“…กรรมการรายหนึ่ง ได้สอบถามในที่ประชุมว่า ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่า หาก กปภ.ดำเนินการเอง ต้นทุนการผลิตน้ำประปาจะอยู่ที่ 4 บาท/ลบ.ม. ซึ่งเป็นราคาที่แตกต่างจากที่บริษัท (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) เสนอมาที่ 10.30 บาท/ลบ.ม. จึงเห็นว่า กปภ. ควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้…”
.............................
กรณี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมแก้ไขสัญญา (ต่ออายุ) ให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี หรือจากที่สิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค.2566 เป็นสิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค.2586 (อ่านประกอบ : คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ)
กลับมาเป็น ‘ประเด็น’ ให้ต้องติดตามกันอีกครั้ง
เมื่อปรากฏข้อมูลว่า มีการเปลี่ยนแปลงตัว ‘ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด’ ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘กรรมการ’ ใน ‘คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต’ กะทันหัน ในขณะที่ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดรายที่ถูก ‘เปลี่ยนตัว’ นั้น ไม่ทราบเรื่องมาก่อน
@บอร์ดกำกับฯเปลี่ยนแปลงตัว ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการ’
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 เดือนก่อน หรือ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 คณะกรรมการ กปภ. ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี หรือเป็นสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.2586
โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะลดราคาขายน้ำประปาให้กับ กปภ. และเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาใน จ.ปทุมธานี อีก 1 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน พร้อมทั้งจ่ายค่าเช่าระบบผลิตน้ำประปาฯให้ กปภ. เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา)
ต่อมา กปภ. เสนอเรื่องการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาฯ ไปให้ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562’ หรือ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต’ ทำหน้าพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญา ก่อนส่ง ‘ร่างสัญญาฯ’ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาต่อไป
สำหรับ ‘กรรมการ’ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ‘คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต’ มีทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย
นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ
ศักดา ช่วงรังษี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ทำหน้าที่เป็นกรรมการ
ชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่เป็นกรรมการ
หลักชัย พัฒนเจริญ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 4) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ทำหน้าที่เป็นกรรมการ
แต่หลังจาก คณะกรรมการฯได้ประชุมกันไปแล้ว 4 ครั้ง ปรากฎว่าในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัว ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ จาก ศักดา ช่วงรังษี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน เป็น รมย์ศักดิ์ ธรรมชัยเดชา อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด (เลขานุการ สิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด)
ที่สำคัญการเปลี่ยนตัว ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ ครั้งนี้ มีจุดที่น่าสังเกต คือ อัยการที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับฯคนใหม่ มีตำแหน่งระดับ ‘อัยการพิเศษฝ่าย’ เท่านั้น จากเดิมที่อัยการที่ทำหน้าที่เดิม มีตำแหน่งเป็นถึง ‘อธิบดีอัยการ’ ซึ่งเรียกได้ตำแหน่งห่างชั้นกันพอสมควร
(รายชื่อคณะกรรมการกำกับฯ ในการประชุมครั้งที่ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564)
(รายชื่อคณะกรรมการกำกับฯ ในการประชุมครั้งที่ ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564)
@บอร์ดกำกับฯพิจารณา ‘ต่อสัญญา’ ซื้อน้ำประปาเอกชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนตัว ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ จาก ศักดา เป็น รมย์ศักดิ์ นั้น
แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าการประชุมครั้งนั้น จะเป็นชนวนเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนตัว ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ หรือไม่ แต่จะพบว่าการประชุมครั้งดังกล่าว มีประเด็นข้อหารือที่น่าสนใจหลายประเด็น
เริ่มจากฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.ขอให้คณะกรรมการกำกับฯพิจารณาให้ความเห็นชอบ ‘การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา’ ระหว่าง กปภ. และบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด โดยให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ลดราคาค่าน้ำประปา ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปา และขยายระยะเวลาการดำเนินงานออกไป 20 ปี ตามที่ กปภ. เสนอ เพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ภาครัฐและองค์กร ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐ
โดยถือเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ‘แตกต่าง’ จากหลักการของโครงการร่วมลงทุน และทำให้เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน ‘แตกต่าง’ จากเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 48
2.ขอความเห็นชอบให้ กปภ. ส่ง ‘ร่างสัญญาที่แก้ไข’ เสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และส่งความเห็นของคณะกรรมการกำกับฯ พร้อมร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว ไปให้ รมว.มหาดไทย เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนทำตามขั้นตอนพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 48 ต่อไป
@ปธ.บอร์ดกำกับฯหนุนต่อสัญญา‘เอกชนเจ้าเดิม’ ชี้ Win-Win
จากนั้น กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. ชี้แจงผลประโยชน์ที่ได้จากการแก้ไขสัญญาฯว่า ประชาชนจะมีน้ำใช้ต่อเนื่องไม่ขาด ราคาน้ำไม่เพิ่ม และใช้น้ำได้เต็มที่ เพราะกปภ.มีกำลังผลิตเพิ่ม และภาครัฐจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านบาท เพราะไม่ต้องลงทุน 3,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำประปา และได้ค่าเช่าอีก 1,500 ล้านบาท
ขณะที่ กปภ.จะได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำในราคาถูก เพราะในช่วง 2 ปีแรกของร่างสัญญานั้น เอกชนจะลดค่าน้ำประปาให้ กปภ. ทำให้ กปภ.ประหยัดเงินได้ 800 ล้านบาท และหากเปรียบเทียบการลงทุน 3,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังผลิตน้ำประปา ระหว่าง กปภ.ลงทุนเอง กับการให้เอกชนลงทุน พบว่าต้นทุนของ กปภ.สูงกว่าเอกชน
หลังจากชี้แจงจบ ประธานคณะกรรมการ (นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร) แสดงความเห็นว่า “จะเห็นได้ว่าการแก้ไขสัญญา ทำให้ประชาชน ภาครัฐ และ กปภ.ได้ประโยชน์ รวมทั้งเอกชนได้ประโยชน์จากการต่อสัญญาอีก 20 ปี ซึ่งมีลักษณะ Win-Win นั่นคือ เอกชนอยู่ได้ ภาครัฐอยู่ได้ ประชาชนไม่เสียประโยชน์”
@กก.ซักเหตุใดจึงต่อสัญญาให้เอกชนคู่สัญญาอีก 20 ปี
อย่างไรก็ดี กรรมการรายหนึ่ง ได้สอบถามว่า เหตุใด กปภ. ต้องต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชนคู่สัญญาเป็นเวลา 20 ปี และเหตุใด กปภ.จึงไม่ดำเนินการผลิตน้ำประปาเองหลังจากสิ้นสุดสัญญา ในเมื่อทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกโอนให้ กปภ.อยู่แล้ว อีกทั้งเหตุใดในการก่อสร้าง Plant ผลิตน้ำประปาใหม่ กปภ. จะต้องเป็นผู้จัดหาที่ดินใหม่เอง
โดย กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. ได้ชี้แจงว่า การต่อสัญญาให้เอกชน 20 ปีนั้น เนื่องจากการก่อสร้างระบบผลิตที่บริษัทฯ (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) เสนอ เป็นโครงสร้างถาวรที่สามารถใช้งานได้ 40-50 ปี เช่นเดียวกับโครงสร้างระบบผลิตในปัจจุบันที่ออกแบบสำหรับสัมปทาน 25 ปี
ดังนั้น หาก กปภ. เลือกต่อสัญญาให้เอกชน 3 ปี หรือ 5 ปี ด้วยเงินที่ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างใหม่ 3,000 ล้านบาท บวกกับค่าบำรุงรักษาระบบอีก 2,000 ล้านบาท จะทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาอยู่ที่ 20-30 บาท/ลบ.ม.
@กปภ.แจงหาที่ดินไม่ได้ จึงต้องให้เอกชนดำเนินการ
ในขณะที่ กรรมการอีกรายหนึ่ง ได้ซักถามว่า เหตุผลที่ กปภ. ต้องให้เอกชนคู่สัญญาเดิม (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) เข้าดำเนินการผลิตน้ำประปา เพราะ กปภ. ไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้ นั้น เหตุใด กปภ. จึงไม่สามารถซื้อที่ดินได้ และหากให้เอกชนดำเนินการเองแล้ว เอกชนจะสามารถซื้อที่ดินได้หรือไม่
กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. ชี้แจงว่า สำหรับที่ดินที่จะลงทุนระบบผลิตน้ำประปาใหม่ นั้น บริษัทฯ (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) จะใช้ที่ดินแปลงเดิม และเนื่องจากสัญญาฉบับปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นแบบ BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) ทำให้พื้นที่ยังเป็นของบริษัทฯ
ทำให้ กปภ. ไม่สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่ได้ เพราะยังไม่สิ้นสุดสัญญา และหากบริษัทฯ โอนที่ดินมาเป็นของ กปภ. หลังจากสิ้นสุดสัญญาแล้ว กปภ. ก็ไม่สามารถก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาใหม่ได้ทัน
จากนั้น กรรมการรายดังกล่าว จึงซักถามต่อว่า หาก กปภ. ก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาใหม่ไม่ทัน ก็ควรจ้างบริษัทฯดำเนินการ 2-3 ปี เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม (ให้ กปภ.ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง) พร้อมทั้งสอบถามว่า ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา กปภ.ไม่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีจากบริษัทฯเลยหรือ
กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. ตอบว่า กปภ.ไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างบนที่ดินของบริษัทฯ ในขณะที่ กปภ.มีความต้องการระบบผลิตน้ำประปาเพิ่ม เนื่องจากในปี 2566 กำลังผลิตของ กปภ. จะไม่เพียงพอ รวมทั้งแผนที่ กปภ.จะดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาเองนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากหาซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างไม่ได้
นอกจากนี้ ได้มีกรรมการฯคนหนึ่งในที่ประชุม สอบถามว่า โครงการนี้ฯ สร.กปภ. มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ทราบว่าที่ประชุมมีตัวแทน สร.กปภ.หรือไม่ โดย กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า กปภ.ได้มีการชี้แจงในกิจการสัมพันธ์แล้ว และเนื่องจากคณะกรรมการ กปภ. ต้องให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะนำเรื่องนี้มาเผยแพร่
@ไม่ตอบปมต้นทุนผลิตของ กปภ.-เทียบซื้อน้ำจากเอกชน
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการกำกับฯครั้งที่ 4/2564 ประธานคณะกรรมการฯ (นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร) ได้ขอตัวออกจากที่ประชุม เนื่องจากติดภารกิจด่วน จึงได้มอบหมายให้ กรรมการ ซึ่งผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ (ศักดา ช่วงรังสี) ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแทน
แต่หลังจากประชุมไปได้ระยะหนึ่ง กรรมการ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม (ศักดา ช่วงรังสี) ได้ขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพื่อจะได้รับฟังข้อมูลจากหลายๆฝ่าย แต่การประชุมยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ประชุมได้หารือในเรื่องการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาทางเลือกในการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนฯ
กระทั่ง มีกรรมการรายหนึ่ง ได้สอบถามในที่ประชุมว่า ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่า หาก กปภ.ดำเนินการเอง ต้นทุนการผลิตน้ำประปาจะอยู่ที่ 4 บาท/ลบ.ม. ซึ่งเป็นราคาที่แตกต่างจากที่บริษัท (บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด) เสนอมาที่ 10.30 บาท/ลบ.ม. จึงเห็นว่า กปภ. ควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่าย กปภ. และทำหน้าที่คอยตอบข้อซักถามของกรรมการรายอื่นๆ มาตลอดการประชุมนั้น กลับไม่ได้ชี้แจงในประเด็นข้อซักถามดังกล่าวแต่อย่างใด
มีเพียง ผู้อำนวยการกองคดี ฝ่ายกฎหมาย กปภ. ที่ชี้แจงในประเด็นเรื่อง ‘ค่าเช่า’ ว่า ตามสัญญาเดิมในภาคผนวก 7 จะเห็นว่าในส่วนของ ‘ท่อ’ บริษัทฯจะดำเนินการให้ และจะถูกคิดกลับมาเป็นต้นทุนค่าน้ำตลอดโครงการ ดังนั้น ค่าเช่าจึงถือเป็นอาวุธสำคัญในการกำหนดผลตอบแทนของโครงการ
จากนั้น กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนของ สคร. (ชาญวิทย์ นาคบุรี) เสนอต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากประชุมครั้งนี้ ประธานคณะกรรมการฯ ติดภารกิจด่วน และหลายเรื่องมีความสำคัญ จึงขอให้ฝ่ายเลขานุการฯสรุปประเด็นในแต่ละหัวข้อที่ได้มีการซักถาม และให้ประสานกับประธานคณะกรรมการฯ เพื่อนัดหมายประชุมครั้งใหม่โดยเร็ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนของ สคร. และมีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำข้อมูล เหตุผลความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไขสัญญา ผลกระทบจากการแก้ไขสัญญา และข้อมูลอื่นๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับฯ ในการประชุมครั้งถัดไป
@บอร์ดกำกับฯไฟเขียวต่อสัญญา-หลังเปลี่ยนตัว ‘อัยการ’
แต่ทว่าหลังจากการประชุมคณะกรรมการกำกับฯ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 เสร็จสิ้นลง ในอีก 1 เดือนต่อมา ประธานคณะกรรมการฯ (นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร) นัดประชุมประชุมคณะกรรมการกำกับฯอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 5/2564 ในวันที่ 20 ธ.ค.2564
แต่ในการประชุมคราวนี้ ไม่มีชื่อ ศักดา ช่วงรังษี ร่วมเป็นกรรมการฯแล้ว
ขณะที่ในอีก 9 วันต่อมา ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการกำกับฯ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 ผลปรากฏว่า คณะกรรมการกำกับฯ มีมติเห็นชอบให้ กปภ.ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เป็นเวลา 20 ปี และส่งร่างสัญญาฯให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาต่อไป
(หนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการกำกับฯครั้งที่ 6/2565 วันที่ 29 ธ.ค.2564 ก่อนที่คณะกรรมการกำกับฯจะเห็นชอบให้ กปภ.ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชน)
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะกรรมการกำกับฯมีมติเห็นชอบให้ กปภ.ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาฯจากเอกชนรายเดิมอีก 20 ปี ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คนร.) และครม.เห็นชอบ นั้น อาจขัดต่อ ‘พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562’ หรือไม่
เพราะแม้ว่า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญา แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้ ‘หน่วยงานรัฐ’ แก้ไขสัญญาเพื่อ ‘ขยายอายุสัญญา’ ให้กับสัญญาร่วมทุนฯที่ยังไม่สิ้นสุดอายุได้
ที่สำคัญการที่ กปภ. อ้างว่า หาก กปภ.ไม่ต่อสัญญากับเอกชนรายเดิม จะทำให้เอกชนฟ้องร้องได้ แต่หากไปดูในสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับวันที่ 31 ส.ค.2538 สัญญาข้อที่ 15 หน้า 41-42 ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เพราะจากสัญญาข้อ 15.2 ที่กำหนดให้ กปภ.ต้องให้เอกชนรายเดิมเช่าระบบผลิตน้ำประปาได้อีก 10 ปี หลังสิ้นสุดสัมปทานนั้น
จะพบว่าเนื้อหาในสัญญาดังกล่าว ไม่ได้กำหนดตายตัวให้ กปภ. ต้องต่อสัญญากับเอกชนเจ้าเดิมเท่านั้น เนื่องจากการระบุถ้อยชัดเจนว่า กปภ. ‘อาจ’ ยินยอมให้ผู้รับสิทธิเช่าระบบผลิตน้ำประปาหรือไม่ก็ได้
“15.2 เมื่อมีการรับหนังสือแจ้งถึงความต้องการเช่าตามข้อ 15 . การประปา ‘อาจ’ ยินยอมให้ผู้รับสิทธิเช่าระบบผลิตน้ำประปาเป็นระยะ เวลา 10 (สิบ) ปี และภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับจากได้รับแจ้งดังกล่าว...” สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับวันที่ 31 ส.ค.2538 ระบุ
เหล่านี้เป็น ‘คำถาม-คำตอบ’ ในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับฯ กรณีที่ กปภ.เตรียมต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก ‘เอกชนรายเดิม’ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตัว ‘อัยการ’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการจาก ‘ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด’ จากนั้นอีกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ต่อมา คณะกรรมการกำกับฯได้มีมติเห็นชอบต่อสัญญาซื้อน้ำประปาตามที่ กปภ.เสนอ
อ่านประกอบ :
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว