"...หาก กปภ. มีการแก้ไขสัญญาฯ ตามมติของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ โดยไม่ได้พิจารณาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย จะทำให้ กปภ. มีปริมาณน้ำสูญเสียเฉพาะส่วนที่ต้องรับซื้อจากเอกชนตลอดอายุสัญญามากถึง 1,545.38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,685.61 ล้านบาท ..."
โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต กำลังถูกจับตามอง
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อให้รับทราบผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในโครงการ ซึ่งพบปัญหาและความเสี่ยงในการดำเนินงานตามสัญญารูปแบบราคาค่าน้ำประปาที่ควรมีการทบทวนให้ถูกต้องแก้ผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ในหนังสือ สตง. ระบุว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 5 ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต เสร็จแล้ว
ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะ รายละเอียดดังนี้
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยพิจารณาผลการดำเนินงานตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในเขตปทุมธานีและรังสิต (โครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต โดยซื้อขายน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ในรูปแบบ BOOT ระยะเวลาสัญญาเริ่มเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2566 (ระยะเวลา 25 ปี) ซึ่งเป็นโครงการที่ใกล้สิ้นสุดสัญญา
กปภ. ได้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
1. การดำเนินการตามมาตรา 49 ที่กำหนดให้ กปภ. ต้องดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยทำการเปรียบเทียบการดำเนินกิจการของรัฐกรณีที่ กปภ. ดำเนินกิจการเอง และกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง
กปภ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษากับบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังสัญญาสิ้นสุดโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี -รังสิต
โดยบริษัทที่ปรึกษาฯได้เสนอรายงานผลการศึกษาแนวทางการดำเนินกิจการภายหลังสัญญาร่วมทุนสิ้นสุดโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 กรณี กปภ. ดำเนินการเอง แนวทางที่ 2 กรณี กปภ. จัดจ้างเอกชนรายเดิมดำเนินการผลิตน้ำประปา และแนวทางที่ 3 กรณี กปภ. จัดจ้างเอกชนรายใหม่ดำเนินการผลิตน้ำประปา
ซึ่ง กปภ. พิจารณาเลือกดำเนินการตามแนวทางที่ 1 คือ กรณี กปก. ดำเนินการเอง เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด เสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐฯ ตามที่ กปภ. เสนอ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0211.5/14993 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562 และ กปภ. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมก่อนสิ้นสุดสัญญาให้สิทธิฯ ซึ่งคณะทำงานมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกองโรงงานผลิตน้ำเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการจ้างเอกชนดำเนินการระบบผลิตน้ำประปา
อีกทั้งมีการแต่งตั้งทีมงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานก่อนสิ้นสุดสัญญาให้สิทธิ์ฯ ด้านการกำหนดผังโครงสร้างบุคลากร ด้านการวิเคราะห์ภาระงานด้านระบบผลิตและด้านสำรวจและประเมินทรัพย์สิน เพื่อดำเนินการตามกรอบระยะเวลาดำเนินการก่อนสิ้นสุดสัญญา
2. การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 46 47 และ 48 เนื่องจากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ได้มีหนังสือที่ PTW/115/64 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เรื่องการลดราคาค่าน้ำประปาและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาในจังหวัดปทุมธานี ถึง กปภ. โดยบริษัทฯ เสนอลดราคาค่าน้ำจาก 12.73 บาท/ลบ.ม. เหลือ 10.30 บาท/ลบ.ม. และบริษัทจะลงทุนเพิ่ม 3,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 100,000 ลบ.ม./วัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะโอนทรัพย์สินให้ กปภ. และบริษัทฯ แสดงความต้องการจะเช่าระบบผลิตน้ำประปาจาก กปภ. ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ข้อ 15 การเช่าเพื่อต่ออายุการประกอบการ
คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี - รังสิต ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัทประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี (สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2586) โดยเป็นการแก้ไขสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี - รังสิต ระหว่าง กปภ. กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาฯ ของสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และเสนอครม. พิจารณาอนุมัติ ตามลำดับต่อไป
ก่อนที่ กปภ. จะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 46 47 และ 48
จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในเขตปทุมธานีและรังสิต พบว่า การดำเนินการพิจารณแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในเขตปทุมธานีและรังสิต อาจยังมีการพิจารณาที่ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงในกิจกรรมที่ กปภ. ต้องเผชิญจากการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาร่วมกับเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานโครงการฯ ของ กปภ. ดังนี้
1) ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการน้ำสูญเสียที่เป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปก. ในเขตปทุมธานีและรังสิตมีปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำ 358,000 ลบ.ม/วัน (คิดเป็น 130.67 ล้าน ลบ.ม/ปี) ตามเงื่อนไขในสัญญาเดิมกำหนดให้กปภ. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำสูญเสียทั้งระบบ โดยมี กปภ. สาขาที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้นสาขา ได้แก่ กปภ. สาขา ปทุมธานี รังสิต คลองหลวง และธัญบุรี
โดยในปี พ.ศ. 2559 - 2562 ปริมาณน้ำสูญเสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2563 มีปริมาณน้ำประปาผลิตจ่ายรวมจำนวน 206.34 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำประปาจำหน่ายจริง 120.43 ล้าน ลบ.ม. น้ำประปาจ่ายฟรีจำนวน 3.02 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำสูญเสียจำนวน 82.89 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40.17 ของปริมาณน้ำประปาผลิตจ่ายรวม ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 - 2563 มีปริมาณน้ำสูญเสียรวมมากถึง 371.14 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,013.83 ล้านบาท
จากข้อมูลแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียปี 2562 - 2571 ของ กปภ. ได้แบ่งกลุ่ม กปภ.สาขาตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสูญเสียตามแนวทางของ IWA โดย กปภ. สาขาที่มีค่าดัชนีน้ำสูญเสีย (ILI) มากกว่า 8 จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพ
จากการตรวจสอบ พบว่า กปภ. สาขา ทั้ง 4 สาขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการบริหารจัดการน้ำสูญเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ (กลุ่ม D : ILI มากกว่า 8) ซึ่ง กปภ. จะต้องดำเนินการลดน้ำสูญเสียให้ได้จำนวน 73.04 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดความคุ้มค่า
การบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินโครงการในด้านปริมาณน้ำที่ผลิตและการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำในสัญญา รวมทั้งด้านต้นทุนค่าน้ำประปาของ กปภ. กล่าวคือหาก กปภ. สามารถลดน้ำสูญเสียในปี พ.ศ. 2563 ลงให้มีค่า ILI เท่ากับ 8 จากปริมาณน้ำสูญเสียจำนวน 82.89 ล้าน ลบ.ม. ให้ลดลงเหลือ 9.85 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้ กปภ. มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิตมากขึ้นถึง 73.04 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นกำลังการผลิตต่อวันจำนวน 200,110 ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 60.65 ของปริมาณน้ำจ่ายจริงในปี พ.ศ. 2563
หรือหาก กปภ. สามารถลดน้ำสูญเสียในปี พ.ศ. 2563 ลงให้มีปริมาณน้ำสูญเสียไม่เกินร้อยละ 29.09 จะทำให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิตมากขึ้นกว่า 100,000 ลบ.ม/วัน ซึ่งมีปริมาณน้ำประปาสูงกว่ากรณีที่บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะรับผิดชอบลงทุนและก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาอีก 100,000 ลบ.ม/วัน
ทั้งนี้ หาก กปภ. มีการแก้ไขสัญญาฯ ตามมติของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ โดยไม่ได้พิจารณาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย จะทำให้ กปภ. มีปริมาณน้ำสูญเสียเฉพาะส่วนที่ต้องรับซื้อจากเอกชนตลอดอายุสัญญามากถึง 1,545.38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,685.61 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 46 47 และ 48 พบว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเตรียมความพร้อมโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี - รังสิต ไม่ได้มีการนำข้อมูลความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย (ตามแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียปี 2562-2571) มาประกอบในการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ กปภ. จะต้องซื้อจากเอกชน
รวมทั้งกปภ. ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียทั้งด้านจำนวนบุคลากร ด้านงบประมาณในการซ่อมแซมบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกทั้งข้อจำกัดของกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาน้ำสูญเสียได้อย่างทันกาล
ขณะที่ กปภ. ไม่สามารถจัดจ้างบริษัทเอกชนมาบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญาที่ไม่จูงใจให้บริษัทเอกชนสนใจรับจ้างดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถลดปริมาณน้ำสูญเสียได้ตามแผนที่กำหนด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ไม่ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางในการจัดสรรความเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำสูญเสียระหว่าง กปภ. และบริษัทเอกชน ที่จะมีการแก้ไขตามมติของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ แต่อย่างใด
2.ความเสี่ยงด้านการกำหนดรูปแบบราคาซื้อน้ำประปาตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งการกำหนดรูปแบบราคาดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงของราคาค่าน้ำประปาทุกปี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนการดำเนินโครงการฯ ของ กปภ. โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ที่ต้นทุนการผลิตน้ำประปาเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของวัสดุการผลิต ค่าไฟฟ้า และเงินเดือนของพนักงาน ซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตน้ำประปา
อีกทั้งการกำหนดรูปแบบราคาซื้อน้ำประปาที่ปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค อาจไม่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจของ กปภ. ที่เป็นการให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐแก่ประชาชน ซึ่งไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำ ตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้ กปภ. มีกำไรสุทธิลดลงและในบางสาขามีการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จึงเห็นควรให้ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ทบทวนการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคในเขตปทุมธานีและรังสิต โดยนำข้อมูลความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย (ตามแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย) และการแบ่งความรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย เพื่อให้สามารถประมาณการปริมาณการผลิตน้ำประปาและกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง และเป็นการจัดสรรความเสี่ยงในการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าน้ำสูญเสียของการประปาส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ การประปาส่วนภูมิภาคควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการลดน้ำสูญเสีย อาทิ การทบทวนเงื่อนไขสัญญาลดน้ำสูญเสียเพื่อจูงใจบริษัทเอกชนให้เข้าร่วมดำเนินการและเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การแบ่งพื้นที่บริหารจัดการลดน้ำสูญเสียเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ เป็นต้น
2. ทบทวนการกำหนดรูปแบบราคาค่าน้ำประปาในการแก้ไขสัญญาฯ โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ที่แท้จริงและเกิดความสอดคล้องกับราคาจำหน่ายน้ำประปา เพื่อความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุดจากการดำเนินโครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคในระยะยาวอาศัยอำนาจตาม มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินพ.ศ. 2561
จึงแจ้งผลการตรวจสอบมาเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะ แล้วแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทราบภายใน 60 วัน ทั้งนี้ ได้ส่งสำเนารายงานการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทราบด้วยแล้ว
ผลจากนี้เป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว