“แต่เนื่องจากโครงการนี้ มีการแก้ไขระยะเวลาของสัญญา รวมทั้งมีการแก้ไขค่าตอบแทน ซึ่งทำให้ ‘เงื่อนไขสำคัญ’ ของสัญญาร่วมลงทุน ‘แตกต่าง’ จากเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไว้ ดังนั้น การดำเนินการตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งในที่นี้ คือ มหาดไทย จะต้องเสนอการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าว ให้คณะกรรมการ PPP พิจารณา…”
...............................
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต ที่มี นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี หรือเป็นสิ้นสุดในปี 2586
โดยมีมติให้ ‘แก้ไขสัญญา’ โครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต ระหว่าง กปภ. กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ตามขั้นตอน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 48 (อ่านประกอบ : เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซัก กปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.)
ในขณะที่การต่อสัญญาฉบับดังกล่าวมีมูลค่าอย่างน้อย 3.6 หมื่นล้านบาท ในช่วง 20 ปี (กปภ.ประมาณการความต้องการใช้น้ำตลอดสัญญา 20 ปี รวมแล้วประมาณ 3,600 ล้านลบ.ม. และอัตราค่าน้ำประปาที่ กปภ.ซื้อจากเอกชน 2 ปีแรกอยู่ที่ 10.30 บาท/ลบ.ม. จากนั้นปรับเพิ่มอัตราค่าน้ำตามอัตราเงินเฟ้อ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ก่อนที่คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต จะมีมติเห็นชอบให้ กปภ. ต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่งเอกชนคู่สัญญารายเดิม และส่งร่างสัญญาไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา นั้น
ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ‘อัยการ’ ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในคณะอนุกรรมการกฎหมายของ กปภ. ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้ให้ความในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการ ‘ต่อสัญญา’ ซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ที่น่าสนใจ ดังนี้
พฤฒิพร เนติโพธิ์ (อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด) อนุกรรมการฯ
พฤฒิพร ให้ความเห็นสรุปได้ว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 48 (กปภ.แก้ไขสัญญาเพื่อขยายอายุสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชนรายเดิมออกไปอีก 20 ปี) นั้น หากพ้นกำหนดอายุสัญญาแล้วจะไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้น ในการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ควรเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน เพราะหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 48 ได้ ก็สามารถที่จะดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 (กปภ.ดำเนินการผลิตน้ำประปาเองหลังสิ้นสุดสัญญา) ได้
ส่วนกระบวนการเลือกว่าจะใช้วิธีการใดนั้น หากเทียบเคียง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนฯ มีอำนาจในการแก้ไขสัญญาได้
เพราะแม้ว่า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 จะไม่มีประกาศเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมทุนในส่วนที่เป็น ‘สาระสำคัญ’ แตกต่างจาก พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่มีการออกประกาศเกี่ยวกับการให้แก้ไขสัญญาร่วมทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งประกาศในปี 2558
แต่เนื่องจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน ฉะนั้น การนำมาตรา 48 ประกอบมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มาใช้ในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯเพื่อขยายระยะเวลาจึงสามารถ ‘กระทำได้’
(ที่มา : พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562)
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนฯ ไม่มั่นใจว่าจะอยู่ในกระบวนการแบบใด ก็สามารถสอบถามไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้
“เคยมีประสบการณ์ตรวจร่างสัญญาทางด่วน แต่เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ปี 2556 ก็ใช้วิธีการขยายระยะเวลา โดยการแก้ไขสัญญาเพื่อแลกกับการระบข้อพิพาท ซึ่งก็เป็นภายหลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจร่างสัญญาแล้ว และมีการแจ้งเป็นข้อสังเกตว่า กระบวนการดำเนินโครงการเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่
ซึ่งได้สอบถามไปยัง สคร. และ สคร. ก็แจ้งตอบมา และเรื่องนี้มีการเข้าคณะกรรมการนโยบาย (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ ตอบมาว่า การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ เป็นการดำเนินการที่จะเกิดขึ้นแล้วแต่กรณี
โดยการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการ แต่หน่วยงานฯ จะดำเนินการแก้ไขสัญญาได้ต่อเมื่อเหตุผลความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไข และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯพิจารณา
ในขณะที่ ‘การทำสัญญาใหม่’ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในการจัดทำแนวทางการดำเนินการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ดังนั้น ถ้าหากว่าจะดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อยุติข้อพิพาทอาจเลือกดำเนินการได้ โดยชะลอการดำเนินการตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. ปี 2556
คือ การทำโครงการนั้นขึ้นมาใหม่ เป็นแนววินิจฉัยเฉพาะเรื่อง แต่โดยหลักการสามารถเลือกได้ แต่กรณีจะเลือกก็แล้วแต่โครงการว่าความเหมาะสมว่าจะเลือกใช้วิธีการแก้ขสัญญาหรือการทำสัญญาใหม่ กรณีใดจะมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากกว่ากัน”
สมใจ เกษรศิริเจริญ (รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด) อนุกรรมการฯ
สมใจ ให้ความเห็นสรุปได้ว่า เนื่องจาก กปภ.ได้เลือกการดำเนินการตามมาตรา 49 ไปแล้ว (ให้ กปภ.ดำเนินการผลิตน้ำประปาเองหลังสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.2566) แต่จะดำเนินการตามมาตรา 46-48 (กปภ.แก้ไขสัญญา โดยขยายอายุสัญญาให้เอกชนรายเดิม 20 ปี)
เนื่องจากข้อเท็จจริงใหม่ โดยเอกชนคู่สัญญาได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนมาเพิ่ม หลังจากก่อนหน้านี้ กปภ.ได้ดำเนินการตามมาตรา 49 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดโทยได้เห็นชอบแนวทางให้ดำเนินการไปแล้ว (อ่านประกอบ : เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา)
ดังนั้น จึงเห็นควรให้หารือคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ เพื่อความชัดเจนในข้อกฎหมาย เพราะหาก กปภ.จะดำเนินการตามมาตรา 46-48 จะต้องไปขอความเห็นชอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใหม่ ขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กปภ. ก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขสัญญา และมีการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว
“การที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ชัดเจน จะทำให้การดำเนินการต่อไปไม่ว่าจะดำเนินการตามมาตรา 46-48 หรือมาตรา 49 มีความชัดเจน และจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนที่พิจารณาผ่านไปได้ ถ้า สคร. หรือคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ เห็นว่าสามารถแก้ไขสัญญาได้
คณะกรรมการกำกับดูแลฯ ก็จะสามารถดำเนินการได้ รวมทั้ง ครม. ก็จะพิจารณาโดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสนับสนุนว่าสามารถทำได้ ซึ่งอาจเร็วกว่าที่เราจะไปทำความชัดเจนในภายหลัง ซึ่งทำให้ระยะเวลาล่าช้าออกไป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 46-48 หรือมาตรา 49 ก็ตาม”
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ กปภ.จะดำเนินการตามมาตรา 49 และก่อนหน้านี้ กปภ. ได้เลือกไปแล้วว่าจะดำเนินการเอง แต่หากมีข้อเท็จจริงใหม่ ก็อาจเสนอว่า หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้ว กปภ จะไม่เลือกทำเองก็ได้
รวมทั้งจะให้มีการประมูล หรือไม่ประมูลก็ได้ หาก กปภ.แสดงข้อเท็จจริงหรือการศึกษาที่ชัดเจนว่า การที่ กปภ. จะไม่ทำเอง แต่ให้เอกชนร่วมลงทุนโดยวิธีที่ไม่ประมูล หรือให้เอกชนรายเดิมทำต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า ก็สามารถทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าการดำเนินการด้วยวิธีตามมาตรา 49 แล้ว กปก.จะไม่สามารถคัดเลือกรายเดิมได้
“เพียงแต่ว่าถ้าเรามีข้อเท็จจริง หรือผลการศึกษาสนับสนุนว่า การต่อสัญญากับเอกชนรายเดิมจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือมีผลประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า ก็สามารถเสนอหลักการในการต่อสัญญาจากเอกชนรายเดิมต่อไปได้ แต่วิธีการจะต่างกัน คือ ไม่ได้ใช้คณะกรรมการกำกับดูแลฯ ตามมาตรา 43
แต่จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เข้ามากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน และเจรจากับเอกชนรายเดิมก็ได้ แต่จะมีขั้นตอนต่างกันไป โดยมาตรา 36 นั้น เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุนแล้ว
ให้ กปภ.แต่งตั้งคณะคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทน กปภ. ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทน สคร. และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณในองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ต่างกับคณะกรรมการกำกับดูแลออกไป หมายความว่าขั้นตอนทางกฎหมายต่างกัน
แต่ผลสุดท้าย ถ้ามีข้อเท็จจริงสนับสนุนว่า การร่วมลงทุนกับเอกชนรายเดิมเป็นประโยชน์กับ กปภ.และประชาชนมากที่สุด ถ้า กปภ.มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ การดำเนินการตามกฎหมายก็ไม่ได้ขัดขวางทางเลือกของ กปภ.ที่จะให้เอกชนรายเดิมมาดำเนินการก็ได้”
นอกจากนี้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง แต่เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการตามมาตรา 46-48 ได้หรือไม่ เนื่องจากมีมาตรา 49 อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบไปแล้ว และยังไม่ได้มีการแก้ไขความเห็นชอบรัฐมนตรี
“จึงมีความเห็นว่า มีความเห็นว่านำกลับไปให้คณะกรรมการ อีกครั้งก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการกำกับฯ”
วราภรณ์ ตงยิ่งศิริ (รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด) อนุกรรมการฯ
วราภรณ์ ให้ความเห็นสรุปได้ว่า เมื่อคณะกรรมการ กปภ. เลือกแนวทางที่จะแก้ไขสัญญา กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 46-48 ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562
แต่เนื่องจากโครงการนี้ มีการแก้ไขระยะเวลาของสัญญา รวมทั้งมีการแก้ไขค่าตอบแทน ซึ่งทำให้ ‘เงื่อนไขสำคัญ’ ของสัญญาร่วมลงทุน ‘แตกต่าง’ จากเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไว้
ดังนั้น การดำเนินการตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งในที่นี้ คือ มหาดไทย จะต้องเสนอการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าว ให้คณะกรรมการ PPP (คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้เดิม
“ในขั้นตอนนี้ คณะกรรมการ PPP จะต้องพิจารณาโครงการนี้อยู่แล้วว่า ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 หรือไม่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปถาม สคร. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาของคณะกรรมการ PPP ในขณะนี้ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ในประเด็นนี้อยู่แล้ว…
จึงเห็นสมควรให้คณะกรรมการ กปภ. เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเลือกไปถามคณะกรรมการ PPP ก่อน หรือจะดำเนินการด้วยวิธีใด
มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกฎหมาย กปภ.
ทั้งนี้ หลังจากการให้ความเห็นของ ‘อัยการ’ ทั้ง 3 รายจบลง คณะอนุกรรมการกฎหมาย กปภ. มีมติว่าโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต กปภ. สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562ได้ ๒ แนวทาง คือ
แนวทางที่หนึ่ง การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 46 ,47 และ 48 หรือ
แนวทางที่สอง การดำเนินการตามมาตรา 49 โดยพิจารณาคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและของ กปภ. เป็นสำคัญ แต่เมื่อคณะกรรมการ กปภ.ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโดยการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ก็สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
เหล่านี้เป็นความเห็นของ ‘อัยการ’ 3 รายที่ให้ความเห็น กรณีที่ กปภ. เตรียมต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี ก่อนที่ในเวลาต่อมา คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนฯ มีมติให้ กปภ. ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด และส่งร่างสัญญาไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
ทั้งนี้ หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯเสร็จแล้ว กปภ. จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาต่อไป
จึงต้องติดตามว่ากรณีการ ‘ต่อสัญญา’ ซื้อขายน้ำประปาของ กปภ. มูลค่า 3.6 หมื่นล้าน จะได้ข้อสรุปอย่างไร ?
อ่านประกอบ :
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว