‘บอร์ด กปภ.’ เคาะ ‘กปภ.’ ผลิตน้ำประปาโครงการ ‘ประปาปทุมธานี-รังสิตฯ’ เอง หลังสิ้นสุดสัมปทาน 25 ปี 14 ต.ค.นี้ ขณะที่ ‘อนุกรรมการกฎหมาย’ ท้วง ‘มติบอร์ด กปภ.’ ชี้ควรเจรจากับ ‘คู่สัญญารายเดิม’ ก่อน
.............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีมติเห็นชอบให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯ เอง
หลังจากสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต อายุสัญญา 25 ปี ระหว่าง บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) และ กปภ. สิ้นสุดลงในวันที่ 14 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ รมว.มหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อปี 2562 เพราะเป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุด นั้น (อ่านประกอบ : จับตาหัก‘มติ ป.ป.ช.-มท.’! ‘บอร์ด กปภ.’นัดถกปมสัมปทาน‘ประปาปทุมฯ’-เอกชนขอ‘ปธ-กก.’ต่อสัญญา)
ล่าสุดแหล่งข่าวจาก กปภ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด กปภ. จะมีมติให้ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯเอง แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ กปภ.ยังไม่สามารถออกจดหมายแจ้งมติบอร์ด กปภ. ในเรื่องดังกล่าว ไปให้เอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด รับทราบได้ เนื่องจากกระบวนการออกจดหมายดังกล่าวยังติดขัดในขั้นตอนของคณะอนุกรรมการกฎหมายฯ
“เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด กปภ. มีมติให้ยุติการแก้ไขสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต ตามมาตรา 46 ,47 และ 48 และให้ กปภ.ดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 คือ ให้ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง และบอร์ด กปภ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกฎหมายฯ ไปทบทวนรายละเอียดของจดหมายที่ กปภ. จะแจ้งไปยังเอกชนคู่สัญญา ก่อนส่งให้บอร์ด กปภ.พิจารณา และส่งไปให้เอกชนคู่สัญญาต่อไป
แต่ปรากกฏว่า หลังจากที่บอร์ดฯมีมติแล้ว มีกรรมการ กปภ. บางคน พยายามบอกว่า การที่ กปภ.จะผลิตน้ำประปาเอง นั้น กปภ. ได้สอบถามทางเอกชนหรือยัง โดยอ้างว่าตามมติของ รมว.มหาดไทย เมื่อปี 2562 นั้น มีการกำหนดเงื่อนไขว่า กปภ.อาจพิจารณาตามข้อ 15.2 ของสัญญาฯ คือ ให้เอกชนคู่สัญญาฯต่อสัญญาเช่าระบบผลิตน้ำประปาไปได้อีก 10 ปี และกรรมการคนดังกล่าว ยังตั้งคำถามกับ กปภ. อีกว่า ถ้า กปภ. ไม่ทำ (เจรจากับเอกชน) จะผิดหรือเปล่า
ขณะเดียวกัน ในการพิจารณาออกจดหมาย เพื่อแจ้งไปยังเอกชนคู่สัญญา (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) ว่า กปภ.จะดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ก็ปรากฏว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการกฎหมาย ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นประธานอนุกรรมการฯ มีอนุกรรมการอย่างน้อย 2 ราย พูดในที่ประชุม ว่า กปภ. จะต้องต่อสัญญาให้กับเอกชนรายเดิมอีก 10 ปี เพราะสัญญาบังคับไว้ จึงต้องคุยกับเอกชนในเรื่องการให้เอกชนเช่าก่อน
ทั้งๆที่ตามสัญญาฯในข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจน กปภ. อาจยินยอมให้ต่อสัญญาเช่าได้ ซึ่งไม่ใช่สภาพบังคับ ยกเว้นแต่ว่า กปภ.จะยินยอม จึงจะให้เอกชนมาเจรจาเรื่องต่อสัญญาได้ แต่เมื่อ กปภ. เห็นว่าทำเองดีกว่า มีต้นทุนถูกกว่า โดย กปภ.มีต้นทุนการผลิตน้ำที่ 6 บาท/ลบ.ม แต่ถ้าต่อสัญญาฯกับเอกชน ค่าน้ำที่ กปภ.รับซื้อจะอยู่ที่กว่า 10 บาท/ลบ.ม. และปรับราคาตามเงินเฟ้อทุกปี ซึ่งเท่ากับว่า กปภ.จะสูญเสียรายได้ปีละ 1,000 ล้านบาท รวม 10 ปี ก็ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมคณะกรรมการกฎหมายฯ มีอนุกรรมการฯ 1 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า หาก กปภ.ไปต่อสัญญาเช่าให้กับรายเดิม 10 ปี จะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ และหากจะให้เอกชนรายเดิมสามารถเข้ามาทำต่อได้ ก็จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คือ ต้องเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้า กปภ.ให้เอกชนรายเดิมต่อสัญญาเลย กปภ.จะตอบไม่ได้ว่า ถ้ามีเอกชนรายอื่นเข้ามาแข่งขัน กปภ.จะได้ราคาดีกว่านี้ หรือไม่
เมื่อคณะอนุกรรมการกฎหมายไม่ได้ข้อสรุป เพราะความเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้เรื่องติดค้างเรื่อยมา โดยในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ คณะอนุกรรมการกฎหมายฯ จะมีการประชุมกันอีกครั้ง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร ในขณะที่สัญญาฯที่มีอยู่เดิมนั้น กำหนดให้เอกชนคู่สัญญาต้องดำเนินการอบรมคนของ กปภ. ให้พร้อมในการเข้าไปผลิตน้ำประปาแทน เป็นเวลาล่วงหน้า 3 เดือนก่อนสัญญาจะสิ้นสุดอายุ หรือไม่เกินวันที่ 14 ก.ค.2566” แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ กปภ.ได้ทำหนังสือแจ้งมติบอร์ด กปภ. เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 ว่า กปภ.จะดำเนินการผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯ เอง ให้กับทาง ป.ป.ช. รวมถึงหน่วยงานต้นสังกัด คือ กระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบแล้ว
อ่านประกอบ :
จับตาหัก‘มติ ป.ป.ช.-มท.’! ‘บอร์ด กปภ.’นัดถกปมสัมปทาน‘ประปาปทุมฯ’-เอกชนขอ‘ปธ-กก.’ต่อสัญญา
'บ.ประปาปทุมฯ'ยื่น'กปภ.'ขอเจรจา'ต่ออายุ'สัญญา’ประปาปทุมธานี-รังสิต’ อีก 10 ปี
‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66
เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว