‘บ.ประปาปทุมฯ’ ทำหนังสือถึง ‘บอร์ด กปภ.’ แจ้งขอเจรจา 'ต่ออายุ' สัญญาโครงการ ‘ประปาปทุมธานี-รังสิต’ อีก 10 ปี หลังสิ้นสุดสัญญา ต.ค.66 ระบุหาก ‘กปภ.’ ไม่เจรจากับบริษัทฯก่อน จะดำเนินการทางกฎหมาย
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการและคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เรื่อง การต่ออายุการประกอบการตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 โดยมีเนื้อหาว่า
ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538 (สัญญาร่วมลงทุน) ซึ่งบริษัทฯ สามารถขอต่ออายุการประกอบการได้ตามข้อ 15 ของสัญญาร่วมลงทุนนั้น
บริษัทฯ ขอเรียนว่า บริษัทฯ จะขอต่ออายุการประกอบการ โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในสัญญาร่วมลงทุนและพร้อมที่จะเจรจากับ กปภ.โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชนสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข่าวปรากฎต่อสาธารณะว่า กปภ.จะดำเนินโครงการเองภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยไม่เจรจากับบริษัทฯ
บริษัทฯ ขอเรียนว่า หาก กปภ.ดำเนินโครงการเอง โดยไม่เจรจากับบริษัทฯ ถือเป็นการทำผิดสัญญาร่วมลงทุนที่มีกับบริษัทฯ และเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (กฎหมายที่บังคับใช้ขณะที่ กปภ.จัดทำแนวทางการดำเนินกิจการภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด) ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ได้ลงนามรับทราบหนังสือขอเจรจาต่ออายุสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา
สำหรับสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538 (สัญญาร่วมลงทุน) ข้อ 15 ระบุว่า “ข้อ 15 การเช่าเพื่อต่ออายุการประกอบการ
15.1 หากผู้รับสิทธิต้องการจะเช่าระบบเผลิตน้ำประปาจากการประปา หลังจากที่ผู้รับสิทธิได้โอนระบบผลิตน้ำประปาให้แก่การประปาตามข้อ 13.3 แล้ว ผู้รับสิทธิจะต้องแจ้งเป็นหนังสือแก่การประปาถึงความต้องการดังกล่าวของตนหลังจากครบรอบในปีที่ 24 (ยี่สิบสี่) ของวันเริ่มประกอบกิจการ และอย่างน้อยเป็นเวลา 6 (หก) เดือนก่อนวันที่มีการโอนระบบผลิตน้ำประปาดังกล่าว ถ้าผู้รับสิทธิมิได้แจ้งความต้องการเช่นนั้นแก่การประปาภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้รับสิทธิไม่ต้องการที่จะเช่า
15.2 เมื่อมีการรับหนังสือแจ้งถึงความต้องการเช่าตามข้อ 15.1 การประปา ‘อาจ’ ยินยอมให้ผู้รับสิทธิเช่าระบบผลิตน้ำประปาเป็นระยะเวลา 10 (สิบ) ปี และภายใน 30 (สามสิบ) วันนับจากได้รับการแจ้งดังกล่าว คู่สัญญาจะตกลง เกี่ยวกับอัตราค่าเช่าและรายละเอียดของการเช่า รวมทั้งรายละเอียดของสัญญาเช่า โดยการขายน้ำประปาระหว่างการประปา และผู้รับสิทธิระหว่างระยะเวลาการเช่าดังกล่าว ยังคงมีข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัญญานี้ทุกประการ
ข้อ 15.3 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการเช่าตามที่อ้างอิงในข้อ 15.2 ถ้าผู้รับสิทธิต้องการเช่าระบบผลิตน้ำต่อไปอีกให้นำข้อกำหนดในข้อ 15.1 และ 15.2 มาบังคับใช้โดยอนุโลม อย่างไรก็ตาม ผู้รับสิทธิสามารถเช่าระบบผลิตน้ำประปาได้อีกเพียงครั้งเดียส มีกำหนดระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 10 (สิบ) ปี”
(ที่มา : สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538)
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ว่า กระทรวงหมาดไทยไม่มีนโยบายให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แก้ไขสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต เพื่อต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจากคู่สัญญารายเดิม (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) ออกไปอีก 20 ปี หลังจากสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดในวันที่ 14 ต.ค.2566
ขณะเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ ยังระบุว่า หลังจากสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต แล้ว กปภ.จะรับช่วงในการดำเนินการผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิต เองทั้งหมด เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าเป็นแนวทางที่คุ้มค่ามากที่สุด (อ่านประกอบ : ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี)
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำ ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต’ ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กปภ. โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ได้แก่
1.การผลิตน้ำประปาเป็นการให้บริการสาธารณะของรัฐแก่ประชาชน ที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการแสวงผลกำไร ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินกิจการของเอกชน ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการในการผลิตน้ำประปาได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กปภ.ควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ซึ่งเป็นแนวทางตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.กปภ. ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40.17 (ข้อมูลปี พ.ศ.2563) ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีต่อ กปภ. ตามรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 โดยเร่งด่วน เพื่อให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของโครงการได้
3.การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66
เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว