‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่ง ‘กทม.-บ.กรุงเทพธนาคม’ จ่ายค่าจ้างเดิน-ค่าซ่อมบำรุง รถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ให้ BTSC ชี้ ‘กทม.’ ต้องทำตามสัญญาจ้างเดินรถฯ
...................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กับกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว)
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันชำระเงิน สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท
และสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาท บวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
“...แม้ว่านี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) จะใด้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด) ซึ่งเป็นวิสาหกิจ โดยผู้ถูกฟ้องดีที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.98% เป็นผู้บริหารโครงการดังกล่าว ซึ่งการบริหารโครงการของผู้ถูกฟ้องคดี 2 ตามสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ถูกฟ้องคดที่ 1 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิใช่เป็นการแสวงหารประโยชน์หรือกำไร แต่เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพและบรรลุผล
โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังต้องมีหน้าที่สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อนำไปชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนี้ค้างชำระตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับผู้ฟ้องคดี (BTSC) ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ในโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการถไฟฟ้าสาสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะตัวแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 797 วรรคหนึ่ง มาตรา 810 วรรคหนึ่ง มาตรา 815 และมาตรา 820 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น...”ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.725/2567 ของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 18 ก.ค.2567 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ฟ้องว่า กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลว. 3 พฤษภาคม 2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี
โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 18 ก.ย.2563 และหนังสือ ลงวันที่ 15 ม.ค.2564 ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท
และสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาทบวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาดังกล่าว