"...การจัดหาแหล่งน้ำดิบในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญาส่งผลให้คุณภาพน้ำประปาในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการดำเนินงานโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของการประปาส่วนภูมิภาค วงเงินนับหมื่นล้านบาท ซึ่งพบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ อาทิ การบริหารจัดการน้ำสูญเสียในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ กำหนด , การกำหนดกำลังการผลิตน้ำประปาและปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำไม่พิจารณาถึงการบริหาร จัดการลดน้ำสูญเสีย ,การกำหนดรูปแบบการปรับราคาซื้อน้ำประปาไม่สอดคล้องกับการปรับราคาจำหน่าย น้ำประปาของ กปภ. พร้อมทำข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน
**************************
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีการดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) และนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดขยายการลงทุนด้านบริการพื้นฐานให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพงานรัฐวิสาหกิจโดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการสาธารณูปโภคมากขึ้น เพื่อลดภาระทางการเงินของรัฐและเร่งรัดการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง ซึ่ง กปภ. ได้ดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา จำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ ในภาพรวมมีระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และสิ้นสุดปีพ.ศ. 2577 วงเงินลงทุนตามโครงการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 17,676.00 ล้านบาท
โดยดำเนินการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมการผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การจัดส่งและจัดจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำ จำนวน 1,078,984 ราย ในพื้นที่ให้บริการของ กปภ. สาขา 20 สาขา ในพื้นที่ 11 จังหวัดการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
ตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดินให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในด้านการประปา และการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนของ กปภ. เพื่อให้มีน้ำประปาที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำประปาของประชาชน ประกอบกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนอาจมีความเสี่ยงจากโครงการ (Project Risks) ที่ส่งผลให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ได้แก่ ขั้นตอนเตรียมความพร้อมในการร่วมลงทุน การดำเนินการตามสัญญาร่วมทุน การกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงาน และการต่อสัญญาหรือแก้ไขสัญญา รวมทั้งการแบ่งรับภาระความเสี่ยง (Risk Transfer) ระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งหากดำเนินการไม่เหมาะสมจะทำให้โครงการเอกชนร่วมดำเนินงานในกิจการของ กปภ. เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผล และไม่เกิดความคุ้มค่า
ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงกำหนดให้มีการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของกปภ. เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมดำเนินงานในกิจการของ กปภ. รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพต่อไป
การดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. จำนวน 12 สัญญา ปีงบประมาณ 2559 – 2564 ผลปรากฏว่า การดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของ กปภ. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ โดยการบริหารจัดการน้ำสูญเสียในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การกำหนดกำลังการผลิตน้ำประปาและปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำไม่พิจารณาถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การกำหนดรูปแบบการปรับราคาซื้อน้ำประปาไม่สอดคล้องกับการปรับราคาจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. และการจัดหาแหล่งน้ำดิบในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญาส่งผลให้คุณภาพน้ำประปาในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดสรุปได้ดังนี้
1. การบริหารจัดการน้ำสูญเสียในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จากการตรวจสอบข้อมูลอัตราน้ำสูญเสียของ กปภ. สาขาที่ดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งหมด 20 สาขา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 – 2563 พบว่า กปภ. สาขามีปริมาณน้ำสูญเสียเพิ่มสูงขึ้นจำนวน 17 สาขา ซึ่งสาขาที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำสูญเสียเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กปภ. สาขาราชบุรีสมุทรสงคราม คลองหลวง สมุทรสาคร และปทุมธานีโดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำสูญเสียเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 186.84 170.23 141.38 139.45 และ 95.38ตามลำดับ เมื่อพิจารณาดัชนีน้ำสูญเสีย (Infrastructure Leakage Index: ILI) และการแบ่งกลุ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสูญเสียตามหลักของ International Water Association: IWA
พบว่า กปภ. สาขาส่วนใหญ่มีค่า ILI มากกว่า 16 หรืออยู่ในกลุ่ม D ตามการแบ่งกลุ่มตัวชี้วัดประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสูญเสียของ IWA มีจำนวน 13 สาขา หรือคิดเป็นร้อยละ 65.00 ของ กปภ. สาขาที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุน ซึ่งมีการจัดการน้ำสูญเสียอย่างไม่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดน้ำรั่วไหล ทั้งนี้กปภ. สาขาที่มีค่า ILI สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่กปภ. สาขารังสิต อ้อมน้อย คลองหลวง สมุทรสงคราม และปทุมธานีมีค่าดัชนีชี้วัดน้ำสูญเสียอยู่ที่100.00 72.00 69.00 63.00 และ 51.00 ตามลำดับ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำสูญเสียของ กปภ. สาขาที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุน จำนวน 20 สาขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2563 พบว่า กปภ. สาขาที่ไม่สามารถบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ตามเป้าหมายอย่างน้อย 1 ปีจาก 5 ปี มีจำนวน 15 สาขา หรือคิดเป็นร้อยละ75.00 ของ กปภ. สาขาทั้งหมดที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุน และคิดเป็นร้อยละ 93.75 ของ กปภ. สาขาที่รับผิดชอบดำเนินการดูแลระบบจ่ายน้ำประปาเอง จำนวน 16 สาขา ทั้งนี้ กปภ. สาขาที่ให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและดูแลระบบจ่ายน้ำประปาตามสัญญาจำนวนทั้งหมด 5 สาขา มีผลการบริหารจัดการน้ำสูญเสียที่เป็นไปตามเป้าหมายตลอดทั้ง 5 ปี ในขณะที่กปภ. สาขาที่รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำสูญเสียเองโดยจ้างบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่บริษัทที่ร่วมลงทุนจำนวนทั้งหมด 13 สาขา ไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทั้ง 5 ปี หรือบางปี สำหรับ กปภ. สาขาที่ดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและดูแลระบบจ่ายน้ำประปาเองทั้งหมด จำนวนทั้งหมด 3 สาขา ไม่สามารถบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ตามเป้าหมายที่กำหนดบางปีจำนวน 2 สาขา และมีกปภ. สาขา เพียง 1 สาขา ที่มีผลการบริหารจัดการน้ำสูญเสียที่เป็นไปตามเป้าหมายตลอดทั้ง 5 ปีจากปัญหาน้ำสูญเสียซึ่งอยู่ในเงื่อนไขความรับผิดชอบของ กปภ. ทำให้กปภ. มีภาระต้นทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2563คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 14,973.35 ล้านบาท และ กปภ. ไม่สามารถดำเนินการให้ผ่านตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี พ.ศ. 2558 ด้านกำไรจากการดำเนินงาน (Earnings BeforeInterest, Depreciation and Amortization: EBIDA) ของโครงการร่วมลงทุนได้อีกทั้งทำให้ กปภ.จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพิ่มหรือมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการรับซื้อน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
2. การกำหนดกำลังการผลิตน้ำประปาและปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำไม่พิจารณาถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย จากการตรวจสอบสัญญาโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวนทั้งสิ้น 12 สัญญา พบว่า สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในเขตปทุมธานีและรังสิต โดยซื้อขายน้ำประปาจากบริษัทเอกชนคู่สัญญาในรูปแบบ Build – Own – Operate – Transfer: BOOT ระยะเวลาสัญญาเริ่มเมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2566 (ระยะเวลา 25 ปี) ปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ. 2564 มีปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำอยู่ที่ 358,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน (คิดเป็น 130.67 ล้าน ลบ.ม./ปี) ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวใกล้สิ้นสุดสัญญา กปภ. จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่หนึ่ง การจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด ตามมาตรา 49 และแนวทางที่สองการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 48
จากการพิจารณาแนวทางของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้ง2 แนวทางดังกล่าว ประกอบกับผลการดำเนินงานของสัญญาฯ ปทุมธานี–รังสิตจะเห็นได้ว่าการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน แต่ไม่ได้พิจารณาถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ตามที่บริษัทเอกชนคู่สัญญาเสนอเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาอีก 100,000 ลบ.ม./วัน จากเดิม 488,000 ลบ.ม./วัน เป็น 588,000 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้หาก กปภ.ดำเนินการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียลงให้มีค่า ILI เท่ากับ 8 ซึ่งเป็นค่าที่แสดงถึงการบริหารจัดการน้ำสูญเสียที่มีประสิทธิภาพ โดยหากอ้างอิงปริมาณน้ำสูญเสียที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 82.89 ล้าน ลบ.ม. ให้เหลือ 9.85 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้ กปภ. มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิตมากขึ้นถึง 73.04 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นกำลังการผลิตต่อวันจำนวน 200,110 ลบ.ม.) หรือหาก กปภ. สามารถลดน้ำสูญเสียในปีพ.ศ. 2563ลงให้ต่ำกว่าร้อยละ 29.09 เป็นต้นไป จะทำให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิตมากขึ้นถึงกว่า 100,000 ลบ.ม./วัน จะเห็นได้ว่า กปภ.มีน้ำประปากลับเข้ามาในระบบเพื่อให้บริการแก่ประชาชนเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำประปาที่บริษัทเอกชนจะลงทุนเพิ่ม และจากการที่ กปภ. ไม่ได้ลงทุนก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตนั้น จะมีต้นทุนค่าผลิตน้ำอยู่ที่ 5.81 – 6.53 บาท/ลบ.ม. ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ากรณีที่ กปภ. รับซื้อน้ำประปาจากบริษัทเอกชนกรณีแก้ไขสัญญาฯ (ราคาค่าซื้อน้ำประปาเริ่มต้น 10.15 บาท/ลบ.ม.)
ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี – รังสิต ถึงผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อพิจารณาทบทวนการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0026/677 ลงวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2565
3. การกำหนดรูปแบบการปรับราคาซื้อน้ำประปาไม่สอดคล้องกับการปรับราคาจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. สัญญาโครงการร่วมลงทุนฯ ของ กปภ. ได้กำหนดรูปแบบราคาซื้อน้ำประปาไว้2 รูปแบบ ได้แก่ การปรับราคาซื้อน้ำประปาโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumption Price Index: CPI)จำนวน 10 สัญญา และการปรับราคาซื้อน้ำประปาที่เพิ่มคงที่ตลอดอายุสัญญา จำนวน 1 สัญญา
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการร่วมลงทุนฯ ของ กปภ. ทั้ง 12 สัญญา พบว่า ราคาซื้อน้ำประปาเมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2563 ของสัญญาฯ ราชบุรี–สมุทรสงคราม และสัญญาฯ นครปฐม –สมุทรสาครมีราคาซื้อน้ำประปาสูงกว่าราคาจำหน่ายน้ำประปา (เฉลี่ย) เป็นจำนวน 8.94 บาท/ลบ.ม. และ 7.93บาท/ลบ.ม. ตามลำดับ และมีการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อน้ำประปาเมื่อเริ่มสัญญาเทียบกับราคาเมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2563 ในอัตราร้อยละ 125.60 และ 67.09 ตามลำดับ แต่ราคาจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ.ใช้ข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำประปา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558ซึ่งยังไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำประปามาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนค่าน้ำประปาต่อหน่วย
4. การจัดหาแหล่งน้ำดิบในความรับผิดชอบของ กปภ. ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญาส่งผลให้คุณภาพน้ำประปาในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จากการสอบทานรายงานการตรวจคุณภาพน้ำประปาตามโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ทั้งหมด 12 สัญญา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 – 2563 พบว่า ผลการตรวจคุณภาพน้ำประปาของ กปภ. ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาฯฉะเชิงเทรา และสัญญาฯ บางปะกง ซึ่งปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ด้านคุณสมบัติทางกายภาพ และด้านคุณสมบัติทางเคมีของน้ำประปา โดยค่าพารามิเตอร์ที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น ได้แก่ค่าแมงกานีส ค่าคลอไรด์ค่าสารละลายทั้งหมดที่เหลือจากการระเหย ค่าเหล็ก และปัญหาเรื่องน้ำขุ่นและสีน้ำที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในระยะยาวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ตามข้อตกลงในสัญญาร่วมลงทุนของสัญญาฯ ฉะเชิงเทรา และสัญญาฯ บางปะกง ทั้ง 2 สัญญา กำหนดให้ กปภ. รับผิดชอบเป็นผู้จัดหาแหล่งน้ำดิบ แต่กปภ. ไม่สามารถจัดหาน้ำดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานตามสัญญาให้แก่เอกชนเพื่อผลิตน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีปัญหาค่าคลอไรด์ (น้ำเค็ม) ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่และระบบผลิตน้ำประปาของบริษัทเอกชนไม่สามารถกำจัดหรือละลายค่าคลอไรด์ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานได้อย่างไรก็ตาม กปภ. มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำประปาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการรับซื้อน้ำดิบที่ได้คุณภาพเพิ่มเติมมาผสมเพื่อปรับคุณภาพน้ำดิบทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นในการจัดหาน้ำดิบของ กปภ.โดยสัญญาฯ กปภ. สาขาฉะเชิงเทรา มีการซื้อน้ำประปาจากบริษัทเอกชนเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. 2559และ 2563 ปริมาณรวม 1,939,682.00 ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่า 19.20 ล้านบาท และสัญญาฯ บางปะกงรับซื้อน้ำดิบที่ได้คุณภาพเพิ่มเติมมาผสมเพื่อปรับคุณภาพน้ำดิบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2563 ปริมาณรวม14,497,262.00 ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่ากว่า 143.52 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 162.72 ล้านบาท
ผลการตรวจสอบข้างต้นสรุปได้ว่ามีสาเหตุสำคัญเกิดจากการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ และ กปภ. สาขาขาดความพร้อมในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและดูแลระบบจ่ายน้ำประปาตามสัญญา ด้านจำนวนบุคลากรเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างและการขอรับจัดสรรงบประมาณ
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินโครงการให้สิทธิเอกชนดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ.เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งเกิดความคุ้มค่าแก่ภาครัฐ และประชาชนได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ กรณีที่ กปภ. มีการพิจารณาดำเนินโครงการร่วมลงทุนและการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในอนาคตให้ครอบคลุมความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการจัดหาแหล่งน้ำดิบ ความเสี่ยงด้านคุณภาพของน้ำประปา ความเสี่ยงจากการผลิตและบำรุงรักษาระบบส่งน้ำประปา ความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย (ตามแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย) เพื่อให้สามารถประมาณการปริมาณการผลิตน้ำประปาและกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้น้ำประปา ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปา และความเสี่ยงในสภาพทรัพย์สินที่ส่งมอบ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ และพิจารณาการแบ่งรับความเสี่ยงระหว่าง กปภ. และบริษัทเอกชนคู่สัญญา เพื่อเป็นการจัดสรรความเสี่ยงซึ่ง กปภ. ไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ เช่น การจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพ และการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่ กปภ. ต้องรับภาระรวมถึงกำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานและดำเนินการแก้ไขปัญหาตลอดระยะเวลาที่ร่วมลงทุนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน (Value for Money) และบรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุน
2. สำรวจปัญหาและความเสี่ยงของการดำเนินโครงการให้สิทธิเอกชนดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ในขั้นตอนที่ กปภ. รับผิดชอบตามสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุน เช่น การบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพ การกำหนดรูปแบบราคาค่าน้ำประปาและศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนและความคุ้มค่าในการแก้ไขปัญหาตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน ของ กปภ. การขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการพิจารณาทบทวนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนคู่สัญญา พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการติดตามผลการแก้ไขปัญหา เพื่อใช้ในการปรับปรุงแผนฯ ให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของ กปภ.
เพื่อให้บริการน้ำประปามีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และบรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุน