จับตา ‘บอร์ด กปภ.’ นัดถกหาทางออก ‘สัญญา’ รับซื้อน้ำประปาจาก ‘ประปาปทุมฯ’ หลัง ‘ผู้ว่าฯ กปภ.’ ยืนยันเดินหน้าตามมติ ‘รมว.มหาดไทย-ป.ป.ช.’ ให้ ‘กปภ.’ เป็นผู้ผลิตน้ำประปาเอง เหตุมีต้นทุนถูกกว่ารับซื้อจากเอกชนรายเดิม ขณะที่ ‘PTW’ ยื่นหนังสือถึง 5 ‘ประธาน-กรรมการ’ กปภ. ขอความอนุเคราะห์เร่งรัดให้ ‘กปภ.’ ต่อสัญญา
........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่สัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต อายุสัญญา 25 ปี (ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2541-14 ต.ค.2566) ระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัทคู่สัญญารายเดิม คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.2566 นั้น (อ่านประกอบ : ‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66)
แหล่งข่าวจาก กปภ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมคณะกรรมการ กปภ. ซึ่งในการประชุมบอร์ดฯนัดดังกล่าว กปภ.จะเสนอให้บอร์ดพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง หลังจากสิ้นสุดสัมปทาน เนื่องจากตามผลการศึกษาฯพบว่าเป็นแนวทางที่คุ้มค่ามากที่สุด มีต้นทุนการผลิตน้ำประปาถูกที่สุด และเป็นแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย เมื่อปี 2562 แล้ว
ขณะเดียวกัน กปภ.จะนำเสนอ เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต’ ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ ป.ป.ช. ได้ส่งมาไป กปภ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กับบอร์ด กปภ. รับทราบ และใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
สำหรับบอร์ด กปภ. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายธนาคม จงจิระ ประธานกรรมการ ,นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ กรรมการโดยตำแหน่ง ,นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กรรมการโดยตำแหน่ง ,พล.อ.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ กรรมการอื่น , พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กรรมการอื่น ,นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ กรรมการอื่น ,นายธิบดี วัฒนกุล กรรมการอื่น (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) และนายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการ กปภ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามหนังสือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0008/0093 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต โดยมีเนื้อหา 3 ประเด็น คือ
1.การผลิตน้ำประปาเป็นการให้บริการสาธารณะของรัฐแก่ประชาชน ที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการแสวงผลกำไร ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินกิจการของเอกชน ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการในการผลิตน้ำประปาได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กปภ. ควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ซึ่งเป็นแนวทางตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.กปภ. ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40.17 (ข้อมูลปี พ.ศ.2563) ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีต่อ กปภ. ตามรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 โดยเร่งด่วน เพื่อให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของโครงการได้
3.การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20 ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการ กปภ. ได้ลงนามคำสั่ง กปภ. ที่ 734/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการให้บริการน้ำประปากรณีสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ครบกำหนดระยะเวลา เพื่อเตรียมพร้อมกรณีที่ กปภ.จะเป็นผู้ผลิตน้ำประปาฯเอง หลังจากสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต สิ้นสุดลง
ขณะที่ภายใต้สัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538 ได้ระบุว่า ก่อนที่อายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง 3 เดือน ให้เอกชนคู่สัญญาต้องฝึกอบรมบุคลากรของ กปภ. ให้มีความพร้อมในการเข้ามาดำเนินการรับช่วงผลิตน้ำประปา รวมถึงการส่งมอบทรัพย์ต่างๆ แต่ทั้งนี้ การที่ กปภ.จะเข้ามารับช่วงผลิตน้ำประปาต่อจากคู่สัญญาเดิมนั้น บอร์ด กปภ.จะต้องให้ความเห็นชอบแนวทางในการดำเนินการที่ กปภ.เสนอ
@'กปภ.'ยืนยันผลิตน้ำประปาเอง ชี้ต้นทุนถูกกว่าซื้อจากเอกชน
รายงานข่าวยังระบุว่า ที่ผ่านมา PTW ทำหนังสือถึง กปภ. และบอร์ด กปภ. อย่างน้อย 5 ฉบับ เพื่อขอเจรจาต่ออายุสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต อีก 10 ปี ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเดิม แต่ กปภ. ไม่เห็นด้วย เพราะตามเงื่อนไขสัญญาเดิม ค่าน้ำประปาที่ PTW ขายให้ กปภ. จะเริ่มต้นที่ 13.7 บาท/หน่วย และให้ปรับขึ้นค่าน้ำตามเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนน้ำประปาที่ กปภ.รับซื้อไว้เพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ กปภ.ปรับขึ้นค่าน้ำประปากับประชาชนไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หาก กปภ.เป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ต้นทุนการผลิตน้ำประปาจะอยู่ที่ประมาณ 6 บาท/หน่วยเท่านั้น เทียบกับอัตราค่าน้ำประปาที่รับซื้อจากเอกชนที่มีราคาเริ่มต้น 13.7 บาท/หน่วย และหากเอกชนลดราคาลงมาเหลือ 9-10 บาท/หน่วย ก็ยังมีส่วนต่างหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่ กปภ.เองได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากรและเตรียมความพร้อมในการรับมอบทรัพย์สินไว้แล้ว
อีกทั้งที่ผ่านมา กปภ.เคยทำหนังสือถึง TTW ว่า หากเอกชนคู่สัญญาต้องการเจรจาต่อสัญญาฯอีก 10 ปี ก็ให้ทำข้อเสนอมายัง กปภ.ได้ อย่างไรก็ตาม กปภ.มีสิทธิที่จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชน และจะรับไป ไม่ใช่ให้สิทธิต่อสัญญาโดยอัตโนมัติกับเอกชนคู่สัญญาเดิม
เนื่องจากสัญญาในข้อ 15 ระบุว่า “ข้อ 15 การเช่าเพื่อต่ออายุการประกอบการ
15.1 หากผู้รับสิทธิต้องการจะเช่าระบบเผลิตน้ำประปาจากการประปา หลังจากที่ผู้รับสิทธิได้โอนระบบผลิตน้ำประปาให้แก่การประปาตามข้อ 13.3 แล้ว ผู้รับสิทธิจะต้องแจ้งเป็นหนังสือแก่การประปาถึงความต้องการดังกล่าวของตนหลังจากครบรอบในปีที่ 24 (ยี่สิบสี่) ของวันเริ่มประกอบกิจการ และอย่างน้อยเป็นเวลา 6 (หก) เดือนก่อนวันที่มีการโอนระบบผลิตน้ำประปาดังกล่าว ถ้าผู้รับสิทธิมิได้แจ้งความต้องการเช่นนั้นแก่การประปาภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้รับสิทธิไม่ต้องการที่จะเช่า
15.2 เมื่อมีการรับหนังสือแจ้งถึงความต้องการเช่าตามข้อ 15.1 การประปา ‘อาจ’ ยินยอมให้ผู้รับสิทธิเช่าระบบผลิตน้ำประปาเป็นระยะเวลา 10 (สิบ) ปี และภายใน 30 (สามสิบ) วันนับจากได้รับการแจ้งดังกล่าว คู่สัญญาจะตกลง เกี่ยวกับอัตราค่าเช่าและรายละเอียดของการเช่า รวมทั้งรายละเอียดของสัญญาเช่า โดยการขายน้ำประปาระหว่างการประปา และผู้รับสิทธิระหว่างระยะเวลาการเช่าดังกล่าว ยังคงมีข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัญญานี้ทุกประการ...”
(ที่มา : สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538)
@‘ประปาปทุมฯ’ขอ‘บอร์ด’เร่งรัด'กปภ.'เจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำประปา
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กปภ. เรื่องขอให้เร่งรัดการเจรจาตกลงเพื่อต่ออายุการประกอบการสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา และขยายระยะเวลาสัญญาซื้อขายน้ำประปาเพื่อใช้ในพื้นที่สำนักงานประปารังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยหาก กปภ. ไม่เจรจา บริษัทฯจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย
“ขอเรียนว่า ปัจจุบันได้ครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ กปภ. ได้รับหนังสือจากแต่ กปภ. ยังมิได้จัดให้มีการเจรจาตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับการต่ออายุการประกอบการสัญญาร่วมลงทุน และการขยายระยะเวลาสัญญาซื้อรายกับบริษัทฯ แต่อย่างใด บริษัทฯ จึงขอให้ กปภ. ดำเนินการให้ถูกต้อง
โดยจัดให้มีการจรจาตกลงกับบริษัทฯ ตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาซื้อขาย เพื่อให้การดำเนินโครงการเอกชนร่วมลงทุนประปาปทุมธานี รังสิต สามารถดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หาก กปภ. ไม่ดำเนินการเจรจากับบริษัทฯ ให้ถูกต้องตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” หนังสือของ PTW ลงวันที่ 15 พ.ค.2566 ระบุ
ต่อมาวันที่ 26 พ.ค.2566 น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ PTW ได้ทำหนังสืออีก 1 ฉบับ ส่งไปถึง ประธานและกรรมการ กปภ. 5 ราย เช่น พล.อ.พงษ์สวัสดิ์ ,พล.ต.อ.เพิ่มพูน และนายวิษณุ เป็นต้น โดยขอความเป็นธรรมและขอความอนุเคราะห์ให้ กปภ. เร่งรัดการเจรจาตกลงเพื่อต่ออายุการประกอบการสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา และขยายระยะเวลาสัญญาซื้อขายน้ำประปาเพื่อใช้ในพื้นที่สำนักงานประปารังสิต จังหวัดปทุมธานี
“บริษัทฯ ขอเรียนว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 กปภ. ได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งว่าการพิจารณายินยอมให้บริษัทฯเช่าระบบผลิตน้ำประปาและการขยายระยะเวลาของสัญญา เป็นสิทธิและดุลพินิจของ กปภ.แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ กปภ. พิจารณา หากผลเป็นประการใด จะแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ และขอเชิญบริษัทฯ ยื่นข้อเสนอการขอเช่าเพื่อต่ออายุการประกอบการสัญญาให้สิทธิ์ฯ และการขอขยายระยะเวลาสัญญาซื้อขายฯ ในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 เวลา 9.30 น. รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1. และ 2.
บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับ กปภ.ในวันดังกล่าว ซึ่งมีผู้ว่าการ กปภ. นายวิบูลย์ วงสกุล เป็นประธานการประชุม โดย กปภ. ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า กปภ. ได้ตัดสินใจแล้วว่า กปภ .จะดำเนินการเองภายหลังสัญญาทั้งสองฉบับสิ้นสุด แต่ กปภ.เปิดโอกาสให้บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอกรณีดังกล่าวให้ กปภ. พิจารณาภายใน 2-3 วัน โดย กปภ. ไม่ได้กำหนดขอบเขตการดำเนินงานหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่จะให้บริษัทฯ เสนอ เพราะบริษัทฯ สามารถจัดทำข้อเสนอตามเงื่อนไขของสัญญาเดิมหรือตามที่บริษัทฯ เห็นควรได้
บริษัทฯ ได้ชี้แจงต่อ กปภ.ว่า บริษัทฯ ยินดีจัดทำและยื่นข้อเสนอให้ กปภ. พิจารณา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บริษัทฯจัดทำข้อเสนอที่สอดคล้องกับความต้องการของ กปภ. และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รัฐ และประเทศโดยรวม บริษัทฯ ขอให้ กปภ. ได้โปรดกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับข้อมูลดังกล่าว บริษัทฯ จะจัดทำข้อเสนอส่งให้ กปภ.พิจารณาได้ภายใน 10 วัน เพื่อเจรจาและหาข้อตกลงยุติร่วมกันต่อไปรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3.
