กปภ.เซ็นสัญญาจ้าง ‘บ.ประปาปทุมธานี’ ผลิตน้ำประปา 10 ปี 1.24 หมื่นล้าน แล้ว พร้อมร่อนเอกสาร 4 หน้า ชี้แจง ‘พนักงาน’ ยืนยันดำเนินการจ้างถูกต้อง-ได้ราคาจ้างผลิตน้ำถูกแค่ 6.06 บาท/หน่วยเท่านั้น
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา งานจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาปทุมธานี การประปาส่วนภูมิภาคสาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองหลวง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ประกาศ ณ วันที่ 2 ต.ค.2566
โดยประกาศให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่งเสนอราคาค่าจ้างเป็นเงิน 1.24 หมื่นล้านบาท เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในงานจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาปทุมธานี การประปาส่วนภูมิภาคสาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองหลวง นั้น (อ่านประกอบ : ‘กปภ.’ประกาศ‘บ.ประปาปทุมฯ’คว้างานจ้างผลิตน้ำประปา 1.2 หมื่นล.-ต่ำกว่าราคากลาง 38.7 ล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. และ น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ได้ร่วมลงนามสัญญางานจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาปทุมธานี การประปาส่วนภูมิภาคสาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองหลวง ระหว่าง กปภ. และบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา กปภ. ได้แพร่เอกสารชี้แจงต่อพนักงาน กปภ. โดยเอกสารชี้แจงประเด็น การจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำและบำรุงรักษา เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ กปภ.สาขาปทุมธานี กปภ.สาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) และ กปภ.สาขาคลองหลวง ความยาว 4 หน้ากระดาษ โดยยืนยันว่าการดำเนินจัดจ้างดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีรายละเอียด ดังนี้
ด้วย กปภ. ได้ดำเนินการจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษา เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ กปภ.สาขาปทุมธานี กปภ.สาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) และ กปภ.สาขาคลองหลวง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่ง กปภ. ได้ดำเนินจัดจ้างดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วน โปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของ กปภ. รัฐ และประชาชนเป็นสำคัญ ดังนี้
1) ในปี 2537 กปภ. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิต โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเอกชนต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง
ในระหว่างการคัดเลือกเอกชน รัฐจึงได้กำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกให้เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิขอเจรจาเช่าระบบผลิตน้ำประปาต่ออีก เป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 2 ครั้ง โดยคู่สัญญาจะต้องไปเจรจาตกลงกัน การกำหนดเงื่อนไขลักษณะนี้ในโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2538 กปภ. ได้ลงนามในสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จํากัด โดยบริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนจัดหาที่ดิน ก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาเพื่อจำหน่ายให้แก่ กปภ. เป็นระยะเวลา 25 ปี สิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 ต.ค.2566 และ กปภ. จะรับซื้อน้ำจากบริษัทฯ ตามปริมาณที่ตกลงกัน ทั้งนี้ ก่อนสิ้นสุดสัญญา 6 เดือน บริษัทฯ มีสิทธิขอเช่าระบบผลิตน้ำประปาเพื่อต่ออายุการประกอบการอีก เป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 2 ครั้ง ตามที่กำกนดในสัญญาข้อ 15
2) เนื่องจากโครงการประปาปทุมธานีดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ก่อนสิ้นสุดสัญญา 5 ปี กปภ. ได้จัดทำแนวทางดำเนินโครงการหลังสัญญาสิ้นสุด เสนอ รมว.กระทรวงมหาดไทย (พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา) เห็นชอบไว้ โดยมีข้อสรุปให้ กปภ.ดำเนินการเอง (ไม่เป็นโครงการร่วมลงทุน) เพราะมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เอกชนรายเดิมมีสิทธิขอเช่าระบบผลิตน้ำประปาอีก เป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 2 ครั้ง โดยคู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งแนวทางการดำเนินการเองของ กปภ.แบ่งเป็น 3 กรณีย่อย คือ 1) กปภ.ดำเนินการเองทั้งหมด 2) กปภ.จ้างเอกชนรายเดิมดำเนินการ และ 3) กปภ.จ้างเอกชนรายใหม่ดำเนินการ
ดังนั้น เมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญา กปภ. มีหน้าที่ตามสัญญาในการเจรจากับบริษัทฯ และพิจารณาว่าจะดําเนินการเองด้วยวิธีใดที่จะเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ การจ้างเอกชนต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
3) เมื่อวันที่ 12 เม.ยง2566 บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึง กปภ. ขอเจรจาเพื่อเช่าระบบผลิตน้ำประปา ระยะเวลา 10 ปี ตามสัญญา ต่อมาคณะกรรมการ กปภ. ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. เจรจากับบริษัทฯตามสัญญา กปภ. ได้เจรจากับบริษัทฯ อย่างเต็มที่จนได้ผลการเจรจาที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อ กปภ. โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 คณะกรรมการ กปภ. ได้เห็นชอบผลการเจรจากับบริษัทฯ สรุปได้ ดังนี้
กปภ.จะจ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปาเป็นระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2566 ค่าจ้างผลิตน้ำประปา ปี 2566 เท่ากับ 6.52 บาท/ลบ.ม. (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ค่าผลิต (เฉพาะส่วนค่าผลิต ไม่รวมต้นทุนค่าเช่า) จะปรับตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีผู้บริโภคทุกวันที่ 1 ม.ค. เริ่มปี 2568 โดยบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าเช่าระบบผลิตน้ำประปาให้แก่ กปภ. เป็น รายเดือน รวม 10 ปี เป็น จํานวน 575,000,544 บาท (เท่ากับ 0.44 บาท/ลบ.ม. ของปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ กปภ. รับซื้อ)และให้ กปภ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
4) ผลการเจรจาดังกล่าวมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อ กปภ. รัฐ และประชาชน ดังนี้
-ค่าผลิตน้ำที่ กปภ. จ้างบริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 6.08 บาท/ลบ.ม. (ค่าผลิตน้ำ = ค่าจ้างผลิต – ค่าเช่าระบบผลิตน้ำประปา หรือ 6.06 = 6.52–044) ค่าผลิตน้ำ มีความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อ กปภ. ดังนี้
1.ต่ำกว่าต้นทุน กรณี กปภ. ดำเนินการเองทั้งหมด (ผลิตเอง) (ตามรายงานแนวทางการดําเนินงานหลังสัญญาสิ้นสุด ปี 2561 เท่ากับ 6.53 บาท/ลบ.ม. และทบทวนในปี 2566 เท่ากับ 6.69 บาท/ลบ.ม. และตามคณะทำงานเตรียมความพร้อมของ กปภ. เท่ากับ 6.1528 บาท/ลบ.ม.)
2.ต่ำกว่าต้นทุน กรณี กปภ. ดำเนินการเองโดยจ้างเอกชนรายใหม่ดำเนินการ (ตามรายงานแนวทางการดําเนินงานหลังสัญญาสิ้นสุด ทบทวนในปี 2566 เท่ากับ 6.26 บาท/ลบ.ม.) และ 3.ต่ำกว่าค่าน้ำที่ กปภ. ซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นในพื้นที่ปทุมธานี เท่ากับ 8.00-10.65 บาท/ลบ.ม.
-ทําให้ กปภ. มีต้นทุนการดําเนินงานที่ต่ำลง มีกําไรจากการขายน้ำมากขึ้น และ/หรือสามารถนํากําไรมาสนับสนุนให้ราคาค่าน้ำที่ขายในพื้นที่ถูกลง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ
-ทําให้ กปภ.สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงในการดําเนินงาน (ระบบผลิตเป็นระบบขนาดใหญ่ที่สุดของ กปภ.) และภาระที่จะเกิดขึ้นแก่ กปภ. โดยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ
5) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ กปภ. รัฐ และประชาชน ตามผลการเจรจา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาข้อ 15 และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริการแก่ประชาชนหลังสัญญาสิ้นสุด กปภ.จึงได้จัดจ้าง บริษัทฯผลิตน้ำประปา โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ผลการจัดจ้างปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ลดค่าจ้างผลิตน้ำประปาลงเหลือ 6.50 บาท/ลบ.ม. (ค่าผลิต 6.06 บาท/ลบ.ม.) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ กปภ. อย่างยิ่ง
และเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 คณะกรรมการ กปภ. ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. สั่งจ้างบริษัทฯ ดำเนินการผลิตน้ำประปา และให้รายงานต่อ รมว.มหาดไทยก่อนลงนามในสัญญา
6) เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 กปภ. ได้รายงานผลการดำเนินการภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต ต่อ รมว.มหาดไทย และเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 กปภ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัทฯ ดำเนินการผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริษัทฯ สามารถเตรียมการผลิตน้ำประปาต่อเนื่อง หลังจากสัญญาให้สิทธิฯ สิ้นสุดลงในวันที่ 14 ต.ค.2566
@รายงาน'รมว.มหาดไทย'รับทราบก่อนเซ็นสัญญาจ้าง
ในการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วน เกี่ยวกับการดำเนินการของ กปภ. จึงขอชี้แจง ดังนี้
1. การจ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นผลจากการเจรจาซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาให้สิทธิฯ ระหว่าง กปภ. กับบริษัทฯ
เนื่องจากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิขอเช่าระบบผลิตน้ำประปา ระยะเวลา 10 ปี ตามสัญญาข้อ 15 กปภ.จึงต้องมีหน้าที่ตามสัญญาต้องเจรจากับบริษัทฯ (หาก กปภ. ไม่เจรจากับบริษัทฯ จะเป็นการทำผิดสัญญา และอาจถูกเอกชนฟ้องดำเนินคดี รวมทั้งเป็นการทำให้เอกชนไม่มีความมั่นใจในการลงทุนกับรัฐ)
อย่างไรก็ตาม กปภ. ได้เจรจากับบริษัทฯ จนได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อ กปภ. รัฐ และประชาชน คือ กปภ. จะจ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปา หลังสัญญาให้สิทธิฯ สิ้นสุด เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ (การจ้างผลิตไม่ได้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) ในการจัดจ้างบริษัทฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ตามผลจากการเจรจาดังกล่าว และทำให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ประชาชน กปภ. จึงเลือกใช้ วิธีเฉพาะเจาะจงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
การจ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปา เป็นรูปแบบที่ กปภ. ได้ศึกษาไว้แล้วในแนวทางการดำเนินโครงการภายหลังสัญญาสิ้นสุดในปี 2561 ที่เสนอ รมว.มหาดไทยเห็นชอบไว้ (สรุปให้ กปภ. ดำเนินการเอง โดยมี 3 กรณีย่อย คือ 1) ดำเนินการเองทั้งหมด (ผลิตเอง) 2) กปภ. จ้างเอกชนรายเดิม และ 3) กปภ. จ้างเอกชนรายใหม่ ทั้งนี้ กปภ. ต้องเจรจากับเอกชนรายเดิมตามสัญญาข้อ 15 และการจ้างเอกชนต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ)
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ กปภ. ได้นําข้อมูลหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานอัยการสูงสุด มาประกอบการพิจารณา และได้รายงานผลการดําเนินงานดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต และ รมว.มหาดไทย รับทราบแล้ว ก่อนที่ กปภ. จะลงนามในสัญญาจ้าง
@จ้างเอกชนผลิตน้ำในราคาต่ำเพียง 6.06 บาท/หน่วยเท่านั้น
2.การจ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ กปภ. รัฐ และประชาชน
การจัดจ้างบริษัทฯ ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาทำให้เกิดประโยชน์ต่อ กปภ. เป็นอย่างยิ่ง เพราะค่าผลิตน้ำประปาที่ กปภ.จ้างบริษัทฯ (ค่าจ้างผลิต-ค่าเช่า เท่ากับ 6.06 บาท/ลบ.ม.) เป็นราคาที่ถูกมาก ต่ำกว่าต้นทุน กรณี กปภ. ดำเนินการเองทั้งหมด (ผลิตเอง) และต่ำกว่าต้นทุน กรณี กปภ. จ้างเอกชนรายอื่น รวมถึงต่ำกว่าราคาที่ กปภ. ซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นในพื้นที่ปทุมธานี ทําให้ กปภ. มีค่าใช้จ่ายดําเนินงานลดลง มีกําไรจากการขายน้ำมากขึ้น สามารถรับภาระให้ราคาค่าน้ำถูกลง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
และเนื่องจากโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตเป็นโครงการขนาดใหญ่ การจ้างบริษัทฯ ซึ่งมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการดําเนินงานโครงการนี้มากว่า 25 ปี จะทำให้การบริการน้ำประปาเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ
สำหรับการปรับค่าจ้างผลิตน้ำตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีผู้บริโภค เป็นวิธีการที่เหมาะสมและปฏิบัติกันโดยปกติในโครงการของรัฐ เพราะเป็นธรรมกับคู่สัญญา โดย กปภ. จะให้บริษัทฯ ปรับราคาเฉพาะส่วนของค่าผลิต ไม่รวมต้นทุนค่าเช่า เนื่องจากค่าจ้างผลิตน้ำประปาเริ่มต้นปี 2566 ต่ำมาก (6.06 บาท/ลบ.ม.) การปรับราคาตามดัชนีผู้บริโภคจึงไม่ได้มีผลให้ค่าน้ำมีราคาแพงแต่อย่างใด
ในส่วนของปัญหาเรื่องน้ำสูญเสีย กปภ.วางแผนที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อลดน้ำสูญเสีย โดยได้จัดสรรงบประมาณรองรับค่าซ่อมบํารุง และเปลี่ยนระบบท่อในพื้นที่ควบคู่ไปกับการให้บริการ การจ้างบริษัทฯ ครั้งนี้ไม่ได้มีการเพิ่มกําลังผลิต และ กปภ. ไม่ได้ซื้อน้ำเกินกว่าปริมาณที่รับซื้ออยู่ในปัจจุบันจากบริษัทฯ (358,000 ลบ.ม./วัน) จึงไม่ทำให้เกิดปริมาณน้ำสูญเสียมากกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน กปภ. จะเร่งลดปริมาณน้ำสูญเสีย และเพิ่มกําลังผลิตในอนาคตเพื่อทำให้การบริการแก่ประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3.การจ้างบริษัทฯ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม หรือหลีกเลี่ยงการประมูล
การจ้างบริษัทฯ เป็นผลจากการเจรจา ซึ่ง กปภ. ปฏิบัติตามสัญญาให้สิทธิฯ และดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ กปภ. รัฐ และประชาชนอย่างชัดเจน หาก กปภ. ไม่ดำเนินการเจรจากับบริษัทฯ จะเป็นการทำผิดสัญญาและอาจถูกเอกชนฟ้องดำเนินคดี การจ้างบริษัทฯ จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายเดิม หรือหลีกเลี่ยงการประมูลแข่งขันแต่อย่างใด
@แจงจ้าง'บ.ประปาปทุมฯ'ดำเนินการถูกต้องตาม กม.
4.การจ้างบริษัทฯ ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ละเลยข้อเสนอแนะและความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ
การจ้างบริษัทฯ กปภ. ได้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผู้จัดทํารายงานการศึกษาแนวทางภายหลังสัญญาสิ้นสุดให้ความเห็นและคำแนะนําเพื่อประกอบการพิจารณาของ กปภ. อีกทั้งยังได้นําข้อเสนอแนะและข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ มาประกอบการพิจารณา
สําหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนก่อนสัญญาสิ้นสุด เพื่อให้เอกชนลงทุนเพิ่มกําลังผลิต อาจขัดแย้งกับแนวทางที่ กปภ.จะดำเนินการเอง (ผลิตเองและจ้างเอกชนผลิต) หลังสัญญาสิ้นสุดตามที่ รมว.มหาดไทยเห็นชอบไว้แล้ว ซึ่งไม่ใช่การร่วมลงทุน และการเพิ่มกําลังผลิตอาจทําให้เกิดปัญหาน้ำสูญเสียมากขึ้น
กปภ. ได้นําข้อเสนอแนะดังกล่าวมาพิจารณา โดยในส่วนของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน กปภ. ได้ยุติการดำเนินการและได้ชี้แจงให้ทั้งสองหน่วยงานรับทราบแล้ว และในด้านการจัดจ้างบริษัทฯ ตามผลการเจรจาเป็นคนละกรณีกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
5.โครงการหมื่นล้าน ที่ใช้งบประมาณทำการประจำปี ไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติ
กปภ. จ้างบริษัทฯ ผลิตน้ำประปา ไม่ใช่โครงการร่วมทุน แต่เป็นการจ้างผลิตน้ำ ซึ่งใช้งบประมาณทำการ โดย กปภ. เขต 2 ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีปี 2567 ไว้แล้ว (การจัดทำงบประมาณประจำปี ต้องทําล่วงหน้าเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ประกอบกับรูปแบบในการดำเนินโครงการ ณ ขณะนั้น ยังไม่ชัดเจน กปภ.เขต 2 จึงได้ขอรับจัดสรรงบทำการค่าจ้างผลิตนน้ำไว้ก่อน) (พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ.2522 มาตรา 37 กปภ. ต้องทำงบประมาณประจำปี โดยให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนนั้น ให้นําเสอนคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการนั้นให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ)
ในด้านการเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ซึ่ง กปภ. เตรียมการไว้ ในกรณีหากการเจรจาไม่ได้ข้อยุตินั้น ให้สายงาน ผชบ. พิจารณาปรับลดบุคลากรของกองระบบผลิตน้ำ (ปทุมธานี) กปภ.เขต 2 ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในลักษณะของผู้กำกับดูแลงานจ้างฯ พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี (ศูนย์ถ่ายทอดต้นแบบ) ให้กับบุคลากรของ กปภ. ต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กปภ.’ประกาศ‘บ.ประปาปทุมฯ’คว้างานจ้างผลิตน้ำประปา 1.2 หมื่นล.-ต่ำกว่าราคากลาง 38.7 ล้าน
ใช้วิธี‘เฉพาะเจาะจง’! กปภ.แพร่ร่างTOR ประมูลงานจ้างผลิตน้ำประปา สัญญา 10 ปี 1.2 หมื่นล.
การบ้าน‘อนุทิน’นั่ง‘มท.1’! แก้โจทย์สายสีเขียว-เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ต่อสัญญาซื้อน้ำ‘กปภ.’
ขู่ปลดพ้น'ผู้ว่าฯกปภ.'! บอร์ดฯโต้เดือดปมต่อสัญญาซื้อน้ำ'หมื่นล.'ก่อน'วิบูลย์'ทิ้งเก้าอี้
มีปัญหาสุขภาพ! ‘วิบูลย์’ลาออก‘ผู้ว่าฯกปภ.’-สะพัดถูกกดดันปมไม่เจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ‘หมื่นล.’
รายได้ 3.8 ล./ปี! เปิดทรัพย์สิน 'พล.อ.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์' อดีต กก กปภ.39 ล.
สิ้นสุดสัมปทาน 25 ปี!‘กปภ.’ชงบอร์ดอนุมัติ ส่งหนังสือแจ้ง‘บ.ประปาปทุมฯ’ไม่ต่อสัญญาซื้อน้ำ
‘อนุกรรมการกม.’ท้วง‘มติบอร์ดฯ’ ไล่บี้‘กปภ.’เจรจาต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมธานีฯ’ผลิตน้ำ10 ปี
จับตาหัก‘มติ ป.ป.ช.-มท.’! ‘บอร์ด กปภ.’นัดถกปมสัมปทาน‘ประปาปทุมฯ’-เอกชนขอ‘ปธ-กก.’ต่อสัญญา
'บ.ประปาปทุมฯ'ยื่น'กปภ.'ขอเจรจา'ต่ออายุ'สัญญา’ประปาปทุมธานี-รังสิต’ อีก 10 ปี
‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66
เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว