“…การจ้างดังกล่าว จึงมิได้เป็นการให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ซึ่งเป็นเอกชน เข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดในกิจการของรัฐ…”
......................................
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีพิพากษาให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันชำระเงิน สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) จำนวน 2,348.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
และสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุป ‘คำวินิจฉัย’ ในประเด็นต่างๆ รวมถึงการวินิจฉัยเกี่ยวกับ ‘ข้อต่อสู้’ ของ กทม.ที่น่าสนใจในคดีนี้ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ชำระเงินสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ส่วนต่อขยาย’ กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ให้ BTSC ดังนี้
@จ้าง‘BTSC’เดินรถ‘สายสีเขียว’ไม่เข้าข่าย‘กม.ร่วมทุนฯ’
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ต้องชำระเงินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและช่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนฯ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) หรือไม่ เพียงใด
โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นโมฆะหรือไม่
ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 มีมติด้วยเสียงข้างมากว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) จะจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) เพื่อดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (26) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ก็ตาม
แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดที่มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ 99.98 และเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีสถานะเป็นวิสาหกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้เป็นผู้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการะบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 2 พ.คง2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 28 ก.ค.2559 ซึ่งเป็นกิจการในการจัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ดังนั้น การดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ในฐานะกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ตกลงจ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) ซึ่งเป็นเอกชนให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555
และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง สัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 ซึ่งสัญญาทั้งสองฉบับ กำหนดให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสาร แล้วนำเข้าฝากและเก็บรักษาไว้ในบัญชีเงินฝากค่าโดยสารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนเท่านั้น โดยหาต้องร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การจ้างดังกล่าว จึงมิได้เป็นการให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ซึ่งเป็นเอกชน เข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดในกิจการของรัฐ ที่จะเข้าลักษณะตามนิยามคำว่า “ร่วมงานหรือดำเนินการ” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
หรือที่จะเข้าลักษณะตามนิยมคำว่า “ร่วมลงทุน” ที่กำหนดไว้ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่มีการจัดจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามแต่ละกรณี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 แต่อย่างใด
ประกอบกับผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นผู้ได้รับสัมปทานในเส้นทางหลัก (ส่วนสัมปทาน) สายสุขุมวิท จากหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน อายุสัมปทาน 30 ปี โดยเริ่มเปิดบริการเดินรถในเส้นทางดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2542
ผู้ฟ้องคดี (BTSC) จึงเป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนเส้นทางหลัก (ส่วนสัมปทาน) และส่วนต่อขยาย เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นโครงข่ายเดียวกัน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง ซึ่งควรดำเนินการโดยผู้ให้บริการรายเดียวกัน
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) จ้างผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จึงเข้าข่ายลักษณะที่จะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ได้
ดังนั้น สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส. 006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กร.ส. 024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จึงมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในสัญญา
เมื่อผู้ฟ้องคดี (BTSC) ได้ปฏิบัติงานตามสัญญาครบถ้วนถูกต้อง และส่งมอบงานจ้างต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตามที่กำหนดในสัญญา พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
@สั่ง‘กทม.’จ่ายหนี้สายสีเขียว‘ส่วนต่อขยาย 1-2’ 1.2 หมื่นล.
กรณีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ต้องชำระเงินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เพียงใด
เห็นว่า …เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสีลม และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท หรือโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ได้ทำสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 ว่าจ้าง ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริหารระบบ ตกลงว่าจ้างผู้ฟ้องคดีผู้มีความชำนาญและมีเครื่องมืออุปกรณ์อันจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวเนื่องกับการเดินรถไฟฟ้า ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรวมทั้งเก็บเงินค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1…
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของงวดเดือน พ.ค.2562 ถึงงวดเดือน พ.ค.2564 ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โดยมิพักต้องเตือน ดังนั้น การคำนวณดอกเบี้ยตามสัญญาในกรณีนี้ จึงเริ่มคิดคำนวณนับแต่วันถัดจากวันที่ 20 ของเดือนถัดไป…
เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยของหนี้ค้างชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 แล้ว
จึงมีหนี้เงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 149,567,402.47 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,348,659,232.74 บาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาของเงินต้นจำนวน 2,199,091,830.27 บาท นับตั้งวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ตกลงทำสัญญากับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 โดยสัญญาดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เช่นเดียวกันกับส่วนต่อขยายที่ 1….
ข้อเท็จจริงปรากฎว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ทางโครงการยังไม่มีนโยบายให้เก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) จึงไม่สามารถนำเงินค่าโดยสารจากการเดินรถไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในส่วนต่อขยายที่ 2 ได้
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ตั้งแต่ที่มีการเดินรถในเดือน เม.ย.2560 ถึงเดือน พ.ค.2564 ซึ่งกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดี ยืนยันสอดรับกันว่า จำนวนต้นเงินค่าเดินรถและซ่อมบำรุงที่ค้างชำระนั้นมีจำนวน 8,786,765,195.47 บาท
ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดที่เกิดขึ้นจากการไม่ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น เมื่อสัญญากำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดไว้แล้ว ผู้ฟ้องคดี (BTSC) สามารถอาศัยสิทธิตามสัญญาคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากการไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงได้ตามสัญญาข้อ 3 (ก) และ (ข)...
เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ยื่นต่อศาลแล้ว เห็นว่า วันที่มีการตรวจรับงานของแต่ละงวดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ ๒ นั้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 20 ของเดือน อันเป็นวันที่ครบกำหนดจ่ายค่าจ้างตามสัญญา ซึ่งหากจะถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแล้วจะมีจำนวนเงินน้อยกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่อาจคำนวณได้ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระตามสัญญา
ดังนั้น เมื่อกำหนดการจ่ายค่าจ้างและวิธีคิดดอกเบี้ยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ได้ถูกกำหนดไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดี จึงสามารถอาศัยสิทธิตามสัญญาคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามสัญญาได้ แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ตรวจรับงาน กรณีนี้จึงกำหนดดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามฟ้องเป็นเงินจำนวน 619,653,523.89 บาท
เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยของหนี้ค้างชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 แล้ว
จึงมีหนี้เงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 619,653,523.89 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 9,406,418,719.36 บาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาของต้นเงินจำนวน ๘8,786,765,195.47 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
@‘กทม.’ต้องร่วมจ่ายค่าจ้าง‘สายสีเขียว’ เพราะเป็น‘ตัวการ’
กรณีมีประเต็มที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า...เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคม) ค้างชำระค่าจ้างและดอกเบี้ยที่ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับผู้ฟ้องคดี (BTSC) สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 ตามข้อพิพาทในคดีนี้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะเป็นผู้ชำระค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาดังกล่าว โดยเริ่มชำระตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยจะนำรายรับจากค่าโดยสารไปใช้จ่ายค่าบริการดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนที่ขาด ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงเดือน เม.ย.2562
แต่เนื่องจากในเดือน เม.ย.2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน อำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร
และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งตามคำสั่งดังกล่าว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะกรรมการฯ มีการเจรจา โดยให้นำค่าบริการเดินรถและค่าซ่อมบำรุงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม (ผู้ฟ้องคดี) ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึงเดือน ส.ค.2563
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0100/14661 ลงวันที่ 16 ก.ย.2562 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) จึงได้ขอชะลอการเบิกจ่ายเงินส่วนที่ขาดประจำปี 2561 ส่วนที่เหลือ และปี 2562 (เดือน ก.ย.2561 ถึงเดือน เม.ย.2562 ) ออกไปก่อน
และตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ยังมิได้มีการแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อขอเบิกรายรับจากค่าโดยสารเพื่อไปชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงให้ผู้ฟ้องคดี สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ
โดยเมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถตามโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงยังไม่มีการนำรายรับเพื่อนำไปชำระค่าเดินรถและละซ่อมบำรุงให้แก่ผู้ฟ้องคดี
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่อาจอ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวเพื่อไม่ชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงนิติสัมพันธ์ ข้อผูกพันตามสัญญา บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
กรณีจึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (6) (7) และ (8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นวิสาหกิจ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.98 เป็นผู้บริหารโครงการดังกล่าว ซึ่งการบริหารโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์หรือกำไร
แต่เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพและบรรลุผล โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังต้องมีหน้าที่สนับสนุนคำบริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ดีที่ 2 เพื่อนำไปชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนี้ค้างชำระตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555 ในโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1
และตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริง-สมุทรปราการ สัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ในฐานะตัวการ จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะตัวแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ตามมาตรา 797 วรรคหนึ่ง มาตรา 810 วรรคหนึ่ง มาตรา 815 และมาตรา 8220 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น
@‘ป.ป.ช.’ยังไม่ชี้มูลคดี‘ขยายสัมปทาน’ จึงไม่มีผลต่อสัญญาฯ
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) กล่าวอ้างกรณีสัญญาพิพาท ไม่ใช่สัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เห็นว่า คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลปกครองต่องต่อศาลปกครองชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การหรือก่อนพ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การเป็นอย่างช้า
และศาลปกครองชั้นชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลปกครองสูงสุดจะรับไว้พิจารณาตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) และผู้ถูกพ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาพิพาทในคดีนี้กับผู้ฟ้องคดีในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2515
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 และวันที่ 7 พ.ย.2549 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เห็นว่า โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการโดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยไม่ได้ให้สัมปทานแก่เอกชน เนื่องจากหาเอกชนมารับสัมปทานไม่ได้
และส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับมอบโครงการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ว่าจ้างและมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นวิสาหกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้บริหารโครงการดังกล่าว โดยการว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้เป็นผู้ให้บริการโครงการ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดี ในการทำสัญญาพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2515 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2543 และวันที่ 7 พ.ย.2549 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพธนาคมฯ) กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิคัดค้านองค์คณะไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 09-3-052/2560 ลงวันที่ 10 ม.ค.2566 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีกล่าวหาว่า หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 13 คน
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขยายอายุสัญญาสัมปทานหรือทำสัญญาเพิ่มเติมให้กับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ให้ประกอบกิจการระบบชนส่งมวลขนกรุงเทพมหานครต่อไปอีก 13 ปี ทั้งที่ยังเหลืออายุตามสัญญาเดิมอีก 17 ปี อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ฟ้องคดี
เห็นว่า กรณีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีการชี้มูลความผิด จึงไม่มีผลต่อสัญญาพิพาทในคดีนี้ แต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังได้
เหล่านี้เป็นสรุปคำวินิจฉัยในคดีที่ BTSC ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ในคดีพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ชำระค่าหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงฯ กว่า 1.2 หมื่นล้านบาทให้ BTSC
โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ได้ชี้ว่า ‘สัญญาจ้างเดินรถฯ’ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) นั้น
ไม่เข้าข่ายปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการ ที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 แต่อย่างใด โดยเข้าข่ายลักษณะที่จะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามข้อ 21 (1) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร!
อ่านประกอบ :
‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่ง‘กทม.’จ่ายค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง‘สายสีเขียว’ 1.2 หมื่นล้าน ให้ BTSC
เบื้องหลังชี้มูลคดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มติ 5:1! ‘ไม่กันตัว‘กรุงเทพธนาคม-ธีระชน’เป็นพยาน
ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯก่อน
เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55