หลังจากนั้น กปภ.ได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งให้บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอต่อ กปภ. ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 (ให้เวลาบริษัทฯ เพียง 3 วัน โดยไม่มีขอบเขตการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง) รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 4. บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือถึง กปภ. ขอให้จัดประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทฯ นำไปจัดทำข้อเสนอประกอบการเจรจา รายละเอียดตามสิ่งที่สงมาด้วย 5.
บริษัทฯ ขอเรียนว่า พฤติการณ์ของ กปภ. สื่อให้เห็นโดยนัยว่า กปภ. โดยผู้ว่าการ กปภ. ไม่มีความประสงค์ที่จะเจรจาตกลงกับบริษัทฯ ตามเงื่อนไขของสัญญา เพราะได้ตัดสินใจล่วงหน้าด้วยตัวเองแล้วว่า กปภ. จะดำเนินการเองภายหลังสัญญาสิ้นสุด ทั้งที่เรื่องดังกล่าวยังมิได้ผ่านกระบวนการเจรจาตกลงกันตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ กปภ. พิจารณา
และ กปภ. โดยผู้ว่าการ กปภ. ได้สร้างขั้นตอนและเงื่อนไขให้บริษัทฯ ดำเนินการโดยขาดความสมเหตุสมผล ผิดระเบียบแบบแผนและวิธีปฏิบัติของทางราชการ เพราะ กปภ. ไม่ได้กำหนดขอบเขตการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่จะให้บริษัทฯ จัดทำข้อเสนอเพื่อเจรจาตกลงกัน (เทียบเคียงได้กับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุของรัฐตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่แม้จะใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง ก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของงานที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ด้วย)
และ กปภ. ยังกำหนดให้บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอโดยให้เวลาเพียง 1 วัน ต่อมาปรับเพิ่มเป็น 3 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินวิสัยที่พึงปฏิบัติได้ การกระทำของ กปภ. โดยผู้ว่าการ กปภ. จึงเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมกับบริษัทฯ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และวิธีการที่ตกลงกันในสัญญาระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นการกลั่นแกล้ง จงใจทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ
บริษัทฯ ขอเรียนว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ กปภ.เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างดีมาโดยตลอด และการที่บริษัทฯ ใช้สิทธิขอเช่าระบบผลิตน้ำประปาเพื่อต่ออายุการประกอบการ และขอขยายระยะเวลาสัญญาก็เป็นการใช้สิทธิโดยชอบของบริษัทฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา โดยบริษัทฯ มุ่งหวังจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐ ประชาชน และประเทศโดยรวม ส่วนบริษัทฯ ก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามสิทธิที่มี
ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทฯ จึงใคร่ขอความความเป็นธรรมและขอความอนุเคราะห์จากท่านประธานกรรมการ และคณะกรรมการ กปภ. ได้โปรดเร่งรัดจัดให้มีการเจรจาตกลงบริษัทฯ โดยเริ่มจากการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทฯ นำไปจัดทำข้อเสนอให้ กปภ. พิจารณาได้
ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะสามารถได้ข้อสรุปการเจรจากับ กปภ. ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ กปภ. ทำให้การบริการน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชนสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รัฐ และประเทศโดยรวม จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ดำเนินการ จักเป็นพระคุณยิ่ง” หนังสือของ PTW ส่งถึงประธานและกรรมการ กปภ. ลงวันที่ 26 พ.ค.2566 ระบุ
อ่านประกอบ :
'บ.ประปาปทุมฯ'ยื่น'กปภ.'ขอเจรจา'ต่ออายุ'สัญญา’ประปาปทุมธานี-รังสิต’ อีก 10 ปี
‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66
เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว