“…หากท่านจะปลดผม ก็ไม่มีข้อกังวล แต่ผมก็ต้องแจ้งคณะกรรมการ กปภ. ว่า การให้บริษัทฯเช่า เพื่อต่ออายุประกอบการจะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และขัดต่อข้อแนะนำของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งก็ได้นำเรียนคณะกรรมการ กปภ. รับทราบ เพื่อให้มีข้อมูลใช้ในการตัดสินใจร่วมกัน…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา วิบูลย์ วงสกุล ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต่อ ธนาคม จงจิระ ประธานกรรมการ (บอร์ด) กปภ. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.2566 เป็นต้นไป ขณะที่ นายวิบูลย์ ให้เหตุผลถึงการยื่นหนังสือลาออกว่า ‘มีปัญหาสุขภาพ’
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่าการยื่นหนังสือลาออกของ วิบูลย์ ในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงเรื่องปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น แต่สาเหตุหลักนายวิบูลย์ มาจากการที่ วิบูลย์ ถูกกรรมการ กปภ. กดดันให้เจรจากับเอกชนคู่สัญญา ‘รายเดิม’ ในการต่อสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต อีก 10 ปี
“ที่ผ่านมานายวิบูลย์ถูกกดดันจากบอร์ด กปภ. ให้ไปเจรจาต่อสัญญาฯกับรายเดิม ซึ่งล่าสุดในการประชุมบอร์ด กปภ. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา กรรมการ กปภ. คนหนึ่ง พูดว่า กปภ.ต้องเจรจากับรายเดิมก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการตามสัญญา ถ้าไม่ดำเนินการ เอกชนอาจฟ้องร้องได้
จากนั้นกรรมการฯ คนหนึ่ง พูดขึ้นมาว่า บอร์ดฯมีมติให้ผู้ว่าฯไปดำเนินการแล้ว แต่เมื่อผู้ว่าฯไม่รับดำเนินการ ก็ต้องปลดผู้ว่าฯ แล้วแต่งตั้งคนใหม่” แหล่งข่าวจาก กปภ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (อ่านประกอบ : มีปัญหาสุขภาพ! ‘วิบูลย์’ลาออก‘ผู้ว่าฯกปภ.’-สะพัดถูกกดดันปมไม่เจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ‘หมื่นล.’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอบรรยากาศและเนื้อหาสาระใน ‘การประชุมคณะกรรมการ กปภ.’ ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในประเด็น ซึ่งทำให้นายวิบูลย์ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกฯจากตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กปภ. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เสนอ‘บอร์ด’โหวตเจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ แต่องค์ประชุมไม่ครบ
ในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 คณะกรรมการ กปภ. ได้หารือกันถึงกรณีที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ซึ่งเป็น ‘คู่สัญญารายเดิม’ ใน 'โครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต' ยื่นขอเจรจาเพื่อต่อสัญญาโครงการฯให้กับ กปภ.
โดยในช่วงต้นของการหารือนั้น รองผู้ว่าฯ กปภ.คนหนึ่ง ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้ากรณี PTW ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเจรจาต่อสัญญาโครงการประปาปทุมธานี-รังสิต ซึ่งหลังจากชี้แจงแล้ว ประธานกรรมการ กปภ. (ธนาคม จงจิระ) ให้ความเห็นว่า หาก กปภ. ให้บริษัทฯเข้ามาเจรจา ก็น่าจะจบประเด็นที่บริษัทฯข้องใจได้
ก่อนที่ รองผู้ว่าฯ กปภ.รายนี้ จะชี้แจงต่อไปว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. ครั้งที่ 8/2566 มีการเสนอในที่ประชุมฯ ว่า หากบริษัทฯ (PTW) เสนอค่าจ้างผลิตน้ำที่ 5 บาท/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะให้ กปภ. ดำเนินการอย่างไร ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ กปภ. ครั้งนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า “จะติดขัดในประเด็นด้านกฎหมาย” จึงมีมติว่า “ไม่ยินยอม”
อย่างไรก็ดี ประธานกรรมการ กปภ. (ธนาคม จงจิระ) ได้พูดว่า หากในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. ในครั้งนั้น มีการเสนอว่าให้ไปพูดคุยกับบริษัทฯ (PTW) ก็น่าจะจบแล้ว แต่ทั้งนี้ ก็เป็นดุลพินิจของ ผู้ว่าฯ กปภ. (วิบูลย์ วงสกุล) ที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้
จากนั้น ผู้ว่าฯ กปภ. (วิบูลย์ วงสกุล) จึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กปภ. ออกเสียงลงมติเป็น ‘รายบุคคล’ ว่า ในเรื่องนี้ (การเจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ) คณะกรรมการ กปภ. จะให้ดำเนินการอย่างไร เพราะหากจะหารือกันต่อไป ก็คงจะหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกัน
แต่ ประธานกรรมการ กปภ. (ธนาคม จงจิระ) เห็นว่า เนื่องจากการประชุมวันนี้ (17 ส.ค.) มี กรรมการ กปภ. 'ไม่ครบองค์ประชุม' ดังนั้น หากให้ออกเสียงลงมติเป็นรายบุคคล ก็จะได้เสียงจากกรรมการบางคนเท่านั้น
@‘ผู้ว่าฯกปภ.’ถูก‘กรรมการ’ขู่ปลด ปมไม่เจรจาต่อสัญญากับเอกชน
อย่างไรก็ดี เมื่อประธานกรรมการ กปภ. พูดจบแล้ว ได้มีกรรมการ กปภ. รายหนึ่ง พูดในที่ประชุมว่า หากนำรายงานการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมามาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าทาง คณะกรรมการ กปภ. มีมติให้ กปภ. ไปเจรจากับเอกชนแล้ว จึงอยากให้ฝ่ายบริหาร รับฟังความเห็นของคณะกรรมการฯด้วย
“ฝ่ายบริหารคิดเองว่า ไม่มีอำนาจเจรจา จึงทำให้เจรจาไม่ได้ แต่กระบวนการที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นแล้ว คือ การเจรจา ทาง กปภ. ไม่จำเป็นต้องไปสนองบริษัทฯ เนื่องจากสัญญาไม่ใช่คำมั่น แต่ต้องทำให้ครบถ้วนกระบวนการตามสัญญา หากดำเนินการไม่ครบ ทางบริษัทฯ อาจจะฟ้องร้องได้” กรรมการ กปภ. รายนี้ ระบุ
จากนั้น ประธานกรรมการ กปภ. (ธนาคม จงจิระ) กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว มีความกังวลในเรื่องนี้ว่า ทาง กปภ. ควรดำเนินการอย่างไร
ขณะที่ กรรมการ กปภ. รายนั้น ได้กล่าวเสริมว่า “จะให้ดำเนินการอย่างไรได้ คณะกรรมการ กปภ. มีมติให้ ผวก. (ผู้ว่าการฯ) ไปดำเนินการ แต่ ผวก. ไม่รับดำเนินการ ก็ต้องปลด ผวก. แล้วแต่งตั้ง ผวก. คนใหม่”
เมื่อกรรมการ กปภ. รายดังกล่าว พูดจบ ผู้ว่าฯ กปภ. (วิบูลย์ วงสกุล) พูดในที่ประชุมว่า “ไม่ใช่ว่า คณะกรรมการ กปภ. สั่ง ผวก. แล้ว ผวก. ไม่รับดำเนินการ แต่ได้มีการนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. ครั้งต่อมาแล้วว่า มีข้อเท็จจริงตามที่ได้แจ้งไปแล้ว”
ก่อนที่ กรรมการ กปภ. รายนั้น จะพูดต่อว่า “ท่านธนาคม จงจิระ (ประธานกรรมการ กปภ.) ได้สอบถามว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร ก็ชี้แจงตามข้อชักถามของท่านธนาคม จงจิระ เมื่อคณะกรรมการ กปภ. มีข้อสั่งการแล้ว ทาง ผวก. ไม่รับดำเนินการ จะให้คณะกรรมการ กปภ. ดำเนินการอย่างไร”
ทำให้ ผู้ว่าฯ กปภ. (วิบูลย์ วงสกุล) ต้องชี้แจงในที่ประชุมอีกครั้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. แต่ละครั้ง หากข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตนต้องนำมารายงานในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. แต่หากจะสั่งปลด ตนก็ไม่มีข้อกังวลใด แต่ที่ต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ คือ หากให้บริษัทฯเช่าหรือต่ออายุการประกอบการแล้วจะเสี่ยงขัดกฎหมาย
“หากท่านจะปลดผม ก็ไม่มีข้อกังวล แต่ผมก็ต้องแจ้งคณะกรรมการ กปภ. ว่า การให้บริษัทฯเช่า เพื่อต่ออายุประกอบการจะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และขัดต่อข้อแนะนำของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งก็ได้นำเรียนคณะกรรมการ กปภ. รับทราบ เพื่อให้มีข้อมูลใช้ในการตัดสินใจร่วมกัน
ไม่ได้มีเจตนาขัดคำสั่งแต่อย่างใด หากท่านคิดว่า ผมขัดคำสั่ง แล้วท่านจะปลด ประเด็นนี้เป็นเอกสิทธิ์ของท่าน แต่ผมได้เรียนข้อเท็จจริง เพื่อเป็นการให้ข้อมูล และเพื่อปกป้องคณะกรรมการด้วยซ้ำว่า ซึ่งในการประชุมครั้งถัดมา (ครั้งที่ 8/2566) ก็มีความเห็นว่าให้ กปภ. ไปรับฟังข้อเสนอของบริษัทฯ มาผมเห็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ผมมีหน้าที่มารายงานให้คณะกรรมการ กปภ. รับทราบ แล้วตัดสินใจร่วมกัน ฉะนั้น หากผมไม่รายงานข้อมูลอะไรเลย ไม่แจ้งคณะกรรมการ กปภ. ว่า มีความเสี่ยงในการดำเนินงานอะไรบ้าง การกระทำเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากกว่า” ผู้ว่าฯ กปภ. ระบุในที่ประชุม
@‘กรรมการฯ’ชงหารือ‘สคร.’ หาข้อยุติปมเจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ
เมื่อบรรยากาศการประชุมตึงเครียด กรรมการ กปภ. (พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์) พูดว่า เมื่อต่างฝ่ายมีแง่มุมทางกฎหมายที่ต่างกัน คือ ทางฝ่ายบริหาร กปภ. ได้ยืนยันความเห็นตามที่ได้เสนอมาทุกครั้ง ในขณะที่ คณะกรรมการ กปภ. มีมติให้ กปภ.ไปดำเนินการเจรจา ดังนั้น น่าจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
“เมื่อยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ เพื่อความปลอดภัยและรอบคอบต่อทั้ง 2 ฝ่าย มีความเห็นว่า คงไม่ใช้วิธียกมือ แล้วเอาเสียงข้างมากที่ต่างกันเสียงเดียวมาเป็นตัวตัดสิน และนำไปใช้ดำเนินการใดๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น น่าจะต้องหารือกับทาง สคร. อย่างเร่งด่วน ให้ สคร. ตอบหนังสือโดยเร็วว่า
ในกรณีนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะสามารถทำตามสัญญาข้อ 15 โดยเชิญเอกชนรายเก่ามาพูดคุยตกลงในกรณีเรื่องการเช่าโดยไม่ต้องใช้กระบวนการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ได้หรือไม่ จะได้มีข้อยุติ ไม่เช่นนั้นจะติดอยู่ที่ปัญหานี้ ควรหาข้อยุติตามข้อกฎหมายที่สามารถอ้างอิงได้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเดินหน้าต่อไปได้” พงศ์รัตน์ ระบุ
จากนั้น กรรมการ กปภ. รายหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ควรสอบถามไปยัง สคร. เกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญาข้อ 15 และสอบถามว่า ต้องมีการดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องมีการเจรจาหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องเขียนระบุคำถามให้ชัดเจนว่า เมื่อบริษัทฯ มีข้อเสนอมาแล้ว กปภ. จะต้องเจรจาหรือต้องพูดคุยกับบริษัทฯ หรือไม่
ทั้งนี้ หาก สคร. หรือ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะ Third Party ให้ข้อเสนอแนะว่าจะดำเนินการอย่างไร ทาง กปภ. ก็ดำเนินการตามข้อแนะนำดังกล่าว
เหล่านี้เป็นเนื้อหาสาระและบรรยากาศในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ในอีก 8 วันถัดมา ‘วิบูลย์ วงสกุล’ จะยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ‘ผู้ว่าฯ กปภ.’ และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า การ ‘ต่อสัญญา’ โครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต มูลค่านับหมื่นล้านบาท กับเอกชนรายเดิม จะลงเอยอย่างไร?
อ่านประกอบ :
มีปัญหาสุขภาพ! ‘วิบูลย์’ลาออก‘ผู้ว่าฯกปภ.’-สะพัดถูกกดดันปมไม่เจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำ‘หมื่นล.’
รายได้ 3.8 ล./ปี! เปิดทรัพย์สิน 'พล.อ.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์' อดีต กก กปภ.39 ล.
สิ้นสุดสัมปทาน 25 ปี!‘กปภ.’ชงบอร์ดอนุมัติ ส่งหนังสือแจ้ง‘บ.ประปาปทุมฯ’ไม่ต่อสัญญาซื้อน้ำ
‘อนุกรรมการกม.’ท้วง‘มติบอร์ดฯ’ ไล่บี้‘กปภ.’เจรจาต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมธานีฯ’ผลิตน้ำ10 ปี
จับตาหัก‘มติ ป.ป.ช.-มท.’! ‘บอร์ด กปภ.’นัดถกปมสัมปทาน‘ประปาปทุมฯ’-เอกชนขอ‘ปธ-กก.’ต่อสัญญา
'บ.ประปาปทุมฯ'ยื่น'กปภ.'ขอเจรจา'ต่ออายุ'สัญญา’ประปาปทุมธานี-รังสิต’ อีก 10 ปี
‘ผู้ว่าฯกปภ.’เซ็นตั้ง‘คณะทำงาน’เตรียมความพร้อม ก่อนสัญญาร่วมทุน‘ประปาปทุมฯ’สิ้นสุด ต.ค.66
เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด
ไม่บรรลุวัตถุประสงค์! สตง.ชำแหละโครงการ PPP กปภ.ผลิตจำหน่ายน้ำประปาหมื่นล้าน
ชง 2 ทางเลือกผลิตน้ำประปาเอง! ‘กปภ.’รับลูก‘พล.อ.อนุพงษ์’ไม่ต่อสัญญา‘บ.ประปาปทุมฯ’ 20 ปี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'เพื่อไทย' จี้ 'อนุพงษ์'รับผิดชอบปมบอร์ดประปาต่อสัญญาเอกชนส่อพิรุธ
เปิดหนังสือ‘อัยการสูงสุด’ ผ่าน‘ร่างสัญญา’กปภ.-8 ข้อสังเกตต่ออายุประปาปทุมฯ 3.6 หมื่นล.
ผลสอบ สตง. : โครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต เสี่ยงเสียหาย 1.5 หมื่นล.
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว