กำกับอยู่ การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลกระทบแน่นอน เพราะในคำสั่งดังกล่าวได้รวมหนี้ก้อนนี้เข้าไปด้วย ดังนั้น ถ้ามีการจ่ายหนี้ก้อนนี้ในรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้า คสช.ก็น่าจะเปลี่ยนไป ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ก็ต้องปรับแก้มูลหนี้ในคำสั่งใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยต้องไปทำมา
“เงินที่เรามีอยู่ 5 หมื่นล้านบาทยังมีภาระที่ต้องใช้อยู่อีกมาก ค่า O&M สายสีเขียวหรือหนี้ค่ารถเรือดับเพลิงอีก เพราะฉะนั้นคงไม่มีเงินเหลือมากขนาดนั้น ยกเว้นอนาคตได้ส่วนสัมปทานหลักสายสีเขียวกลับมา ก็อาจจะมีเงินเข้ามามากขึ้น” ผู้ว่ากทม.ทิ้งท้าย
อ่านประกอบ
- กทม.เตรียมดันข้อบัญญัติควักเงินเก็บ 2.34 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ BTS ก.พ.67 นี้
- สภากทม.เคาะจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท
- สายสีเขียวเหนือ-ใต้ ผู้โดยสารขยับลงไม่มาก มั่นใจ ‘BTS’ ไม่ฟ้องทวงหนี้เพิ่ม
- 'ชัชชาติ' ลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท มีผล 2 ม.ค. 67
- ลุ้น ไม่เกิน15 ธ.ค.66 ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับ กทม.เก็บ 15 บ.สายสีเขียว
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55