“…การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562…”
.............................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า ไม่มีนโยบายให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แก้ไขสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต เพื่อต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจากคู่สัญญารายเดิม (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) อีก 20 ปี จากสัญญาปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2566
และหลังสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต สิ้นสุดในวันที่ 14 ต.ค.2566 ให้ กปภ. รับช่วงผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิต เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าเป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุด นั้น (อ่านประกอบ : ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี)
ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำ ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต’ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอสาระสำคัญของข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามหนังสือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0008/0093 เรื่อง ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต’ ลงวันที่ 8 ก.ย.2565 ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ส่งไปถึงเลขาธิการ ครม. ดังนี้
@ป.ป.ช.เผยมีเหตุสงสัยส่อว่าอาจมีการทุจริต
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้รับทราบกรณีที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ได้แสดงความเห็นคัดค้านการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต
โดยเห็นว่าการต่ออายุสัญญาสัมปทานดังกล่าว จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน อีกทั้งทำให้รัฐเสียประโยชน์ ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดังกล่าว พบว่า การพิจารณาประเด็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไขสัญญาฯ มีความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดิมและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ กปภ.
กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐ อันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อ กปภ. และ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน
ความเร่งด่วนของเรื่อง
เนื่องจากสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต จะครบกำหนดอายุสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.2566 และในขณะเดียวกันปัจจุบัน กปภ. ก็ได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขสัญญาฯ แล้ว ดังนั้น การพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปอย่างทันการณ์และสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต แล้ว เห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้ และตามนัยมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณี เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนโดยเร็ว
ผลกระทบ
เนื่องจากน้ำประปา เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้น กปภ. ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีน้ำประปา หากจะดำเนินการใดๆภายหลังสัญญาสิ้นสุด ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องและคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ
@ชี้ต่อสัญญา'รายเดิม'เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาดโดยเจตนา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต ของ กปภ. แล้ว เห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทจริตต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนี้
1.การผลิตน้ำประปาเป็นการให้บริการสาธารณะของรัฐแก่ประชาชน ที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการแสวงผลกำไร ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินกิจการของเอกชน ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการในการผลิตน้ำประปาได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กปภ.ควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ซึ่งเป็นแนวทางตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.กปภ. ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40.17 (ข้อมูลปี พ.ศ.2563) ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีต่อ กปภ. ตามรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 โดยเร่งด่วน เพื่อให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของโครงการได้
3.การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตต่อ กปภ. ตามนัยมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ด้วย แล้ว
เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต และอาจเรียกได้เป็นการ 'ปิดประตู' กรณีที่ กปภ. จะดำเนินการแก้ไขสัญญาฯ เพื่อต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปอีก 20 ปี!
อ่านประกอบ :
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว