“…ถ้าในปี 2566 เรามีการเปิดประมูลใหม่ เราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราจะได้นั้น จะชนะตัวเลข 5,300 ล้านบาท ที่เขา (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) ให้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ และคาดการณ์ยาก…”
.............................
ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ
สำหรับกรณี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมแก้ไขสัญญา (ต่ออายุ) ให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี หรือเป็นสิ้นสุด 14 ต.ค.2586 จากสัญญาฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุด 14 ต.ค.2566 ท่านกลางเสียงคัดค้านของ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.)
กระทั่งต่อมาในการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา วิษณุ แนะนำให้ ผู้บริหาร กปภ. ไปพิจารณาว่า กรณีการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘วิษณุ’แนะ‘กปภ.-สหภาพฯ’เจรจาหาข้อยุติ-เคลียร์ปมเอื้อเอกชน ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี)
@สัญญาเปิดทางเจรจาเอกชน ‘รายเดิม’ 2 ครั้งๆละ 10 ปี
ล่าสุด สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กปภ. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ต่อกรณีที่ กปภ. เจรจาต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่งเป็น ‘คู่สัญญารายเดิม’ โดยระบุว่า การที่ กปภ.ต้องเจรจากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามสัญญา หากไม่ทำ กปภ.จะถูกเอกชนฟ้องร้องได้
ทั้งนี้ ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับวันที่ 31 ส.ค.2538 สัญญาข้อที่ 15 หน้า 41-42 สรุปความได้ว่า หากผู้รับสิทธิ (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) ต้องการเช่าระบบผลิตน้ำประปาต่อเมื่อหมดสัญญาฯ
ให้ผู้รับสิทธิฯ ทำหนังสือแจ้งมายัง กปภ. ถึงความต้องการเช่าระบบผลิตน้ำประปา หลังจากครบรอบปีที่ 24 ของวันเริ่มประกอบกิจการ (เริ่มจำหน่ายน้ำประปา 15 ต.ค.2541) และอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะมีการโอนระบบผลิตน้ำประปา แต่หากไม่แจ้งให้ถือว่าผู้รับสิทธิฯไม่ต้องการที่จะเช่าต่อ
กปภ. ต้องยินยอมให้ผู้รับสิทธิฯ เช่าระบบผลิตน้ำประปาเป็นเวลา 10 ปี และเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว หากผู้รับสิทธิต้องการเช่าระบบผลิตน้ำประปาต่อ ให้ผู้รับสิทธิสามารถเช่าระบบผลิตน้ำประปาได้อีกเพียงครั้งเดียว มีระยะเวลาเช่าไม่เกิน 10 ปี ซึ่งหมายความว่า กปภ.ต้องให้สิทธิเอกชนรายเดิมเช่าระบบผลิตน้ำประปาได้ 2 ครั้งๆละ 10 ปี รวมเป็น 20 ปี
“ในสัญญาบอกว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง เราจะต้องถามเอกชนรายเดิมก่อน ว่าจะเช่าทำต่อหรือไม่ แล้วก็มาเจรจากัน แต่ถ้าไม่เจรจาเลย อย่างนี้เราจะถูกฟ้องว่าผิดสัญญา แต่ว่าเมื่อเจรจากันแล้ว เราจะตกลงหรือไม่ตกลงกันก็ได้” สมบูรณ์ กล่าว
@ไม่แน่ใจเปิดประมูลใหม่ ‘เอกชน’ จะให้เงื่อนไขที่ดีกว่าหรือไม่
สมบูรณ์ ระบุว่า ที่ผ่านมา กปภ.ได้เจรจากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด หลังจากที่บริษัทฯทำหนังสือเข้ามา ซึ่งเงื่อนไขที่ กปภ. ได้รับจะทำให้ กปภ. ได้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ประเด็น ขณะที่ ‘กำไร’ ที่เอกชนคู่สัญญารายเดิมจะได้จากการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 15% ของราคาน้ำประปาที่ขายให้ กปภ.เท่านั้น
ประเด็นแรก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะลงทุนขยายกำลังผลิตน้ำประปาอีก 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท แต่ หาก กปภ.เข้ามาดำเนินโครงการเอง กปภ.ต้องลงทุนส่วนนี้เอง
ประเด็นที่สอง หากมีการลงนามในสัญญาฉบับแก้ไข บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะลดค่าจำหน่ายน้ำประปาให้กับ กปภ. จากปัจจุบัน 12.73 บาท/ลบ.ม. เหลือ 10.15 บาท/ลบ.ม. ทันที จึงเท่ากับว่าในปี 2565-66 (สัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค.2566) กปภ. จะได้ส่วนลดค่าซื้อประปาปีละ 400 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 800 ล้านบาท
ประเด็นที่สาม ในร่างสัญญาฉบับแก้ไข บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะจ่ายค่าเช่าระบบผลิตน้ำประปาฯให้ กปภ. เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับแต่มีการลงนามในสัญญา ซึ่งเงินดังกล่าว กปภ.จะนำไปปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำประปาให้สามารถรองรับการส่งน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะนำไปปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำของ กปภ. เพื่อลดการสูญเสียน้ำ
นอกจากนี้ หาก กปภ. ให้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด แล้ว เมื่อมีการซ่อมบำรุงใหญ่ หรือที่เรียกว่า Overhaul (ยกเครื่อง) ในปี 2570 เพราะระบบผลิตน้ำประปาเดิมมีการใช้งานมา 25 ปีแล้ว ซึ่งตรงนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท กปภ.ก็ไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนตรงนี้ หากให้เอกชนดำเนินการ
“ถ้าในปี 2566 เรามีการเปิดประมูลใหม่ เราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราจะได้นั้น จะชนะตัวเลข 5,300 ล้านบาท ที่เขา (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) ให้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ และคาดการณ์ยาก” สมบูรณ์ กล่าว
สมบูรณ์ ชี้แจงกรณีที่ สร.กปภ. ระบุว่า หาก กปภ.ต่อสัญญากับเอกชนรายเดิมจะทำให้ กปภ.เสียประโยชน์เป็นเงิน 1.4 หมื่นล้าน ตลอดอายุสัญญา 20 ปี ว่า “ผมไปเจอเขา (สร.กปภ.) ที่ทำเนียบ พบว่าเขาคำนวณ โดยเอาต้นทุนมาไม่ครบ เช่น ค่าซ่อมใหญ่ และส่วนที่ก่อสร้างใหม่ ซึ่งถ้าเอาตรงนี้มารวมด้วยต้นทุนค่าน้ำจะเกิน 6 บาท/ลบ.ม.แน่”
สมบูรณ์ ระบุด้วยว่า “จริงๆแล้ว การคำนวณว่ากำไรที่เอกชนจะได้เท่าไหร่นั้น ยังไม่เรียบร้อย แต่รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำ กำไรที่เอกชนจะได้ควรอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งเป็นกำไรที่เอกชนอยู่ได้ ในขณะที่ กปภ. ได้ประโยชน์ เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม”
(สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ที่มาภาพ : กปภ.)
@เพิ่งถึงขั้นตอนที่ 2 สุดท้ายต้องเสนอ ‘บอร์ด PPP-ครม.’ อนุมัติ
สมบูรณ์ กล่าวว่า การต่อสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี หรือไม่ ยังต้องพิจารณากันอีกหลายขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่เพียงขั้นตอนที่ 2 และหากได้ข้อสรุปว่า จะให้ กปภ. ต่อสัญญากับเอกชนรายเดิม จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบด้วย
“เรื่องนี้ (ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา) มันเกินอำนาจผู้ว่าการ เกินอำนาจของบอร์ด กปภ.ด้วย และแม้ว่าบอร์ด กปภ. จะมีมติในเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เรื่องนี้ต้องเสนอคณะกรรมการกำกับดูแล ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด สคร. และตัวแทน กปภ. เป็นกรรมการฯ พิจารณา
ซึ่งเท่าที่ทราบคณะกรรมการกำกับ เพิ่งมีการประชุมไป 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าคณะกรรมการกำกับเห็นชอบให้ต่อสัญญา เรื่องก็จะกลับมาที่ กปภ.อีกครั้ง ซึ่งเราจะส่งร่างสัญญาไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ จากนั้น กปภ.ต้องส่งเรื่องไปให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด (กระทรวงมหาดไทย) พิจารณา ถ้ากระทรวงมหาดไทยไม่โอเค ก็ต่อไม่ได้
แต่หากกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ต่อสัญญาได้ กปภ.จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ที่มีนายกฯเป็นประธาน พิจารณา หากบอร์ด PPP เห็นชอบ ก็จะต้องนำเรื่องเสนอ ครม.ในขั้นตอนสุดท้าย จึงจะลงนามสัญญาฉบับแก้ไขกับเอกชนได้” สมบูรณ์ ระบุ
สมบูรณ์ ระบุด้วยว่า “สคร.บอกว่า การเสนอเรื่องเข้าบอร์ด PPP จะมีการซักถามเยอะ ทั้งเรื่องผลตอบแทน และเหตุผลต่างๆ แล้วจะต้องเอาเข้า ครม. ซึ่งรองนายกฯวิษณุ ก็บอกว่า เมื่อเข้าครม.แล้วไม่ต้องกลัว ทุกอันจะส่งไปถามหน่วยงานข้างเคียงว่า เห็นด้วยหรือไม่ แล้วเอามาประกอบเสนอ ครม. แต่ถ้า ครม. ซึ่งมีรมต.ทั้งคณะ ไม่โอเค ก็ตกไป”
สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า หากสุดท้าย บอร์ด PPP และครม. ไม่เห็นชอบให้ กปภ. ต่อสัญญากับเอกชนคู่สัญญารายเดิม กปภ.ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 49 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 คือ ต้องพิจารณากันว่า กปภ.จะดำเนินโครงการเอง หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเสมือนเป็นการลงทุนใหม่
“บอร์ดเอง ให้ทำตามมาตรา 46 47 และ 48 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 (แก้ไขสัญญากับเอกชนรายเดิม) คู่ขนานไปกับมาตรา 49 อันเดิมของเขา เพราะมีเงื่อนไขเข้าใหม่” สมบูรณ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ สร.กปภ.เคลื่อนไหวคัดค้านการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชนรายเดิมอีก 20 ปี นั้น สมบูรณ์ กล่าวว่า ได้นัด สร.กปภ.เข้าชี้แจงแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 พ.ย.) แต่ สร.กปภ.ไม่พร้อม เพราะผู้แทน สร.กปภ.บางคนอยู่ต่างจังหวัด จึงได้ขอให้ สร.กปภ.นัดวันมาว่า จะให้ชี้แจงเรื่องนี้วันไหน
@มท.ขอตัว ‘คนค้าน’ ต่อสัญญาเอกชนรายเดิมช่วยราชการ ‘มท.2’
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติม ท่ามกลางเสียงคัดค้านจาก สร.กปภ. และผู้บริหารของ กปภ. บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ กปภ.จะต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เป็นเวลาอีก 20 ปี
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำบันทึกข้อความที่ มท 0202.3/16296 ถึงผู้ว่าการ กปภ. ขอตัว มงคล กัลยกฤต ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร กปภ. ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการสำนักรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย
เพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่ ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย “เป็นการประจำ”
ซึ่งก่อนหน้านี้ มงคล กัลยกฤต ในฐานะผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความที่ มท 55711-2/221 ลงวันที่ 23 ส.ค.2564 ชี้แจงความเห็นของกองธุรกิจเกี่ยวกับโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต โดยแสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
ทั้งนี้ มงคล ให้ความเห็นว่า หาก กปภ. ผลิตน้ำประปาเองต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ 4.42 บาท/ลบ.ม. ในขณะที่ราคาน้ำประปาที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอขายให้ กปภ. ในอัตรา 10.30 บาท/ลบ.ม. จะทำให้มี ‘ส่วนต่างกำไร’ ในอัตรา 5.88 บาท/ลบ.ม.
เมื่อนำ 'ส่วนต่างกำไร' ไปคูณกับประมาณการความต้องการใช้น้ำตลอดสัญญา 20 ปี รวมแล้ว 3,600 ล้านลบ.ม. จะเท่ากับว่า กปภ. เสียประโยชน์จาก ‘ผลกำไรส่วนต่าง’ เป็นเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท
“กรณีกำลังการผลิตน้ำประปาเต็มศักยภาพของ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด นั้น กปภ. ต้องจัดเตรียมแผนรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต โดยการลงทุนก่อสร้างขยายระบบผลิตน้ำประปา 100,000 ลบ.ม./วัน
โดยไม่จำเป็นต้องขยายสัญญาให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดิม รวมทั้งก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนา” บันทึกของนายมงคล ระบุ (อ่านประกอบ : เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา-อ่านเอกสารประกอบ)
ต่อกรณีดังกล่าว สมบูรณ์ ชี้แจงว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือของตัว นายมงคล มา ทาง กปภ.ก็ต้องส่งตัวให้ไป และก่อนหน้านี้ นายมงคลเองก็ทำงานเป็นหน้าห้องของรัฐมนตรีอยู่แล้ว
“ก็คงต้องทำตามที่ร้องขอตัวมา และนายมงคลเองก็เคยนั่งทำงานอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยทำอยู่หน้าห้องรัฐมนตรี พอทำอยู่พักหนึ่งก็ย้ายมาที่ กปภ. และเนื่องจากเขาเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยเฉพาะเชี่ยวชาญกฎหมาย PPP ท่าน มท.2 ซึ่งเคยใช้งานเขามาพักใหญ่ คงอยากเรียกใช้อีก” สมบูรณ์กล่าว
เมื่อถามว่าการขอยืมตัวนายมงคลไปช่วยราชการครั้งนี้ เกี่ยวกับการคัดค้านต่อสัญญาซื้อน้ำประปาหรือไม่ สมบูรณ์ บอกว่า “ไม่ทราบ แต่เมื่อท่านขอมาก็คงต้องให้ตัวไป และเราไม่รู้เลยว่าทำไม ท่านถึงขอตัวไป”
เหล่านี้เป็นคำชี้แจงของ ‘สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์’ ผู้ว่าการ กปภ. และความเเคลื่อนไหวล่าสุดกรณี กปภ.เตรียมต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก 'เอกชนรายเดิม' อีก 20 ปี ท่ามกลางข้อครหาว่า อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่
ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไรนั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/