สภากทม.สรุปผลการศึกษารถไฟฟ้าสายสีเขียวเบื้องต้น ผงะหนี้บานกว่า 9.8 หมื่นล้านบาท แนะแยกสัญญา E&M กับ O&M ออกจากกัน - กทม.ดูเองทั้งหมด ไม่ต้องให้ ‘กรุงเทพธนาคม’ - คืนให้รัฐ ด้าน ‘ชัชชาติ’ พอใจผลการศึกษา แต่ยังอุบชงขอเงินสภาจ่ายหนี้ แย้มทำหนังสือถึงมหาดไทยเรื่องัสมปทานสัปดาห์นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะผู้บริหารกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากทม. อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยก่อนเริ่มการประชุม ประธานสภากทม.กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยสมาชิกสภากทม. ตลอดจนผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการที่ร่วมการประชุม ร่วมไว้อาลัย
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน) รายงานผลการศึกษาว่า ได้ศึกษาลำดับความเป็นมา ข้อเท็จจริง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีที่กรุงเทพมหานครได้รับแจ้งมาจากบมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ค้างชำระค่าใช้จ่ายในส่วนของงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) และงานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ถึงปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2566) โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงและให้ข้อมูล
@หนี้สายสีเขียวบาน 9.8 หมื่นล้านบาท
โดยค่าใช้จ่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้าและช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย 3 ส่วนคือ ค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายงานระบบเดินรถ (E&M) และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M ) วงเงินรวม 98,369.68 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย)
ในส่วนค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย เงินกู้งานโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อชชยายที่ 2 วงเงินรวม 43,879 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงินรวม 15,019.14 ล้านบาท และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 28,860 ล้านบาท, เงินยืมค่าจัดกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงินรวม 11,155 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 4,170 ล้านบาท และช่วงหมอชิต * สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 6,984 ล้านบาท, รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการจ้างที่ปรึกษาส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 92.6 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 14.1 ล้านบาท และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 78.4 ล้านบาท,
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 19,173 ล้านบาท
และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 4,832.97 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 24,068.62 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 9,771.1 ล้านบาท และชาวงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 9,474.54 ล้านบาท
นายนภาพรกล่าวต่อว่า ยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็นส่วนของงานโครงสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 ที่รับโอนจาก รฟม. เมื่อปี 2562 โดยกทม.ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการรับโอนทรัพย์สินหนี้สิน ซึ่งได้รับโอนช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการแล้ว ต่อมา กทม.ทำสัญญากู้เงินกับกระทรวงการคลังเฉพาะช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และจ่ายดอกเบี้ยตามงานโครงสร้างพื้นฐานในส่วนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต กทม.ยังไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากอยู่ระหว่างเสนอขอแก้ไขข้อบัญญัติกู้เงินจากวงเงินเดิม 51,000 ล้านบาท เป็น 54,000 ล้านบาท ตามที่ รฟม.สรุปค่าใช้จ่ายมา จึงถือว่ายังไม่ได้รับทรัพย์สินในช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต โดยค่าดอกเบี้ยในส่วนนี้ รฟม.ยังเป็นผู้ชำระอยู่
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) BTSC ฟ้องกทม.และบจ.กรุงเทพธนาคม ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันชำระเงิน ปัจจุบันกทม.และกรุงเทพธนาคมอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่ค่างาน E&M ทาง BTSC ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม. ขอให้ชำระค่าใช้จ่ายภายใต้สัญญาซื้อชายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม และ BTSC เนื่องจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดถึงกำหนดชำระแล้ว โดย BTSC มีหนังสือทวงถามมาแล้ว 5 ฉบับ ระหว่าง ต.ค. 2565 - พ.ค. 2566 มียอดค่าใช้จ่ายเงินต้นรวมดอกเบี้ยทั้งหมด 22,948.62 ล้านบาท ซึ่งกรุงเทพธนาคมมีหนังสือถึง กทม. แจ้งตามที่ BTSC ทวงถามเมื่อเดือน พ.ย.2565 โดย ณ เดือน พ.ย.2565 มียอดค่าใช้จ่ายรวม 20,748.43 ล้านบาท ทั้งนี้ กรุงเทพธนาคมยังไม่ได้หาแหล่งเงินทุนระยะยาวมาชำระหนี้ดังกล่าว เนื่องจากทราบว่า จะนำค่าใช้จ่าย E&M มาเป็นทุนตามเงื่อนไขในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญมีข้อสังเกตโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบันทึกมอบหมายโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2559 เป็นประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายและมีข้อต่อสู้ในศาลปกครองสูงสุด เพียงไม่ให้เสียรูปคดี จึงมีข้อสังเกต ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครควรแยกทำสัญญางานติดตั้งระบบการเดินรถฉบับใหม่กับ BTSC
2.กรุงเทพมหานครควรกำกับดูแลสัญญาเอง ไม่ให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เป็นผู้ดำเนินการ แต่คงสัญญาเดิม คือ บันทึกมอบหมายระหว่าง กทม. กับ บจ. กรุงเทพธนาคม และสัญญาระหว่างบจ. กรุงเทพธนาคม กับ BTSC โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงใหม่นี้ต่อท้ายสัญญา
3.หาก BTSC เสนอราคาขายทรัพย์สินพร้อมเงื่อนไขที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย
4.หากกทม.และ BTSC ไม่สามารถตกลงกันได้ ควรคืนโครงการนี้กลับไปให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ดี จากการพิจารณาของคณะผู้บริหารกทม. คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหางานติดตั้งระบบการเดินรถตามที่ผู้บริหารเสนอ โดยผู้บริหารจะไปดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับรายละเอียดจำนวนเงิน เงื่อนไขการชำระเงิน และบัญชีอุปกรณ์งานระบบการเดินรถเพื่อจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม) การรับมอบทรัพย์สินงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้สอบถามรายละเอียดในประเด็นที่สนใจ อาทิ เรื่องสัญญาการเดินรถ ระบบการเดินรถ การแยกสัญญา E&M และ O&M การแบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ประสิทธิภาพของทรัพย์สินซึ่งกรุงเทพมหานครอาจต้องรับโอนมา ประกอบด้วย นางสาวนฤนันมน์ ห่วงทรัพย์ สก.เขตคลองสามวา นายตกานต์ สุนทรวุฒิ สก.เขตหลักสี่ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@ผู้ว่าฯพอใจผลการศึกษา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังรับฟังการเสนอผลการศึกษารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เท่าที่ฟังถือเป็นทางออกที่ดีที่จะแยกเนื้องานการติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) กับการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M ) ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ออกจากกัน จากนี้จะให้ทีมงานสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง
เมื่อถามว่า จากที่สภากทม.เสนอผลการศึกษา พอจะเห็นช่องทางในการของบประมาณสภากทม.ในการจ่ายค่าจ้าง E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาทหรือยัง ผู้ว่าฯกทม.ตอบว่า ยังไม่ได้คิดขนาดนั้น ต้องขอหารือกันก่อน
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการทำความเห็น กทม. เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติระบุว่า กำลังให้ทีมงานร่างความเห็นเสนออยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้
อ่านประกอบ
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55