ประกาศเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ‘หมอชิต - คูคต/แบริ่ง - สมุทรปราการ’ 15 บาทตลอดสายยังยื้อต่อ หลังฝ่ายกฎหมาย กทม.เห็นควรส่ง ‘กระทรวงคมนาคม’ ให้ความเห็น คาดเร็วสุด ธ.ค. 66 หรือช้าสุด ม.ค. 67 เก็บแน่ รวมทั้งสายทางสูงสุดที่ 62 บาท ส่วนต่อสัมปทานยังนิ่ง รอท่าทีรัฐบาล ‘เศรษฐา’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 17 กม. จำนวน 14 สถานี ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายนั้น
ล่าสุด ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ต้องลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ยังอยู่ที่สำนักงานกฎหมายและคดี กทม. ซึ่งมีความเห็นให้ถามไปยังกระทรวงคมนาคมด้วย โดยยกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ กทม. บูรณาการการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป
ซึ่งนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกทม.ได้ส่งประกาศดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยทราบมาว่านายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมกำลังพิจารณาอยู่ โดยคาดว่าการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2566 - ม.ค. 2567 นี้ โดยการลงนามในประกาศเก็บค่าโดยสารดังกล่าว จะต้องประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 30 วัน และภายใน 1-2 สัปดาห์ทางสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.จะเดินทางไปกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามและทวงถามการให้ความเห็นประกอบประกาศ กทม.ฉบับดังกล่าว หากกระทรวงคมนาคมส่งความเห็นกลับมาเมื่อไหร่ ก็จะสามารถลงนามในประกาศ กทม.ฉบับดังกล่าวได้ทันที
ทั้งนี้ ค่าโดยสารที่จัดเก็บนั้น จะเป็นการจัดเก็บครั้งเดียว หมายความว่า หากผู้โดยสารนั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวยาวจากคูคต - เคหะสมุทรปราการ จะเสียค่าโดยสารแค่ 2 ครั้งคือ ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1-2 จำนวน 15 บาท 1 ครั้ง และเมื่อเข้าสู่ช่วงสัมปทานหลัก หมอชิต - อ่อนนุช จะต้องเสียค่าโดยสารตรงนี้อีก 1 ครั้ง โดยมีอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้น 17 - 47 บาท
ปัจจุบันผู้โดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 รถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ 250,000 เที่ยวคน/วัน หากมีการเก็บค่าโดยสารตามอัตราดังกล่าว จะทำให้เกิดรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาท/วัน คิดเป็นรายได้/เดือนประมาณ 90-100 ล้านบาท หรือรายได้/ปีประมาณ 1,080 - 1,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 2 จริง ซึ่งอยู่ที่ปีละ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น กทม. จะต้องควักงบประมาณชดเชยให้เดือนละประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขอสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ต่อไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี
โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน
@สัมปทานสายสีเขียว รอท่าทีรัฐบาลใหม่
ส่วนความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แหล่งข่าวจาก กทม. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า กทม.ได้จัดทำกระบวนการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินว่า จะเอาอย่างไรต่อไป? หากรัฐบาลโอเคตามนี้ ก็จะได้ทำสัญญาสัมปทาน แต่ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วย กทม.จะได้ไปเริ่มกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ซึ่งการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบได้
เมื่อถามถึงกรณีที่นายชัชชาติ ส่งความเห็นประกอบไปที่กระทรวงมหาดไทย ช่วงปลายปี 2565 นั้น แหล่งข่าวจากกทม.ตอบว่า กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ม่ีความเห็นอะไรกลับมา ทางผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยอาจจะรอรัฐบาลก่อนว่า จะมีท่าทีเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร ซึ่งจะรวมไปถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไร
@ดึงสายสีเขียวให้ ‘คมนาคม’ กำกับไม่ง่าย
เมื่อถามอีกว่า แนวโน้มในอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะโอนไปให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลได้หรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยก็มีเคยมีนโยบายที่จะโอนให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลมาก่อน แหล่งข่าวจากกทม.มองว่า การที่กระทรวงคมนาคมจะขอรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบไปอยู่ในการบริหารเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นข้อดีที่จะรวมเป็นโครงข่ายเดียวกัน แต่กระทรวงคมนาคมจะต้องจ่ายคืนในส่วนที่ กทม.ลงทุนไปโดยเฉพาะค่างานก่อสร้างช่วงส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้า ระยะทาง 7.5 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 12,000 ล้านบาท และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 2,635 ล้านบาท ซึ่งหากรวมโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายทาง คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น มันไม่ง่ายถ้ารัฐบาลจะดึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไป
@’คมนาคม’ ยังไม่นัดคุยรถไฟฟ้า 20 บาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของกระทรวงคมนาคม ได้นัดหมายประชุมหารือถึงการดำเนินนโยบายดังกล่าวกับทาง กทม.แล้วหรือยัง แหล่งข่าวจากกทม.ตอบว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงคมนาคม แต่คาดว่าน่าจะมีการหารือกับทางฝ่ายบริหารคือ นายชัชชาติ และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. อย่างไม่เป็นทางการ
@BTSC มองผู้โดยสารหาย 30% แต่แค่ 3 เดือน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะเอกชนที่รับสัมปทาน เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า หากมีการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ก็คาดว่าจะมีรายได้เติมเข้ามาให้ BTSC ชำระนี้ที่ค้างคาได้ประมาณ 3,000,000 บาท/วัน ตกเดือนละ 100 ล้านบาท โดยเป็นการประเมินจากตัวเลขผู้โดยสารเฉลี่ย 200,000 เที่ยวคน/วัน ส่วนการเก็บค่าโดยสารจะทำให้ผู้โดยสารลดลงหรือไม่ คาดว่าลดลงประมาณ 30% แต่จะลดลงในระยะสั้น 2-3 เดือน ก่อนจะกลับมาที่ตัวเลขเดิมในเดือนที่ 4
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมหนี้ทั้งการเดินรถและซ่อมบำรุงที่มีประมาณเดือนละ 500 ล้านบาทได้ ซึ่งคาดว่าทาง กทม.จะตั้งงบประมาณมาอุดหนุนส่วนต่างตรงนี้ต่อไป
อ่านประกอบ
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55