สภากทม.อนุมัติจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล (ELECTRICAL AND MECHANICAL WORKS : E&M) วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาทแล้ว เตรียมรายงาน ‘มหาดไทย-ครม.’ ต่อไป ด้าน ‘อนุทิน’ ยังไม่ทราบเรื่อง ก่อนโยน กทม.-ชัชชาติ ตัดสินใจกรณีนี้และการต่อสัญญาสัมปทานตามคำสั่ง ม.44
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 มกราคม 2567 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ซึ่งมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมวานนี้ (17 ม.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอญัตติ ขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ
“โครงการนี้เริ่มก่อนที่ฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครชุดนี้จะเข้ามา และมีปัญหาหลายส่วน การแก้ไขจำเป็นต้องยึดประโยชน์ของกรุงเทพมหานครและประชาชนเป็นหลัก สำหรับร่างข้อบัญญัติขอจ่ายเงินสะสมจ่ายขาดสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาจะพยายามนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้เร็วที่สุด” นายชัชชาติ กล่าว
จากนั้น นายชัชชาติได้รายงานไทม์ไลน์ของโครงการ พร้อมอธิบายส่วนต่าง ๆ ในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 สรุปภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ แนวทางในการรับมอบงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL WORKS : E&M) เหตุผลความจำเป็นในการรับมอบ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1.5 ล้านเที่ยวต่อวัน และข้อพิจารณาที่นำเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.)
@มหาดไทย ชี้ช่อง รับผิดชอบส่วนไหน ให้เบิกเงินส่วนนั้นไปจ่ายได้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งต่อกระทรวงมหาดไทยขอให้พิจารณานำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาว่าการขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากกรุงเทพมหานครรับผิดชอบในส่วนใดก็ให้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนั้นไปได้ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ส่วนกรณีนอกเหนือจากจำนวนเงินดังกล่าว หากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้เสนอมาอีกครั้ง
@ยอดหนี้ถึง เม.ย.67 พุ่งแตะ 2.3 หมื่นล้าน
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครเห็นว่าทรัพย์สินงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ถือว่ามีความสำคัญ หน่วยงานภาครัฐควรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนและให้บริการเดินรถได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ขึ้นว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ และหากกรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้วจะทำให้เอกชนอ้างสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ และปัจจุบันทรัพย์สินนั้นได้ติดตั้งแล้วเสร็จและครบกำหนดชำระแล้ว และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เจรจาต่อรองกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยกำหนดเงื่อนไขหากชำระภายในวันที่ 4 เม.ย.67 จะมีกรอบวงเงินรวมจำนวน 23,488,692,165.65 บาท ประกอบกับแนวทางการร่วมลงทุนที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 62 ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ได้ข้อยุติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้
รวมถึงคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สภากรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาแล้วเห็นว่างานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) เป็นทรัพย์สินที่สามารถแยกออกมาดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันได้ถึงกำหนดชำระเงินแล้ว หากไม่มีการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้จะเกิดภาระดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวนมาก กรุงเทพมหานครจึงมีแนวทางในการชำระค่างานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ดังนี้
1. กรุงเทพมหานครเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยมีกรอบวงเงินรวมจำนวน 23,488,692,165.65 บาท
2. หากได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครจะรายงานต่อกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครชำระค่างานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 62 ยังไม่ได้ข้อยุติ
3. หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว กรุงเทพมหานครจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้เมื่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้แล้ว กรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอสภากรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปราย พร้อมเสนอแนะแนวทางเพื่อให้กรุงเทพมหานครได้นำไปใช้เพื่อลดความเสียหาย และสามารถประหยัดงบประมาณ ประกอบด้วย นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นางเมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นายนวรัตน์ อยู่บำรุง ส.ก.เขตหนองแขม
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบโครงการฯ ตามที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
@อนุทิน โยน ผู้บริหารกทม.ตอบเอง
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ยังไม่ทราบถึงการลงมติดังกล่าวของสภากทม. อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการต่างๆของ กทม. ถูกต้องตามกฎหมายก็คงต้องเป็นไปตามนั้น
เมื่อถามว่า กระทรวงมหาดไทยมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับการต่อสัญญา่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล กทม. การตัดสินใจหลักต้องให้ กทม.ตัดสินใจก่อน อะไรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากพิสูจน์ที่มาของหนี้สินต่างๆที่ค้างกันอยู่ และถ้าไปรับของมาก่อนแล้วต้องชำระ ก็ต้องชำระ เท่านั้นเอง กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถสั่งการได้
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กรณีสัมปทานที่ติดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 จะมีแนวทางอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ก็ตอบไปแล้วว่า คู่สัญญาของ BTSC สื่อควรไปถามทางผู้ว่าฯกทม.ดีกว่า หรือผู้บริหารท่านอื่นของกทม.ดูถึงแม้กระทรวงมหาดไทยจะกำกับ กทม. แต่ก็เพียงกำกับเมื่อมีประเด็นที่จะต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ไม่ได้ใีอำนาจสั่งการ ผู้ว่าฯกทม. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระทรวงมหาดไทยเป็นเพียงหน่วยงานที่กำกับดูแล นโยบายอะไรของกทม.อยู่ที่ผู้บริหารกทม.
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หาก กทม. ส่งประเด็นขอให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยมีกรอบวงเงินรวมจำนวน 23,488,692,165.65 บาท กระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาอย่างไร นายอนุทินตอบว่า มีรองปลัดกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องหลายคนช่วยดู เรื่องที่มาถึงกระทรวงมหาดไทย จะต้องผ่านอีกตั้งหลายกอง รวมถึงต้องผ่านการกลั่นกรองของนายนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และย้ำว่า ถ้าเรื่องที่เสนอมาถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องทำตามนั้น จะไปกลั่นแกล้งไม่ได้ พวกเราต้องทำตามหน้าที่ ทำตามกฎหมา่ย ไม่อย่างนั้นก็ถูกฟ้องมาตรา 157 กันหมด
อ่านประกอบ
- สายสีเขียวเหนือ-ใต้ ผู้โดยสารขยับลงไม่มาก มั่นใจ ‘BTS’ ไม่ฟ้องทวงหนี้เพิ่ม
- 'ชัชชาติ' ลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท มีผล 2 ม.ค. 67
- ลุ้น ไม่เกิน15 ธ.ค.66 ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับ กทม.เก็บ 15 บ.สายสีเขียว
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55