เก็บ 15 บาท สายสีเขียวหมอชิต - คูคต/แบริ่ง-สมุทรปราการ ยังรอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับมา คาดไม่เกินสัปดาห์หน้า (11-15 ธ.ค.66) น่าจะรับความเห็นจาก ‘คมนาคม’ กลับมาได้ ชี้ช่วงต้นปี 67 จะเริ่มเก็บค่าโดยสาร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 ธันวาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 17 กม. จำนวน 14 สถานี ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายนั้นล่าสุด ประเด็นนี้ยังอยู่ที่กระทรวงคมนาคม กำลังเร่งรัดอยู่ คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนต่อจากนี้ จะสามารถลงนามในประกาศ กทม.เพื่อเก็บค่าโดยสารได้ และน่าจะมีผลในช่วงต้นปี 2567 ต่อไป
@ลุ้นสัปดาห์หน้า เซ็นประกาศเก็บค่าโดยสาร
ด้านแหล่งข่าวจากกทม. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบัน นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมได้แจกประเด็นเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ให้ 3 หน่วยงานทำความเห็นเสนอกลับมา ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ซึ่งเท่าที่ทราบยังอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นของทั้ง 3 หน่วยงานนี้ โดยทราบว่ามี 1 หน่วยงานที่ส่งคำตอบมาถึงปลัดกระทรวงแล้ว เหลืออีก 2 หน่วยงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ภายในสัปดาห์หน้าช่วงวันที่ 11-15 ธ.ค. 2566 ทางกระทรวงคมนาคมน่าจะส่งความเห็นกลับมาที่ กทม.
แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้น ผู้ว่าฯกทม.ก็จะสามารถลงนามในประกาศ กทม.ได้ทันที ส่วนจะให้การเก็บค่าโดยสารมีผลเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารที่มีนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม.ว่า จะเห็นควรให้เก็บค่ษโดยสารเมื่อไหร่และอย่างไร?
@’กรมราง’ ส่งความเห็นแล้ว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จริงๆแล้วปลัดกระทรวงแจกให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ทำความเห็นประกอบการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ กทม.เสนอมา ไม่มี สนข.แต่อย่างใด
โดยปัจจุบันมีกรมรางที่ส่งความเห็นกลับมาที่ปลัดกระทรวงแล้ว เหลือเพียง รฟม. ที่อยู่การให้รองผู้ว่าฯ รฟม.ที่เกี่ยวข้องทำความเห็นอยู่ คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะส่งความเห็นกลับมาที่ปลัดกระทรวงได้
@ควรร่วมเว้นค่าแรกเข้า - เร่งระบบ EMV
สำหรับความเห็นของกรมรางที่มีถึงกรณีดังกล่าวคือ 1. แนวทางเก็บค่าโดยสาร (ชั่วคราว) 15 บาทตลอดเส้นทาง ควรมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว พร้อมจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาเปรียบเทียบผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้บริการและจัดเตรียมข้อชี้แจงพร้อมเหตุผลเพื่ออธิบายต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเก็บค่าโดยสารฯ
2. การพิจารณาจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในระยะต่อไป ควรสอดคล้องตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยดำเนินการให้มีการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ หรือค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกัน หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. โดยระบบที่ผู้โดยสารขึ้นก่อนเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้าระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ รฟม. ให้ กทม. และเป็นไปตามความเห็นประกอบการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการของกระทรวงการคลัง
3. การดำเนินงานระบบตั๋วร่วมเร่งรัดการพัฒนาระบบ Ticketing ให้รองรับรูปแบบการชำระเงิน เพื่อรองรับบัตร EMV Contactless (Europay, MasterCard, Visa) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามนโยบายการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม อีกทั้งสอดคล้องกับความเห็นประกอบการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการของกระทรวงการคลังเป็นระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง การยกเว้นการเรียกเก็บค่าแรกเข้า ซึ่งต้องอยูในพื้นฐานของระบบตั๋วรวม ทั้งนี้ ในปัจจุบันรถไฟฟาในการกำกับดูแลของ รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการเรื่องระบบตั๋วรวมมาตรฐานบัตร EMV Contactless แล้ว แต่รถไฟฟ้าในการกำกับดูแลของ กทม. ยังไม่มีการปรับปรุงระบบเป็นระบบดังกล่าว อีกทั้งเป็นนโยบายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้มีการใช้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง จึงเห็นควรให้ กทม. เร่งรัดดำเนินการเปลี่ยนเปนระบบตั๋วรวมเป็นตามมาตรฐานที่สามารถรองรับบัตร EMV ได้
4. เพื่อให้นโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สามารถบูรณาการข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่น เห็นควรให้ กทม. ดำเนินการระบบตั๋วร่วมตามความเห็นข้างต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบูรณาการเดินทางข้ามสาย ตามมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทางของรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ในระยะต่อไป ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีสำโรง หากดำเนินมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทาง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางพร้อมรองรับการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจได้ในอนาคตต่อไป
อ่านประกอบ
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55