"...ปัจจุบันคณะกรรมการสอบสวนฯ อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. จำนวน 772 แปลง ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ อนุทิน และ รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ต้องทำหน้าที่ในการกำกับดูแลให้การเพิกถอน ‘โฉนดที่ดิน’ ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดงเป็นไปตามกฎหมาย..."
...............................
“…ผมเป็นคนทำงานวันนี้ สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน…
…ไม่ต้องห่วง ถ้าเรื่องใดมีความถูกต้อง ทุกอย่างต้องได้รับการแก้ไข ผมมั่นใจว่าในยุคนี้ การกลั่นแกล้ง การทำให้เกิดการไม่ได้รับความเป็นธรรม การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข นี่ก็คือ ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล เป็นบุคคลทั่วไป จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม การปฏิบัติอย่างไหนที่ไม่เป็นธรรม ก็ เจอกัน...”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่ได้กล่าวภายหลังการนำ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ‘ทรงศักดิ์ ทองศรี-ชาดา ไทยเศรษฐ์-เกรียง กัลป์ตินันท์’ เข้าพบปะกับปลัดกระทรวงมหาดไทยและข้าราชการระดับสูง ในการเข้าทำงานที่กระทรวงฯเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การเข้ากุมบังเหียนสั่งการงานในกระทรวงมหาดไทยของ อนุทิน และรัฐมนตรีช่วยฯ ‘ทรงศักดิ์-ชาดา’ จาก ‘พรรคภูมิใจไทย’ นั้น นอกจากจะมีโจทย์ด้านนโยบายที่ท้าทายในหลายเรื่องแล้ว ยังมีงานอีกเรื่องที่ค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่ง อนุทิน ต้องตัดสินใจและกำกับดูแลการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาธารณชนไปสำรวจงานหรือนโยบายที่ อนุทิน จะต้องตัดสินใจหรือกำกับดูแลให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามกฎหมาย ในห้วงสมัยของการนั่งเก้าอี้ ‘มท.1’ มี 3 เรื่องหลัก ดังต่อไปนี้
@กำกับดูแล‘กรมที่ดิน’เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’
เรื่องแรก กรณีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่เศษ
ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ก.พ.2564 กรณีการละเลยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน ,น.ส.3 ก ) ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (ในขณะนี้)
ครั้งนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม) ได้อภิปรายกล่าวหาว่า ศักดิ์สยาม ในฐานะ รมว.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแล รฟท. ว่า ไม่ปฏิบัติหรือไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกทั้งมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์พวกพ้องและญาติ กรณีบุกรุกที่ดินรถไฟฯเขากระโดง
ต่อมาในเดือน มี.ค.2564 พ.ต.อ.ทวี และพวก เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ ศักดิ์สยาม ในฐานะ รมว.คมนาคม เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่า
“มีเครือญาติของนายศักดิ์สยาม เข้าครอบครองที่ดินกว่า 5,000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟฯ และเป็นพื้นที่สงวนต้องห้ามของรัฐ แต่รัฐมนตรี (ศักดิ์สยาม) ในฐานะกำกับดูแล ร.ฟ.ท. กลับไม่เพิกถอนโฉนดตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ
มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” (อ่านประกอบ : เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’)
จากนั้นในเดือน ก.พ.2565 กรณีที่ดินเขากระโดง ได้ถูก พ.ต.อ.ทวี หยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม อีกครั้ง โดยครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้คำถามกับ รฟท. กรณีไม่ยื่นฟ้องศาลยุติธรรม เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง แต่กลับเลือกที่จะฟ้องศาลปกครอง เพราะไม่กล้าฟ้องเจ้านาย
“ที่ดินดังกล่าว (เขากระโดง) ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ก็รับว่าเป็นที่ที่ตัวเองอยู่ เป็นที่ที่ญาติพี่น้องอยู่ และเป็นที่สนามฟุตบอลช้างอารีนา ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งผู้ว่าฯรถไฟไม่กล้าฟ้องเจ้านาย” พ.ต.อ.ทวี กล่าวในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565
ขณะที่ในอีก 5 เดือนต่อมา หรือเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2565 พ.ต.อ.ทวี ได้ยกกรณีที่ดินเขากระโดงขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม เป็นครั้งที่ 3
โดยครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้เปิดเผย ‘ข้อมูลใหม่’ เกี่ยวกับการถือครองโฉนดที่ดินของเครือญาติของศักดิ์สยาม และบริษัทที่มีเครือญาติของศักดิ์สยามถือหุ้นหรือเป็นกรรมการบริษัทฯ ในพื้นที่เขากระโดง รวม 12 แปลง เนื้อที่รวม 179 ไร่เศษ (อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’)
กระทั่งต่อมา พ.ต.อ.ทวี และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ ศักดิ์สยาม กรณีที่ดินเขากระโดง เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวีและพวก ได้กล่าวหา ศักดิ์สยาม ว่า มีพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯ ที่ต้องเสียโอกาสในการได้ที่ดินกลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ หรือหาประโยชน์ให้การรถไฟฯ หรือเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว รวมถึงเครือญาติได้ใช้ประโยชน์บนที่ดินดังกล่าวต่อไป
โดยไม่ต้องถูกการรถไฟฯฟ้องร้องเรียกคืนที่ดินดังกล่าว อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามมาตรา 172 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561” (อ่านประกอบ : เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’)
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คำร้องขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ ศักดิ์สยาม ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของ ป.ป.ช. นั้น
ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยมีคำสั่งให้อธิบดีกรมที่ดิน ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยให้อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสองฯ เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของ รฟท. (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ถอนโฉนด‘เขากระโดง’)
อย่างไรก็ดี รฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์คดีฯไปยังศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก รฟท. ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า กรมที่ดินไม่ได้ละเมิด รฟท. จึงไม่ต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์ฯ 707 ล้านบาท และค่าเสียหายเดือนละ 59.9 ล้านบาท
ขณะที่ในฝั่งของกรมที่ดินนั้น กรมที่ดินตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 ชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ได้แจ้งต่อศาลปกครองกลาง โดยมีเนื้อหาว่า รองอธิบดี ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566
เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. อันเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว (อ่านประกอบ : ลุยเพิกถอนโฉนด 5 พันไร่!‘กรมที่ดิน’ไม่อุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’-แจ้งศาลฯตั้ง‘คกก.สอบสวน’แล้ว)
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการสอบสวนฯ อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. จำนวน 772 แปลง ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ อนุทิน และ รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ต้องทำหน้าที่ในการกำกับดูแลให้การเพิกถอน ‘โฉนดที่ดิน’ ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดงเป็นไปตามกฎหมาย
@เริ่มกระบวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว-แก้หนี้ 7.7 หมื่นล.
เรื่องที่สอง รถไฟฟ้าสายสีเขียว
แม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่เนื่องจาก กทม. เป็นหน่วยงานราชการภายใต้ ‘การกำกับดูแล’ ของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อนุทิน ด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มีปัญหาที่ กทม. และกระทรวงมหาดไทย จะต้องเข้ากันแก้ไขปัญหาและจัดการอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่
1.การจัดหาแหล่งเงิน สำหรับจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงินรวม 55,034 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในช่วงปี 2562-2565 อีก 1,508 ล้านบาท
2.การจัดหาเงินเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ กทม. เป็นหนี้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) จำนวน 22,287 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ กทม. จ่ายหนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
3.การเปิดประมูลโครงการร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน หรือ ‘ส่วนไข่แดง’ ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ทำหนังสือกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1605/448 แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย และ ครม. ว่า
กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนไข่แดง) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือ ‘เปิดประมูล’ รถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมทุนมีความรอบคอบ มีข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ และ ครม. ได้รับทราบข้อเสนอของ กทม.แล้ว (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบปัญหาสายสีเขียว เปิดทาง พ.ร.บ.ร่วมทุน แทน คำสั่งม.44)
ขณะเดียวกัน การที่มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ได้บัญญัติว่า
“ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจาก โครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณี ที่หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุน เสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน
ในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดกําหนดให้ มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการ ร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่”
เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ส่วนไข่แดง’ จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572
ดังนั้น ในช่วง 5 ปีก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงหรือในช่วงปี 2568-72 หาก อนุทิน ยังคงดำรงตำแหน่ง รมว.หมาดไทย ก็จะต้องเข้ามากำกับดูแลการเริ่มต้น ‘กระบวนการ’ เปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ส่วนไข่แดง’ นี้
@จับตา‘มท.1’ตัดสินใจนโยบายต่อสัญญาซื้อน้ำ‘กปภ.’หมื่นล.
เรื่องที่สาม การพิจารณาต่ออายุสัญญา ‘โครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต’
ในวันที่ 14 ต.ค.2566 นี้ สัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัทคู่สัญญารายเดิม คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) อายุสัญญา 25 ปี จะสิ้นสุดลง
แต่ปรากฏว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีความพยายามจาก ‘คณะกรรมการ กปภ.’ จำนวนหนึ่ง เร่งรัดให้ กปภ. ดำเนินการ 'เจรจา' เพื่อต่อสัญญาโครงการฯกับเอกชนรายเดิมอีกเป็นเวลา 10 ปี ตามที่เอกชนอ้างว่าสัญญาฉบับเดิมได้เปิดช่องไว้
แม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต รมว.มหาดไทย ได้มีมติเมื่อปี 2562 เห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 14 ต.ค.2566 อีกทั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 คณะกรรมการ กปภ. ได้มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯ แล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามหนังสือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0008/0093 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต
โดยมีเนื้อหา 3 ประเด็น คือ
1.การผลิตน้ำประปาเป็นการให้บริการสาธารณะของรัฐแก่ประชาชน ที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการแสวงผลกำไร ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินกิจการของเอกชน ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการในการผลิตน้ำประปาได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กปภ. ควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ซึ่งเป็นแนวทางตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.กปภ. ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40.17 (ข้อมูลปี พ.ศ.2563) ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีต่อ กปภ. ตามรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 โดยเร่งด่วน เพื่อให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของโครงการได้
3.การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20 ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา
ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (อ่านประกอบ : เปิดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.! 'ปิดประตู'ต่อสัญญา'บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี เสี่ยงเอื้อรายเดียว-ผูกขาด)
ทั้งนี้ ความพยายามของ กรรมการ กปภ. ‘บางส่วน’ ที่ต้องการให้ กปภ. เจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำประปาในโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯ กับเอกชนรายเดิมนั้น ได้ร้างแรงกดดันให้กับ วิบูลย์ วงสกุล จนกระทั่ง วิบูลย์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กปภ. ไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
ที่สำคัญมีกระแสข่าวที่ได้รับการยืนยันว่าคนใน กปภ. ว่า กรรมการ กปภ. ที่กดดันให้ วิบูลย์ ต้องยื่นใบลาออกนั้น เป็นญาติของนักการเมืองใหญ่รายหนึ่ง (อ่านประกอบ : ขู่ปลดพ้น'ผู้ว่าฯกปภ.'! บอร์ดฯโต้เดือดปมต่อสัญญาซื้อน้ำ'หมื่นล.'ก่อน'วิบูลย์'ทิ้งเก้าอี้)
ดังนั้น เมื่อ อนุทิน เข้ามานั่งในเก้าอี้ ‘รมว.มหาดไทย’ สิ่งที่ อนุทิน ต้องตัดสินใจ คือ กระทรวงมหาดไทยจะมีนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการประปาปทุมธานี-รังสิตฯ มูลค่านับหมื่นล้านบาท อย่างไร หลังจากสัญญาสัมปทานในโครงการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 14 ต.ค.2566 นี้
เหล่านี้เป็น 3 โจทย์ท้าทาย และเป็น 'การบ้าน' ของ อนุทิน ในฐานะ ‘รมว.มหาดไทย’ ที่ต้องจัดการในช่วงที่นั่งเก้าอี้ 'มท.1' ซึ่งบางเรื่องมีส่วนเกี่ยวพันกับ ‘คนในพรรคภูมิใจไทย’ และบางเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับ ‘ผลประโยชน์ของประเทศชาติ’ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท!